torsdag 8 december 2016

สื่อทั่วโลกรายงานข่าวรัฐบาลไทยเตรียมดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับบีบีซี หลังตีพิมพ์รายงานพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สื่อทั่วโลกรายงานข่าวรัฐบาลไทยเตรียมดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับบีบีซี หลังตีพิมพ์รายงานพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
บีบีซีไทย - BBC Thai

 
จากตอนใต้สุดของเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ไปจนถึงสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ ยุโรป และอเมริกา สื่อสิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ทั่วโลกให้ความสนใจข่าวที่รัฐบาลทหารเตรียมดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับบีบีซีภายหลังตีพิมพ์รายงานพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา
สำนักข่าวหลักระดับโลก ได้แก่ รอยเตอร์ ของอังกฤษ เอพี ของอเมริกา และเอเอฟพี ของฝรั่งเศส ต่างรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันพุธที่ 7 ธ.ค. ถึงความพยายามของทางการไทยในการดำเนินคดีกับเว็บไซต์ของบีบีซีไทย ในข้อหาเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ผิดมาตรา 112 ของ ประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เอเอฟพี รายงานว่า เนื้อหาพระราชประวัติที่บีบีซีไทยรายงานไปนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันแพร่หลายในราชอาณาจักรไทย แต่แทบไม่มีการตีพิมพ์ในสื่อไทย
สำนักข่าวแห่งฝรั่งเศสรายนี้ยังรายงานด้วยว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฉบับนี้ มีโทษจำคุกที่รุนแรง และถูกใช้เพื่อคุมขังนักวิจารณ์มาแล้วหลายสิบคน ทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเซ็นเซอร์ตัวเองในหลากแวดวง ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ และศิลปิน
เอเอฟพี อ้างคำสัมภาษณ์ ของ พลเอกประยุทธ์ ว่า บีบีซีไทย มีสาขาสำนักงานอยู่ในประเทศไทย และนักข่าวก็ยังเป็นคนไทย หากทำผิดกฏหมายไทย ก็ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย
เนื้อข่าวจากหน้าเว็บไซด์เอพี
เอพี รายงานว่า เนื้อหาพระราชประวัติที่บีบีซีไทยนำเสนอไปได้สร้างกระแสวิจารณ์เนื่องจากตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตสมรสสามครั้งของพระองค์ที่จบลงด้วยการหย่าร้าง ซึ่งสื่อไทยเลี่ยงการนำเสนอมาตลอด เนื่องจากเกรงความเสี่ยงทางกฎหมาย
สำนักข่าวอเมริกันแห่งนี้ รายงานอีกว่า บีบีซีอาจเป็นสำนักข่าวระดับโลกแห่งแรกที่จะถูกดำเนินคดีภายใต้คดีพระบรมเดชานุภาพ แม้นก่อนหน้านี้ สื่อสิ่งพิมพ์ระดับนานาชาติ เช่น ดิ อีโคโนมิสต์ หรือ อินเตอร์เนชันแนลนิวยอร์กไทมส์ ที่รายงานเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ต้องเผชิญกับการที่หน้าข่าวบนเว็บไซต์ถูกปิดกั้น หรือ บางฉบับถูกระงับการจำหน่ายในประเทศไทย
สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประวิตร ในการพิจารณาดำเนินคดีกับบีบีซีไทย และให้ปูมหลังว่า นับตั้งแต่ที่เข้าบริหารประเทศ คณะรัฐประหารชุดนี้มุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการดำเนินคดีกับบรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติระบุว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความกำกวม เปิดช่องให้ตีความได้มาก และมีโทษที่รุนแรงเกินไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 

รายงานข่าวของทั้งสามสำนักข่าวนี้ ถูกนำเสนอในสื่อสิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ข่าวทั่วโลก เช่น โอทาโก เดลี ไทมส์ ของ นิวซีแลนด์ เอบีซีนิวส์ ของ ออสเตรเลีย สเตรตไทมส์ของสิงคโปร์ อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่น www.rappler.com ของฟิลิปปินส์ สถานีโทรทัศน์อัลจาซีร่า www.swissinfo.ch ของสวิตเซอร์แลนด์ นิวยอร์กไทมส์ และ วอชิงตันโพสต์ 
ด้านเว็บไซต์ เดอะการ์เดียน ในอังกฤษ ใช้รายงานข่าวนี้จากผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพ โอลิเวอร์ โฮมส์ พาดหัวข่าวว่า "ตำรวจเยือนสำนักงานของบีบีซีในกรุงเทพ ดื่มนมเปรี้ยวยาคูลท์ของทีมงาน หลังจากพระราชประวัติของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ ถูกบล็อก"

เว็บไซต์ เดอะการ์เดียน 

ด้านโฆษกของบีบีซีชี้แจงข่าวนี้ว่า "การก่อตั้งบีบีซีไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข่าวสารอย่างไม่เลือกข้าง มีความเป็นอิสระ และถูกต้อง ในประเทศที่สื่อมวลชนต้องเผชิญกับข้อจำกัด และเรามั่นใจว่าบทความชิ้นนี้ไม่มีสิ่งใดที่ขัดต่อหลักปฏิบัติในการเสนอข่าวบีบีซี" 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar