ตอบโจทย์ ดร.สุเมธ :๓ ปีก่อนร่อนจดหมายถึงเลอมองด์
เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง[1]ดร.ธงชัย วินิจจะกูล |
อนุสนธิจากหมายเหตุต่อท้ายบทความเรื่อง สื่อตะวันตกช่างไม่ประสา :ดร.สุเมธกรีดใส่เลอมองด์ ซึ่งตีพิมพ์ในไทยอีนิวส์เมื่อวันที่ ๓ มีนาคมที่ผ่านมาว่า "ไทยอีนิวส์จะนำบทความดั้งเดิมของ ดร.ชัย วินิจจะกูล เรื่อง ‘Red Germs’ ซึ่งเป็นคำตอบต่อจดหมายของ ดร. สุเมธ บางตอน ก่อนที่จดหมายนี้จะถูกเขียนขึ้นมาแล้วเนิ่นาน จะเห็นว่าไม่น่าแปลกใจเลยที่ดร.ธงชัย ให้ข้อคิดสั้นๆ ต่อจดหมาของ ดร.สุเมธนี้ว่า ‘The royalists don’t get ityet’ (พวกว่าเครเจ้าก็ยังไม่ประสีอยู่ดี) "
ธงชัย วินิจจะกูล
เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 สะท้อนภาพวิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เหตุการณ์นี้อาจจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับคนเสื้อแดงได้มากเสียยิ่งกว่าข้อกล่าวหาที่รัฐบาลกุขึ้นมาไม่กี่วันก่อนหน้านั้นว่าพวกเขาต้องการล้มเจ้าเสียอีก
เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นถึงแก่นของความขัดแย้งทางสังคม และการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์นี้ได้ดียิ่งกว่าข้อกล่าวหาเลื่อนเปื้อนเรื่องขบวนการล้มเจ้า เราสามารถทำความ เข้าใจประเด็นสถาบันกษัตริย์ และประเด็นอื่นๆ ได้ก็จากอุปมาของเหตุการณ์นี้นี่เอง ตัวเหตุการณ์และการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อาจทำหน้าที่ไม่ต่างจากภาพการแขวนคอในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา นั่นคือช่วยโหมกระพือความเกลียดชัง และความบ้าคลั่งอันอาจนำไปสู่การล้อมปราบอีกครั้งอย่างที่ข้อกล่าวหาขบวนการล้มเจ้าทำไม่สำเร็จ แม้ผมจะหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม
บทความนี้ไม่ได้เป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำที่แก้ตัวไม่ขึ้นของคนเสื้อแดงที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรมองเหตุการณ์นี้อย่างโดดๆ โดยแยกออกจากบริบทของความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้นซึ่งสำคัญยิ่งกว่า ไม่ว่าความจริงของเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นที่ว่าสังคมไทยเข้าใจเหตุการณ์นี้อย่างไร และมุมมองต่างๆ เหล่านั้นบ่งบอกถึงทัศนะทางการเมือง อคติ คำตัดสิน และการกระทำของพวกเขาอย่างไร
เหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬาฯ คือการรุกล้ำของเชื้อโรคแดงเข้าสู่ร่างกายทางการเมือง-จริยธรรมของไทย (Thai moral-political body)
เหตุการณ์ตามที่ถูกรายงาน
ผมจะไม่อ้างว่าเป็นผู้รู้ความจริงแม้แต่เพียงน้อยนิดของเหตุการณ์นี้ แต่ที่สิ่งน่าสนใจคือชุดเรื่องเล่าจำนวนมากที่นำเสนอในสื่อมวลชนไทย (หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์) ซึ่งคาดว่ามีคนไทยหลายล้านติดตามอ่านและชม และเรื่องเล่าที่สื่อสารผ่านทางเครือข่ายเฟซบุ๊ค ไม่ว่าคำบอกเล่าเหล่านี้จะจริงแท้แค่ไหนก็ตาม แต่มันเผยให้เห็นว่าสื่อและเครือข่ายเฟซบุ๊คเหล่านี้มองและเข้าใจคนเสื้อแดงกับการประท้วงของพวกเขาอย่างไร
รายงานข่าว (โดยเฉพาะโทรทัศน์) เต็มไปด้วยคำบอกเล่าจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ถึงความน่ากลัวต่างๆ นานา ทั้งแพทย์ พยาบาล คนไข้และญาติ ต่างอยู่ในภาวะตื่นตระหนก พวกเขาแตกตื่นเคลื่อนย้ายคนไข้ไปอาคารอื่น โดยที่หลายคนอยู่ในอาการหนักและไม่ควรถูกเคลื่อนย้าย ภาพที่แสดงทางโทรทัศน์ไม่ใช่ปฏิบัติการที่ดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เต็มไปด้วยความโกลาหลปั่นป่วนโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่กำลังตื่นตระหนก พวกเสื้อแดงกำลังมา! ได้ยินว่าพวกเสื้อแดงกำลังมา! เค้าบอกว่าพวกเสื้อแดงกำลังมา!
แม้จะไม่มีภาพแม้สักภาพเดียวว่าเสื้อแดงติดอาวุธ ไม่มีรายงานแม้สักชิ้นถึงเสียงปืนสักนัด แต่สังคมได้ทึกทักไปแล้วว่าเสื้อแดงบุกโรงพยาบาลพร้อมอาวุธครบมือ ข่มขู่แพทย์ และคนไข้ ก่อให้เกิดความปั่น ป่วนวุ่นวายเมื่อผู้คนพยายามหนีเอาตัวรอด พยาบาลคนหนึ่งพูดในรายงานข่าวว่าเธอต้องทำงานพร้อมความกลัวลูกกระสุนจากคนเสื้อแดงทุกวัน ราวกับเคยมีการยิงใส่โรงพยาบาลแม้เพียงสักนัด (ในที่สุดก็มีจนได้ ตรงบริเวณที่จอดรถของโรงพยาบาล เมื่อกลุ่มนปช.เผชิญหน้ากับทหารสองสามนาย และถูกทหารเหล่านั้นยิงเข้าใส่ กลุ่มนปช.หนีไปได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ)
รพ.จุฬาฯ นั้นตั้งอยู่ตรงชายขอบด้านหนึ่งของบริเวณสถานที่ชุมนุม และตกอยู่ในสภาพกดดันมาตลอดทั้งเดือนในสถานการณ์เช่นนั้น กระทั่งแพทย์ที่สนับสนุนเสื้อแดงก็จำต้องรับฟังคำเตือนของโรงพยาบาลให้เพิ่มความระมัดระวัง แต่สำหรับคนที่พร้อมจะเชื่ออยู่แล้วนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อพิสูจน์ และไม่ตั้งคำถามว่าทำไมเสื้อแดงจึงมา พวกเขาพร้อมที่จะหวาดกลัวโดยอาจได้รับทราบมาก่อนถึงภาพพจน์ความโหดร้ายของเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์ต่างๆ เช่นกรณีการยิงระเบิดใส่สถานีรถไฟฟ้าสีลมที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้นและกรณีอื่นๆ
คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย สื่อ และคนกลุ่มอื่นๆ พยายามรวบรวมปะติดปะต่อเพื่อหาความจริงของเหตุการณ์ บางคนบอกว่าโรงพยาบาลได้เริ่มเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบางส่วนเมื่อสองสามวันก่อนหน้านั้นแล้ว ฝ่าย นปช. เองบอกว่าพวกเขายังไม่ทันไปถึงโรงพยาบาลด้วยซ้ำทางโน้นก็วุ่นวายกันแล้ว รายงานข่าวภายหลังเหตุการณ์ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ชวนอกสั่นขวัญแขวน (จากสื่อที่ต่อต้านเสื้อแดง) โดยมีรายงานคัดง้างอีกด้านหนึ่ง (จากสื่อที่ไม่ได้ต่อต้านเสื้อแดง) อีเมลปลิวกันให้ว่อนพร้อมข้อโต้แย้งทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่ว่าข้อโต้แย้งเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร การที่คนในโรงพยาบาลหวาดกลัวกันจริงๆ นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ความกลัวของพวกเขาที่มีต่อเสื้อแดงเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าพวกเขาจะได้เคยประสบความเลวร้ายของเสื้อแดงมาจริงหรือไม่ก็ตาม พวกเขาต่างรับรู้ถึงความเลวร้ายของเสื้อแดงจากสื่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะเดียวกันนปช. ก็อาจจะพูดความจริงด้วยเช่นกันที่ว่าพวกเขาไม่ได้ยกพวกจำนวนมากบุกเข้าโรงพยาบาลแต่ไปเพียงกลุ่มเล็กๆ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีกำลังทหารอยู่ข้างใน พวกเขาไม่ได้พกอาวุธ ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอยู่ด้วยเกือบตลอด ฯลฯ บางคนถึงขนาดบอกว่าทางโรงพยาบาลมีปฏิกิริยาเกินเหตุ (over-react) หรือช่วยสร้างเรื่องให้ดูเลวร้ายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง
สื่อและคนกรุงเทพฯ ก่นประณามเสื้อแดงที่กระทำการบุ่มบ่าม กระทั่งการค้นโรงพยาบาลด้วยคนกลุ่มเล็กๆ และไม่มีอาวุธก็เป็นเรื่องไม่สมควร (ซึ่งผมเห็นด้วยในข้อนี้) ความโกรธไหลบ่าผ่านสื่อ และเฟซบุ๊ค พวกเขาไม่เพียงแต่ประณามเสื้อแดง แต่ยังเรียกร้องให้มีการจัดการกับภัยเสื้อแดงอย่างเด็ดขาดด้วย
หากเราตัดทัศนะสุดโต่ง (อย่างข้อกล่าวหาว่าโรงพยาบาลจงใจสร้างเรื่องความวุ่นวาย หรือคนเสื้อแดงติดอาวุธบุกโรงพยาบาล) ออกไป เรื่องราวจากสองฝั่งที่ไม่ตรงกันนั้นอาจถูกทั้งสองฝ่าย นั่นคือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหวาดกลัวอย่างยิ่ง พวกเขากลัวคนเสื้อแดง และต้องทำงานด้วยความกลัวว่ากระสุนจะปลิวเข้ามาในโรงพยาบาล ฯลฯ ไม่ว่าจะลือหรือจริง หรือขยายเกินจริง ปฏิกิริยาของพวกเขาคือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างลนลาน แม้ว่านปช. จะไม่ได้บุกโรงพยาบาลพร้อมอาวุธหรือพวกจำนวนมาก แต่ความกลัวของพวกเขาเป็นเรื่องจริง
หมายเหตุข้อเท็จจริงที่สำคัญมากคือ ผู้ป่วยรายสำคัญที่สุดในโรงพยาบาลจุฬาฯ ขณะนั้นคือสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงประทับมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะเคลื่อนย้าย วันถัดจากที่เกิดเหตุการณ์สมเด็จพระเทพฯ เสด็จยังโรงพยาบาลเพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงยอมย้ายไปยังที่ที่ปลอดภัยกว่า คือโรงพยาบาลศิริราชที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่
ไพร่บุก
หากจะบรรยายว่านี่เป็นเรื่องของโรงพยาบาลที่อยู่กลางสนามรบก็คงไม่ค่อยถูกต้องนัก ที่น่าจะใกล้เคียงกว่าคือนี่เป็นการบุกโดยทัพที่โหดเหี้ยม ทำนองผู้รุกรานที่เหี้ยมโหดกับเหยื่อที่อ่อนแอ ถึงกระนั้นการนำสงครามมาใช้เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้ก็ยังผิดประเด็นอยู่ดี
แพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ รายหนึ่งเขียนในเฟซบุ๊คของเขาว่าคนเสื้อแดงเดินเข้าออกใช้ห้องน้ำในโรงพยาบาลราวกับเป็นบ้านตัวเอง และในวันที่ “บุก” เข้ามานั้น แค่เห็นหน้าตา หรือท่าทางของคนเหล่า นั้นเขาก็กลัวแล้ว นักข่าวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าสื่อนำเสนอเหตุการณ์นี้จนคนเสื้อแดงดูเหมือนเป็นผู้ร้ายในหนังไทยเกรดบี ที่มักเป็นผู้ชายหยาบกร้าน ลูกทุ่ง น่าเกลียด และสกปรก เที่ยวยิงปืนโป้งป้างโดยไม่มีเหตุผล เพียงเพราะว่าพวกเขาเป็นผู้ร้าย
แม้สื่อมวลชนจะระมัดระวังไม่เสนอภาพคนเสื้อแดงเป็นคนบ้านนอกชั้นต่ำ แต่ก็ยังหลุดออกมาให้เห็นตามคอลัมน์ และรายการโทรทัศน์ การนำเสนอภาพดังกล่าวเป็นไปอย่างแพร่หลายในเฟซบุ๊ค ซึ่งในกรณีของเมืองไทยเป็นชุมชนไซเบอร์ที่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนบางเจเนอเรชั่น และบางพื้นเพทางสังคมเท่านั้นแม้ว่าเราจะไม่สามารถพูดถึงคนเหล่านี้แบบเหมารวมอย่างง่ายๆ ได้ แต่ก็พูดได้ว่าชุมชนเฟซบุ๊คไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นยัปปี้ (ซึ่งมีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะต่างจากยัปปี้ในประเทศอื่น) และพวก “สน็อบ” (snobs)[2] (ที่คล้ายกับพวกสน็อบอื่นๆ ทั่วโลก)
พวกเขาพูดถึงคนเสื้อแดงอย่างเปิดเผยว่า เป็นพวกสกปรก น่าเกลียด ถ่อย ต่ำ ด้อย บ้านนอก สน็อบชาวกรุงตามแบบฉบับรายหนึ่งเขียนในเฟซบุ๊คของเธอว่า เธอรู้สึกกลัวจนอกสั่นขวัญแขวนทุกครั้งที่เธอนึกถึงพวกเสื้อแดงจากหน้าตาท่าทางของพวกเขา ที่ตัวดำ สกปรก หยาบกร้าน หน้าตาน่ากลัว
ในการชุมนุมต่อต้านเสื้อแดงคราวหนึ่ง มีป้ายเขียนว่า “พวกบ้านนอกออกไป” คำว่าบ้านนอกถูกใช้ในความหมายว่า ล้าหลัง ไร้การศึกษา เซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ศิวิไลซ์ มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่20 หรืออาจจะนานกว่านั้น ทว่าบ้านนอกก็ยังหมายถึงความซื่อใส บริสุทธิ์ ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งตรงข้ามกับความทันสมัย ดังนั้น การ “หวนคืน” สู่ธรรมชาติตามอุทยานต่างๆ หรือชนบทจึงเป็นกิจกรรมพักผ่อนวันหยุดที่น่ารื่นรมย์สำหรับคนเมือง ในแง่ลำดับชั้นทางสังคม คนบ้านนอกจึงเป็นพวกที่ต่างออกไป อยู่ห่างไกล และแยกจากคนเมือง
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นกลุ่มที่ขึ้นชื่อในการเรียกผู้สนับสนุนทักษิณว่าเป็นพวกโง่ และไร้การศึกษาเสียจนไม่สมควรออกเสียงเลือกตั้ง จนจำเป็นต้องมี “การเมืองใหม่” ที่ให้อภิสิทธิ์แก่คนมีการศึกษา และคุณธรรม พันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นต้นคิดทัศนะที่เหยียดหยามเช่นนี้ แต่ทัศนะนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์แบ่งลำดับชั้นต่ำสูงทางสังคมที่เป็นแบบฉบับในวัฒนธรรมไทย
ที่นับว่าเป็นตลกร้ายก็คือ คนเสื้อแดงขานรับสถานะความเป็นไพร่อย่างหน้าชื่นตาบาน โดยกลับตาลปัตรนัยยะเชิงดูถูกเหยียดหยามนี้เสียใหม่
ไพร่ อำมาตย์ สงครามชนชั้นของคนบ้านนอก
ในวัฒนธรรมการเมืองไทย การต่อสู้ของเสื้อแดงเป็นสงครามชนชั้นในแง่ที่เป็นการลุกขึ้นสู้ของคนบ้านนอกที่ถูกกดขี่ ต่อชนชั้นอภิสิทธิ์ทางสังคม และการเมือง คืออำมาตย์
ปัญญาชนที่ต่อต้านเสื้อแดงพากันปฏิเสธหัวชนฝาว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางชนชั้น พวกเขาเชื่อ และพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่าเสื้อแดงเป็นแค่ลิ่วล้อทักษิณกับชาวบ้านที่ถูกหลอกมา พวกเขา และเหล่าสน็อบเฟซบุ๊คไม่เคยเหนียมที่จะยืนยันทัศนะของตนต่อเสื้อแดงว่าเป็นพวกบ้านนอกที่โง่เง่าต่ำทราม
แม้ว่าเสื้อแดงจะไม่ได้มีเฉพาะแต่ชาวบ้านชนบทอีกต่อไปแล้ว หากยังรวมถึงคนจนเมืองจำนวนมาก และชนชั้นกลางมีการศึกษาในกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ฐานมวลชน และที่มั่นก็ยังอยู่ที่ต่างจังหวัด การเหยียดหยามของบรรดาสน็อบผู้ดีเป็นสิ่งยืนยันถึงภาพพจน์เช่นนี้
ผมเคยเสนอในบทความอื่นแล้วว่า ในเมืองไทยการจัดแบ่งคนกระทำผ่านมิติเชิงสถานที่ เช่น กรุง บ้านนอก ป่า แต่ละพื้นที่หมายถึงระดับความศิวิไลซ์ที่ต่างกัน นี่ไม่ใช่การปฏิเสธการจำแนกชนชั้น และชาติพันธุ์แบบอื่น แต่ชนชั้นทางเศรษฐกิจ และการจำแนกชาติพันธุ์ในไทยถูกนำมาปะปนกับการจำแนกเชิงสถานที่เพราะมิติเหล่านี้พัฒนามาด้วยกัน
“ชนชั้น” และ “เชื้อชาติ” ในวาทกรรมวัฒนธรรมและการเมืองไทยถูกนำเสนอและใช้ปนไปกับ “สถานที่” มีนัยยะเชิงสถานที่เหมือนกัน แม้จะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และไม่สามารถใช้แทนกันได้ และกลับกัน ลำดับชั้นเชิงสถานที่ก็ไม่เพียงบอกถึงภูมิลำเนาทางภูมิศาสตร์ แต่บอกถึงชนชั้น ลำดับชั้นทางสังคม และบางครั้งรวมถึงเชื้อชาติด้วย
เชื้อโรค
นับแต่ความขัดแย้งคุกรุ่นขึ้นมาในปี 2548 การต่อต้านทักษิณพุ่งเป้าไปที่ข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นนักการ เมืองที่ฉ้อฉลมากที่สุดที่เคยมีมาในเมืองไทย ฉ้อฉลในที่นี้มีหลายความหมายทั้งการฉ้อฉลอำนาจ และทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การเมืองที่สกปรก อย่างที่แย่ที่สุดคือ การซื้อเสียง แต่นอก เหนือจากการเมืองสกปรก และการกอบโกยผลประโยชน์แล้ว ภัยร้ายแรงยิ่งกว่าของนักการเมืองฉ้อฉลอย่างทักษิณก็คือความเสื่อมทรามทางจริยธรรมอันเป็นผลจากทุนสามานย์ และการคุกคามสถาบันสูงสุดของประเทศที่ดำรงไว้ด้วยคุณธรรมสูงสุด คือสถาบันกษัตริย์
ประชาธิปไตยไทยไม่เคยเป็นเพียงระบบการเมืองที่กลุ่มผลประโยชน์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ขัดแย้งกันได้ต่อสู้ และประนีประนอมกันเลย ด้วยอิทธิพลของจักรวาลทัศน์แบบพุทธ ระบบการเมืองที่ดี (รวมถึงที่เรียกว่าประชาธิปไตยด้วย) จึงจะต้องเป็นการเมืองที่มีจริยธรรม อำนาจเชิงการเมือง และอำนาจเชิงจริยธรรมแยกกันไม่ออก ต่างส่งเสริมกันและกัน โดยคติเรื่อง “จริยธรรม” นั้นแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ประชาธิปไตยไทยจึงเป็นอวตารของธรรมาธิปไตยโดยผู้ทรงอำนาจทางจริยธรรมในฉบับสมัยใหม่
ทักษิณเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสุดยอดต่อการเมืองเชิงจริยธรรมของไทยเพราะเขาเป็นตัวแทนของสุดยอดความโสมมหลายๆ แบบ เขาเป็นเชื้อโรคร้ายต่อองค์จริยธรรมไทยไม่ต่างจากคอมมิวนิสต์ในยุคก่อน แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลยก็ตาม ส่วนเสื้อแดงก็คือพวกที่ติดเชื้อโรคทักษิณมา
ในอดีต คอมมิวนิสต์เป็นเชื้อโรคแปลกปลอมที่แพร่ระบาดในหมู่เยาวชนที่บริสุทธิ์ และทำให้พวกเขาถูกมองว่าไม่ใช่คนไทยอีกต่อไป แต่การจะไปกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงไม่เป็นไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้บางส่วนของเสื้อแดงจะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะป้ายสีพวกเขาว่าไม่เป็นไทย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นไทย
ฐานมวลชนเสื้อแดงคือประชาชนที่ยังคงนับถือศาสนา ชาตินิยม และจงรักภักดีอย่างเหนียวแน่น แม้จะรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้รับการเหลียวแลอยู่บ้างก็ตาม ตัวแกนนำนปช. สะท้อนให้เห็นการเมืองของมวลชนของพวกเขาเอง พวกเขาไม่เคยแสดงวี่แววว่าต่อต้านสถาบันฯ แม้แต่น้อย ถ้าจะมีก็เป็นการแสดงความจงรักภักดีเสียมากกว่า ความเห็นที่แรงที่สุดคือการแสดงความผิดหวัง และพวกเขาก็วิงวอนขอพระมหากรุณาธิคุณ
แต่สำหรับคนเกลียดทักษิณแล้ว พวกบ้านนอกเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะเชื้อทักษิณชั้นดี เนื่องจากขาดการศึกษา และภูมิคุ้มกันทางจริยธรรม พวกบ้านนอกถูกล่อลวงด้วยผลประโยชน์ฉาบฉวยเฉพาะหน้า ด้วยความละโมบและวัตถุนิยม พวกเขากลายเป็นเชื้อโรคที่กำลังรุกล้ำร่างกายทางการเมืองเชิงศีลธรรมที่มีชนชั้นนำในเมืองเป็นตัวแทนมาตลอดประวัติศาสตร์ไทย
มีหลายองค์ประกอบที่สะท้อนลักษณะชาวบ้านชนิดที่อาจกวนใจชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ และบรรดาสน็อบเหล่านั้นเป็นอย่างมาก การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ต่างจากที่เคยเป็นมาในอดีตที่คนหาเช้ากินค่ำส่วนใหญ่เฉยเมย คนเสื้อแดงได้รับการต้อนรับจากชนชั้นล่าง และชนชั้นกลางระดับล่าง อย่างพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย พนักงานห้างร้าน/สำนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับแท็กซี่ คนขับรถเมล์ และคนทำงานบริการทางเพศ
ลีลาของแกนนำนปช. ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการเคลื่อนไหวที่นำโดยปัญญาชน พวกเขาเป็น “นักเลง” ลูกผู้ชายลูกทุ่ง พวกเขาตลกเฮฮาแต่ห้าวหาญ ติดกรุ้มกริ่มแต่ก็ไม่ละลาบละล้วง โหด และหยาบต่อศัตรู พวกเขาไม่พูดศัพท์แสงการเมืองนามธรรม ยกเว้นคำว่าไพร่ และอำมาตย์ ไม่ค่อยคำนึงถึงความถูกต้องทางการเมืองเวลาโจมตีฝ่ายตรงข้ามเรื่องโฮโมเซ็กช่วล หรือเชื้อชาติ การปราศรัยของพวกเขาไม่ลึกซึ้ง เนื้อหาไม่เคยพัฒนาเลยตลอดการชุมนุมหนึ่งเดือน แต่พวกเขาก็ดูไม่ยี่หระ พวกเขามักร้องเพลงลูกทุ่ง และเพลงป๊อปไร้รสนิยมบ่อยกว่าเพลงเพื่อชีวิตของฝ่ายซ้ายเก่า มวลชนเสื้อแดงดูหยาบกร้าน ค่อนข้างหยาบคาย และ...บ้านนอกอย่างไม่ต้องสงสัย
พฤติกรรมของผู้นำ และมวลชนเสื้อแดงที่อาจระคายเคืองชนชั้นสูงในเมืองมากที่สุดคือ พวกเขามีแนว โน้มที่จะรุนแรง และตอบโต้อย่างรุนแรง แม้พวกเขาจะประกาศยึดมั่นสันติวิธี และการชุมนุมอย่างสงบ แต่พวกเขาก็ล้ำเส้นในทางคำพูดแทบทุกวัน การกระทำของพวกเขายั่วยุปฏิกิริยาที่รุนแรง พวกเขาลั่นปากทุกวันว่าเมื่อตีมาจะตีกลับทุกครั้ง สันติวิธีของพวกเขาหมายความเพียงการไม่ติดอาวุธ และไม่เริ่มโจมตีก่อน ซึ่งห่างไกลโขจากสันติวิธีแบบคานธี แต่อาจจะเป็นสันติวิธีแบบ “นักเลง”
เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯเป็นปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของพวกเขาต่อข่าวที่พวกเขาได้รับมาว่าโรงพยาบาลอาจอนุญาตให้ทหารเข้าไปหลบซ่อนตัวเพื่อจัดการกับแกนนำ นปช. ผู้นำบางส่วนก็นำกลุ่ม “นักเลง” ตรงไปยังโรงพยาบาลเพื่อหาความจริง โดยไม่ยั้งคิดถึงผลทางการเมืองที่จะตามมา พวกเขาควรจะตระหนักว่า “นักเลง” นั้นไม่เป็นที่ชื่นชอบสำหรับชนชั้นนำในเมือง ที่มักมองนักเลงไม่ต่างจากกุ๊ยอันธพาล
อันธพาลเสื้อแดงกำลังท้าทายอำนาจของชนชั้นนำในเมือง เสื้อแดงยึดกรุง!
เหตุการณ์ที่ไม่ได้รับการรายงาน: เชื้อโรคแดง
ในเดือนตุลาคม 2551 หลังจากพันธมิตรฯ ปะทะกับตำรวจ กลุ่มแพทย์ซึ่งนำโดยแพทย์บางคนของโรง พยาบาลจุฬาฯ ขู่ว่าจะไม่รับรักษาตำรวจ เนื่องจากตำรวจเป็นเครื่องมือของทักษิณในการปราบปรามพันธมิตรฯ แม้ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงจากสังคม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคำวิจารณ์หรือคำตำหนิจากองค์กรแพทย์ใดๆ ไม่มีการรายงานว่าพวกเขากระทำตามที่ขู่จริงหรือไม่ แต่ก็มีข่าวว่าแพทย์ที่อื่นปฏิเสธการรักษาเสื้อแดงอีกเช่นกัน
กรณีนี้สร้างความอื้อฉาวแก่แพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯว่า “เหลือง” จัด กิตติศัพท์ดังกล่าวได้รับการตอกย้ำด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ ที่เอาการเอางานที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำการชุมนุมของเสื้อชมพู และเสื้อหลากสีมาสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านเสื้อแดงนั้น เป็นแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ แพทย์คนอื่นๆ และผู้บริหารโรงพยาบาลจะเป็นอย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็ได้ไปปรากฏอยู่แนวหน้าของความขัดแย้งทั้งเชิงกายภาพ เชิงสถานที่ เชิงการเมือง และเชิงอุปมา
คำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ปรากฏตามสื่อ และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น รวมถึงคำบอกเล่าในเฟซบุ๊คของเหล่ายัปปี้ และสน็อบ ดูราวกับเป็นหนังสยองขวัญหรือหนังมนุษย์ต่างดาวบุกโลก นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ นปช.ทำผิดพลาด ข้อนี้แก้ตัวไม่ขึ้น แต่วิธีการมอง การรายงาน และการเข้าใจการกระทำของคนเสื้อแดงดังที่แสดงให้เห็นจากสื่อ กลุ่มเฟซบุ๊ค และผู้บริโภคสื่อเหล่านี้ ล้วนถูกกำกับโดยการจัดจำแนกลำดับชั้นของคนในสังคมผ่านสถานที่ ซึ่งเป็นประเด็นหัวใจของความขัดแย้งในปัจจุบัน
สื่อ นักวิชาการ กลุ่มประชาสังคม และกลุ่มเฟซบุ๊ค พร้อมใจกันประณามการบุกของเสื้อแดงอย่างรุนแรง ด้วยเสียงที่ดังกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลยกับท่าทีหน่อมแน้ม (หรืออันที่จริงคือเงียบเฉย) ที่มีต่อการที่รัฐบาลใช้กำลัง และกระสุนจริงที่ทำให้คนเสียชีวิต 25 รายในวันที่ 10 เมษายน
ร่างกายของการเมืองเชิงจริยธรรมที่สะอาดปลอดเชื้อที่มีโรงพยาบาลเป็นตัวแทน ดูจะมีคุณค่าสูงส่งกว่าความตายของคนเสื้อแดงซึ่งตอกย้ำสาส์นก่อนหน้านั้นว่า ความตายของนายทหารที่สั่งการในการปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายนนั้น มีคุณค่าสูงส่งกว่าเสื้อแดงที่เป็นเหยื่อในการปะทะคราวเดียวกัน อันทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องสื่อ และชนชั้นนำในเมืองเป็นพวก “สองมาตรฐาน” ยิ่งดูน่าเชื่อถือมากขึ้น
อันที่จริงแล้วมันเป็นมาตรฐานชุดเดียวกัน กล่าวคือกฎหมาย เหตุผล สิทธิ บำเหน็จรางวัล และโทษทัณฑ์ ตลอดจนระบบคุณค่าอื่นๆ นั้น ใช้กับคนต่างกันไปตามแต่ละฐานะชนชั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบ “สองมาตรฐาน” ที่เป็นอยู่นี้ คือรูปแบบหนึ่งของระบบแบ่งแยกคนในสังคม
การชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชประสงค์ไม่เพียงแต่เป็นการยึดครองพื้นที่ที่หรูหราฉูดฉาดที่สุดของกรุงเทพฯแต่ยังเป็นการบุกจู่โจมเข้ายึดครองเมืองเทวดา (กรุงเทพฯ) โดยเชื้อโรคจากบ้านนอกที่สกปรกหยาบกร้าน คำว่า “เสื้อแดงบุก” จึงมีนัยยะของความน่าสะพรึงกลัวกว่าความหมายตามตัวอักษรมากนัก นั่นคือ โรงพยาบาลจุฬาฯอยู่แนวหน้าเผชิญกับเชื้อโรค และโรคร้าย และถูกโรคร้ายบุกจู่โจม
การปราบปรามที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงอาจมองได้ว่า (และกล่าวกันว่า) เป็นการฆ่าเชื้อโรค ระงับการติดเชื้อที่เกิดจากการบุกของพวกบ้านนอกเข้ามาในพื้นที่การเมือง เพื่อที่จะฟื้นฟูสุขภาพขององค์การเมืองเชิงจริยธรรมของไทย
[1] บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ ในเว็บไซต์ New Mandala ดู http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2010/05/03/thongchai-winichakulon-the-red-germs/ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ต่อมามีการแปลและเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไทwww.prachatai.org เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ผู้แปลคือ พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ ในการตีพิมพ์ในวารสาร อ่าน ฉบับนี้ ได้มีการแก้ไขสำนวนภาษาอีกเล็กน้อย
[2] หมายเหตุผู้แปล: snob หมายถึง คนชอบอวดตัวว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ทั้งในแง่การศึกษา รสนิยม สาแหรก ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม อาจรวมคุณสมบัติต่างๆ ดังต่อไปนี้ เดิ้น ดัดจริต กระแดะ กรีดกราย อวดภูมิ ยกตัว ที่สำคัญคือ ชอบดูถูกคนอื่นว่าต่ำต้อยกว่า
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar