- วิกฤตสุดซอย...ครั้งนี้...เราได้เห็น
เธอเยือกเย็น...รั้งม้า...พ้นผาได้
เหล่าพวกมาร...ใช้มนตร์...ซ่อนกลไว้
ช่างได้ใจ...สมนารี...ขี่ม้างาม
เธอประสาน...มวลเสื้อแดง...ให้รวมใจ
พายุใหญ่...พัดกระหน่ำ...สลี่มคาม
อริสมันส์...ประกาศกล้า...ขึ้นท้าความ
รวมทุกนาม...กองทัพแดง...ณ.เมืองทอง - ศึกครั้งนี้...ชี้ความเป็น...ชี้ความตาย
รวมนัดหมาย...พร้อมพรั่ง...เมื่อลั่นกอง - กองทัพแดง...รวมพลัง...กันทั้งผอง
- เพื่อปกป้อง...ประชาธิปไตย...พ้นภัยมาร
มาเถิดมา...เยี่ยมเยือน...เพื่อนสหาย
มาเถิดมา...รวมพลัง...สู้มารร้าย
มาเถิดมา...มารกล้ำกราย...มลายไป
โจทย์การเมืองในเดือนพฤศจิกายน 2556 มากด้วยความสลับซับซ้อน ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะฟันธงได้ว่าจะลงเอยอย่างไร
1 ไม่เหมือนเมื่อเดือนตุลาคม 2516
เพราะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความชอบธรรมมากกว่าเชิงเปรียบเทียบกับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร
2 ไม่เหมือนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
หากว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ใช้มาตรการปราบอย่างรุนแรง
3 ไม่เหมือนเมื่อเดือนกันยายน 2549
เพราะว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ดื้อเหมือนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากแต่แสดงการยอมรับกระแสและเสียงต่อต้านจากประชาชน
"ถอย" อย่างชนิด "สุดซอย"
จึงไม่เพียงแต่ "ต่างประเทศ" จะจับตามองอย่างไม่กะพริบ หากแม้กระทั่ง "ภายใน" ประเทศก็ติดตามอย่างใกล้ชิด ทุกจังหวะก้าว
จังหวะก้าว ข้อมูล ข่าวสาร ยุคโลกาภิวัตน์
สถานการณ์ในขณะนี้เหมือนกับว่าพรรคประชาธิปัตย์จะถอดพิมพ์ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
มีกลิ่นอายบรรยากาศแห่งเดือนตุลาคม 2516
มีกลิ่นอายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพียงแต่มิอาจเรียกตนเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากแต่สะท้อนออกเด่นชัดยิ่งว่าเป็น
พันธมิตรประชาชนเพื่อ "ประชาธิปัตย์"
เพราะจากเวทีสามเสนไปยังสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อาจมีแนวร่วมอย่าง นายประมนต์ สุธีวงศ์ อาจมีแนวร่วมอย่าง นายสุหฤท สยามวาลา
แต่เจ้าของเวทีอย่างแท้จริง คือ พรรคประชาธิปัตย์
การเข้าร่วมของสถาบันการศึกษาอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีกลิ่นอายของ 14 ตุลาคม 2516 แต่ที่ต่างออกไปก็สัมผัสได้
มิใช่ "นิสิต นักศึกษา"หากเป็น "ผู้บริหาร"
เป็นบุคลากรระดับ "บน"ของแต่ละองค์กร ทั้งที่เป็นคณบดี เป็นอธิการบดี เป็นผู้อำนวยการ และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นยังมีกระทั่ง "ผู้พิพากษา" ยังมีกระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.อันเป็นตัวแทนศาล ตัวแทนองค์กรอิสระ
แต่ก็ระดับ "บน" มิใช่ระดับ "ล่าง"
การขับเคลื่อนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีทั้งจุดเหมือนและจุดต่างกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์
ต่างตรงที่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2545 แกนนำคือ "พันธมิตร"
ขณะเดียวกัน ก็แวดล้อมด้วย "แนวร่วม"อันคึกคักทั้งที่เป็นราชนิกุล สภาการหนังสือพิมพ์ สภาทนายความ และพรรคประชาธิปัตย์
ต่างตรงที่ในเดือนพฤศจิกายน 2556 พรรคประชาธิปัตย์เล่นเอง
ขณะเดียวกัน ก็แวดล้อมด้วยแนวร่วมอันคึกคักที่แฝงทั้งกลิ่นอายเดือนตุลาคม 2516 และก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2551 โดยมีกลุ่มของพันธมิตรซึ่งแปรรูปเป็นสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เข้ามาเสริม
เด่นชัดยิ่งว่ามิได้มาเพราะเสน่ห์ของ "สุเทพ+อภิสิทธิ์" เท่านั้น
เมื่อเดือนตุลาคม 2516 จบลงด้วยการจากไปของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 จบลงด้วยการจากไปของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
เมื่อเดือนกันยายน 2549 จบลงด้วยการจากไปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เมื่อเดือนกันยายน 2551 จบลงด้วยการจากไปของ นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อเดือนธันวาคม 2551 จบลงด้วยการจากไปของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
เดือนพฤศจิกายน 2556 จะจบอย่างไร
มีความรู้สึก "ร่วม" ว่าเป้าหมายน่าจะต้องการดับอนาคตของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหลัก
แต่คำถามว่าจะดับได้อย่างไร กระบวนการอะไร กระบวนการบีบให้ลาออก กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ หรือกระบวนการรัฐประหาร คำตอบของคำถามนี้ระทึกใจอย่างยิ่ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็อยากรู้
(ที่มา:มติชนรายวัน 8 พ.ย.2556)
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar