tisdag 19 november 2013


ศาลโปรดอย่าก้าวล่วงพระราชอำนาจ



สังคมไทยเริ่มชินชากับการที่ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ขยายอำนาจเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่ง 'รัฐสภา' แก้ไขให้ 'ประชาชน' มีโอกาสเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สมาชิกวุฒิสภา ประหนึ่งว่าหากประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสเลือกผู้แทนตนเองได้ ก็จะต้อง 'ขออนุญาต' จากศาลซึ่งประชาชนไม่ได้เลือกมาเสียก่อน

เรื่องนี้นอกจาก ละเมิดสามัญสำนึกทางประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง โดยศาลกำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  ทั้งด้านเนื้อหา กล่าวคือ ศาลนำเรื่องการใช้อำนาจของรัฐสภาไปปะปนกับเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของ ประชาชนและพรรคการเมือง อีกทั้งละเมิดกระบวนการโดยเบียดบังอำนาจของอัยการสูงสุดเพื่อนำอำนาจนั้นมา ไว้กับตนให้รับพิจารณาคดีได้เองแต่ผู้เดียว

การขยายอำนาจเช่นนี้อาจ เป็นเพราะศาลมีความปรารถนาดีว่า 'ประชาธิปไตย' ไม่ใช่เรื่องของ 'เสียงข้างมาก' เท่านั้น แต่เสียงข้างมากต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้

การ ตรวจสอบถ่วงดุลนั้นสำคัญจริง แม้แต่กรณีที่รัฐสภาเสียงข้างมากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน กระบวนการทั้งหมดต้องมีขั้นตอนให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้แสดงความเห็นและเสนอ แนะคัดค้าน มิอาจรวบรัดตัดตอนให้แล้วเสร็จในทันทีได้ เช่น มีกรรมาธิการที่มีสัดส่วนและมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่อภิปรายหรือลง มติอย่างเปิดเผยให้สังคมร่วมตรวจสอบทั้ง 3 วาระ

คำถามสำคัญก็คือ เมื่อรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว  จะยังมีผู้ใดที่จะตรวจสอบถ่วงดุลรัฐสภาได้?

คำตอบนั้น หาใช่ ศาลรัฐธรรมนูญ หาใช่ รัฐสภา และ หาใช่ คณะรัฐมนตรี

แต่เป็น "พระราชอำนาจ" โดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ซึ่งยึดโยงกับจิตสำนึกและเจตจำนงของปวงชน

ทั้ง นี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ประกอบกับ มาตรา 151 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เมื่อรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญและส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ ผู้ที่จะยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผู้เดียว ก็คือ พระมหากษัตริย์

โดย หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมายัง รัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาต้องปรึกษากันว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร หากรัฐสภาทบทวนแล้วเกิดความยับยั้งชั่งใจว่าไม่ควรดำเนินการต่อ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ยังประกาศใช้ไม่ได้

แต่หากรัฐสภามีมติยืนยันตาม เดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา นายกรัฐมนตรีจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีก ครั้งหนึ่ง

ซึ่งเมื่อรัฐสภาได้มีมติยืนยันเช่นนี้ หากพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็ดำเนินการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ที่แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป แต่หากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และไม่พระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจา นุเบกษาใช้บังคับได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

กระบวน การนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องช่วยพิสูจน์ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็น "พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ" กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์พระประมุขของปวงชน ย่อมทรงใช้พระราชอำนาจถ่วงดุลอำนาจของผู้แทนปวงชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ มาจากปวงชน และหากผู้แทนปวงชนมั่นใจแน่วแน่ที่จะรับผิดชอบโดยยืนยันมติต่อพระมหา กษัตริย์อีกครั้ง พระมหากษัตริย์ก็มิอาจยับยั้งมติดังกล่าวของผู้แทนปวงชนได้

สมควรย้ำ ว่า การที่รัฐสภาจะตัดสินใจยืนยันมติต่อพระมหากษัตริย์ หรือการที่พระมหากษัตริย์จะทรงยับยั้งมติของรัฐสภาเช่นว่านี้ หาใช่เรื่องของอำนาจทางกฎหมายหรือคณิตศาสตร์เสียงข้างมากเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการทางการเมืองที่ผูกติดอยู่กับความชอบธรรมและแรงสนับสนุนจาก เจตจำนงของปวงชนเป็นสำคัญ

แม้บางสำนักความคิดจะมองอย่างแคบว่ากรณี ดังกล่าวเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีขัดแย้งกับรัฐสภาเท่านั้น แต่อำนาจใดที่ใช้ไปโดยขัดต่อมติของปวงชนโดยปราศจากเหตุุผลและขาดความชอบธรรม อำนาจนั้นก็ย่อมสูญสิ้นไปในที่สุด ไม่เว้นแต่อำนาจของประมุขหรือผู้แทนของปวงชน

ดังนั้น เมื่อรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ย่อมเป็นกระบวนการขั้นตอนที่พ้นไปจากทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ  เพราะพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจเช่นใด ย่อมไม่มีผู้ใดไปกำหนดได้ นอกเหนือไปจากความชอบธรรมที่พระมหากษัตริย์ทรงต้องยึดโยงการตัดสินใจกับ เหตุผลและเจตจำนงของปวงชน ซึ่งองค์ประมุขและผู้แทนต่างร่วมกันรับผิดชอบ

แต่ หากผู้ใดพยายามสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เช่น อ้างมาตรา 68 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงถ่วงดึงกระบวนการดังกล่าวไว้ ประหนึ่งศาลรู้ดีจนไปตัดสินและรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ได้จนพระองค์ต้อง ทรงลำบากพระราชหฤทัยจากการถูกดึงเข้าไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากผู้นั้นจะไม่เคารพในรัฐธรรมนูญแล้ว ผู้นั้นยังอาจเอื้อมไม่เคารพในพระราชอำนาจตลอดจนพระราชปรีชาญาณที่จะทรงรับ ผิดชอบต่อพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์เองอีกด้วย

แม้บัดนี้ปรากฏว่าศาลไม่เคารพกรอบอำนาจของตนเองตามรัฐธรรมนูญ  แต่หากศาลยังพอมีความยำเกรงในพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง ก็ยังไม่สายเกินไปที่ศาลจะยกคำร้องหรือจำหน่ายคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ ที่ค้างอยู่ในศาล เพื่อน้อมให้เรื่องดังกล่าวเป็นพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระประมุขแห่งปวงชน ชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ.

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar