Somsak Jeamteerasakul added 3 new photos.
ประกาศสำคัญทรัพย์สินกษัตริย์:
- ทรัพย์สินและหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในนาม"สนง.ทรัพย์สินฯ" ให้เปลี่ยนเป็นนาม"วชิราลงกรณ์"เอง
- เขาจะดูแลกิจการที่ต่อไปนี้จะอยู่ในนามเขาเอง โดยใกล้ชิด
- ให้ทรัพย์สินฯที่ต่อไปนี้เปลี่ยนเป็นในนามเขาเอง เสียภาษี
อ่านรายละเอียด https://goo.gl/u6cyM8
ประกาศสำคัญของวชิราลงกรณ์เกี่ยวกับทรัพย์สินกษัตริย์:
- ต่อไปนี้ ทรัพย์สิน และหุ้นในบริษัทและธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในนาม "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ให้เปลี่ยนเป็นในนาม "วชิราลงกรณ์" เอง
- วชิราลงกรณ์แสดงความจำนงค์ที่จะดูแลกิจการที่ สนง.ทรัพย์สินฯเคยถือครองหุ้นอยู่ และต่อไปนี้จะอยู่ในนามเขาเอง โดยใกล้ชิด
- วชิราลงกรณ์ให้ทรัพย์สินฯที่เคยอยู่ในนาม "สนง.ทรัพย์สินฯ" และต่อไปนี้เปลี่ยนเป็นในนามเขาเอง เสียภาษี
.............
ขอให้ดูประกาศสำคัญนี้ ที่เว็บไซต์ "ทรัพย์สินกษัตริย์" ที่นี่ http://www.crownproperty.or.th/th#banner-modal-192 (ตัวประกาศอยู่ตรงแบนเนอร์) หรือดูภาพประกอบกระทู้ (ที่เว็บไซต์มีเวอร์ชั่นประกาศภาษาอังกฤษด้วย แต่ผมไม่ได้นำมาแสดง)
ประเด็นสำคัญๆของประกาศ ผมได้ทำไฮไลต์ ขีดเส้นใต้ไว้ สีแดงคือส่วนที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด สีชมพู สำคัญรองลงมา
ผมขออธิบายนัยยะสำคัญของประเด็นในประกาศ ดังนี้
(1) ก่อนอื่น ประกาศได้ยืนยันด้วยภาษาง่ายๆกว่าภาษากฎหมายที่ออกมาเมื่อปีกลายว่า ทรัพย์สินที่เคยได้ชื่อว่า "ส่วนพระมหากษัตริย์" และ "ส่วนพระองค์" ต่อไปนี้ กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของวชิราลงกรณ์ทั้งหมดแล้ว ที่เขาจะให้ใครเป็นคนจัดการ และจัดการอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ (สมัยก่อน "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ต้องให้สำนักงานทรัพย์สินฯจัดการ) แน่นอน เรื่องนี้ ถ้าใครติดตามที่ผมเขียนมาโดยตลอด ก็คงรู้กันแล้ว (ประเด็นนี้ อยู่ในข้อ ๑ ย่อหน้าแรก ในหน้าแรกของประกาศ ที่ผมได้ทำไฮไลต์สีชมพูไว้)
สิ่งที่อยากจะเสริมนิดในที่นี้คือ เดิมวังต่างๆ (รวมถึงพระบรมมหาราชวัง "วัดพระแก้ว" เป็นต้น) จัดเป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่ง คือ "ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน" ในกฎหมายใหม่ได้เลิกประเภทนี้ ไปรวมอยู่ใน "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"
การที่วชิราลงกรณ์รวบทรัพย์สินทั้งหมด ทั้ง "ส่วนพระมหากษัตริย์" (รวมถึงวังต่างๆที่เคยเป็น "ส่วนสาธารณะสมบัติฯ" ดังกล่าว) ที่รัฐไทยยืนกรานมาตลอดว่าเป็น "ทรัพย์สินของแผ่นดิน" ไม่ใช่ "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" ให้เป็นของส่วนตัวของเขาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรห่วงใยกังวลอยู่
ยิ่งกว่านั้น ในความเป็นจริง ทรัพย์สินที่เคยอยู่ใน "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" นั้น มีบางส่วนที่ไม่ใช่ของตระกูลมหิดลเป็นส่วนตัวมาก่อน ตัวอย่างสำคัญคือที่ดิน "วังเพ็ชรบูรณ์" (ที่ตั้งเซ็นทรัลเวิร์ลปัจจุบัน คงพอนึกออกว่ามูลค่าขนาดไหน) เคยเป็นของตระกูลวรานนท์ธวัช ที่ไม่กี่ปีนี้ก่อนนี้เอง คุณจิรายุ เคยให้สัมภาษณ์นักวิชาการฝรั่งคนหนึ่งว่า "ไม่ใช่ครอบครัวเดียวกัน" กับมหิดล [not really the same family] ทำไมที่ดินของครอบครัววรานนท์ธวัช จึงกลายมาอยู่ในนาม "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" มีรายละเอียดซับซ้อนอยู่ ไว้ผมค่อยหาโอกาสเล่าให้ฟัง แต่ประเด็นสำคัญคือ ตราบเท่าที่ ที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในนาม "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ก็ไม่อาจถือเป็นของส่วนตัวของตระกูลมหิดล และตอนนี้ของวชิราลงกรณ์เองได้
แท้ที่จริงแล้ว ทรัพย์สินส่วนที่เรียกว่า "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ทั้งหมด ไม่ควรถูกทำให้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวในลักษณะนี้โดยสิ้นเชิง
(2) ประเด็นสำคัญที่สุดของประกาศนี้ คือ การที่วชิราลงกรณ์ให้เปลี่ยนชื่อทรัพย์สินและหุ้นที่เคยอยู่ในนาม "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" มาเป็นในนาม "วชิราลงกรณ์" เอง (ประเด็นนี้ อยู่ในข้อ ๑ ย่อหน้าสอง บรรทัดสุดท้ายของประกาศ ที่ผมทำขีดเส้นใต้สีแดงไว้)
หมายความว่า ต่อไปนี้ หุ้น "สนง.ทรัพย์สินฯ" ในบริษัทอย่าง ไทยพาณิชย์ และ ปูนซีเมนต์ไทย จะกลายมาเป็นชื่อ "วชิราลงกรณ์" ทั้งหมด (ผมเพิ่งเช็คเว็บไซต์ "ตลาดหลักทรัพย์ไทย" (SET) ยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อ แต่คงจะเปลี่ยนในไม่นานนี้)
ปัจจุบัน "สำนักงานทรัพย์สินฯ" ถือหุ้นในไทยพาณิชย์ 18.14% คงพอจำได้ว่า ผมเคยรายงานเรื่องวชิราลงกรณ์โอนหุ้นบางส่วนมาเป็นชื่อเขาเอง ดังนั้น จึงมีหุ้นอยู่ในชื่อวชิราลงกรณ์แล้ว 3.34% หมายความว่า อีกไม่นาน ทั้ง 21.48% ของหุ้นไทยพาณิชย์ จะเป็นในชื่อวชิราลงกรณ์
ส่วนปูนซีเมนต์ไทย ขณะนี้มีหุ้นในนาม "สำนักงานทรัพย์สินฯ" 30% และในนามวชิราลงกรณ์ 0.76% หมายความว่า ต่อไป 30.76% จะอยู่ในนามวชิราลงกรณ์ทั้งหมด
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมา ที่ดินสำคัญๆในกรุงเทพ (เช่น ประตูน้ำ, ราชเทวี, สีลม, วิทยุ ฯลฯ ฯลฯ) ซึ่งเป็นทั้งที่ตั้งศูนย์การค้า และชุมชนสำคัญๆ ที่เคยมี "เจ้าของที่ดิน" ในนาม "สำนักงานทรัพย์สินฯ" ต่อไปก็จะมี "เจ้าของที่ดิน" ในนาม "วชิราลงกรณ์" โดยตรง ... ลองนึกถึงนัยยะ เช่นกรณีที่ก่อนหน้านี้ มีข้อพิพาทระหว่าง "ผู้เช่า" กับ "เจ้าของที่ดิน" มีการประท้วงถึงสำนักงานทรัพย์สินฯ เช่นกรณีชุมชนและผู้ค้าประตูน้ำ เป็นต้น
ในกฎหมายทรัพย์สินฯฉบับเก่า มีมาตราหนึ่งที่จงใจเขียนเพื่อป้องกันปัญหานี้ คือห้ามไม่ให้มีการใช้พระปรมาภิไธยในการทำธุรกรรมเด็ดขาด ต่อไปนี้ วชิราลงกรณ์จะมีชื่อเป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ และเป็นเจ้าของที่ดินสำคัญๆในกรุงเทพโดยตรง -- นึกแล้ว "ขนลุก" บรื้อออ
[แต่ไหนแต่ไร ผมมีความเห็นมาตลอดว่า การที่ในหลวงภูมิพลมีพระนามเป็นผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (ส่วนนั้นเป็น "ทรัพย์สินส่วนพระองค์") เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามเทคนิคกฎหมาย ของ พรบ.ทรัพย์สินฯ แต่ในหลวงภูมิพลไม่เคยมีพระนามเป็นผู้ถือหุ้นในสองบริษัทยักษ์ดังกล่าว]
[อาจมีข้อสงสัยว่า ตามประกาศ คำสั่งวชิราลงกรณ์ที่ให้โอนทรัพย์สินที่เคยอยู่ในนาม "สำนักงานทรัพย์สินฯ" มาเป็นนามตัวเองนี้ ไม่คลุมไปถึงที่ดิน แต่ผมเห็นว่า ถ้าอ่านโดยตลอด เนื้อหาของประกาศเป็นการครอบคลุมทรัพย์สินทุกประเภท ("ทรัพย์สินใด...") แม้จะมีการยกตัวอย่างเป็นพิเศษกรณีหุ้น (ใช้คำว่า "เช่น") อีกอย่างหนึ่ง สมมุติมีการยกเว้นเรื่องที่ดิน ยังคงให้อยู่ในนาม "สำนักงานทรัพย์สินฯ" ก็หมายความว่า เรื่องที่ตอนนี้วชิราลงกรณ์จะยอมให้ทรัพย์สินฯมีการเสียภาษีแล้ว จะไม่คลุมมาถึงที่ดินด้วย ซึ่งค่าเช่าที่ดิน เป็นส่วนที่ทำรายได้มหาศาลอยู่ ถ้ายังคงยกเว้นภาษีต่อไป (ยังคงให้อยู่ในชื่อ "สำนักงานทรัพย์สินฯ" ซึ่งยกเว้นภาษีต่อไป) เรื่องให้เสียภาษีก็หมดความหมายไปเยอะ]
(3) ในประกาศข้อ ๔ (หน้า ๓ ผมขีดเส้นใต้แดงไว้) วชิราลงกรณ์ได้แสดงความจำนงค์ที่จะเข้ามีบทบาทดูแลกิจการที่ต่อไปนี้จะอยู่ในนามเขาเองโดยใกล้ชิด:
"การใช้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้น...ทำให้ทรงสามารถมอบหมายข้าราชบริพารหรือผู้ถวายงานใกล้ชิด...ดูแลกิจการต่างๆเหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิด"
(4) ในกฎหมายทรัพย์สินกษัตริย์ที่วชิราลงกรณ์ให้ออกเมื่อปีกลาย มีข้อความไม่ชัดเจนอยู่เรื่องหนึ่งคือ ปัญหาว่า ต่อไปนี้ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ที่วชิราลงกรณ์ "รวบ" ไว้เอง จะต้องเสียภาษีหรือไม่ (เพราะในอดีต ถ้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ต้องเสียภาษี ในขณะที่ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ไม่ต้องเสีย)
ในประกาศข้อ ๒ (หน้า ๒ ผมขีดเส้นใต้สีชมพูไว้) วชิราลงกรณ์ได้ทำความชัดเจนเรื่องนี้ โดย "ทรงมีพระราชวินิจฉัย" ว่า ถ้าทรัพย์สินฯยังอยู่ในนาม "สำนักงานทรัพย์สินฯ" ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย แต่ต่อไปนี้ จากการเปลี่ยนชื่อเจ้าของจาก "สำนักงานทรัพย์สินฯ" มาเป็นชื่อของเขาเอง ทรัพย์สินฯเหล่านั้นจึง "อยู่ในบังคับของกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร และต้องมีภาระต้องเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป"
ถ้าใครติดตามที่ผมเขียนโดยใกล้ชิด คงเห็นว่า ประเด็นที่ในอดีต "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ได้รับการยกเว้นภาษี ผมไม่เคยถือเป็นประเด็นสำคัญ (ตรงข้ามกับบรรดา "แดงใต้ดินล้มเจ้า" ทั้งหลาย ที่ชอบ "เล่น" ประเด็นนี้) เพราะผมเห็นว่า ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของรัฐโดยแท้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ประเด็นภาษีจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือเรื่องอำนาจการควบคุมทรัพย์สินดังกล่าวว่า อยู่ในมือใครโดยแท้จริง
ตามประกาศที่วชิราลงกรณ์แสดงความ "ใจสปอร์ต" ว่า "ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้มีการเสียภาษีอากรทุกประเทศเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป" ผมจึงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เรื่องสำคัญยิ่งกว่าเยอะ คือการที่วชิราลงกรณ์ "ฮุบ" เอาทรัพย์สินมูลค่ากว่าล้านล้านบาท ที่ควรเป็นของ "แผ่นดิน" หรือของรัฐ เป็นของส่วนตัวของเขา
(ขอบคุณ "มิตรสหายท่านหนึ่ง" ที่เตือนให้ทราบเรื่องนี้)
#กษัตริย์มีไว้ทำไม
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar