onsdag 25 februari 2015

"ความจริง" จาก อ.สมศักดิ์ " ลาออก - ไล่ออก" พร้อมคำขอบคุณจากใจฝากถึงทุกคนที่ห่วงใย...


"ความจริง"จาก อ.สมศักดิ์
ฝากให้อ่านเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ...








นี่เป็นหนังสือชี้แจงของผม ที่ส่งให้ทางมหาวิทยาลัย เมื่อต้นเดือนนี้ เมื่อทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนทางวินัย
..............
(๑) ดังที่ทราบกันแล้วว่...า เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ได้มีคณะทหารกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครอง ล้มรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ร้ายแรงที่สุด หลังจากนั้นไม่กี่วัน คณะทหารที่ทำการโดยมิชอบและผิดกฎหมายนั้น ได้สั่งให้บุคคลจำนวนมากเข้าไปรายงานตัว รวมทั้งผมด้วย เมื่อผมไม่ไปรายงานตัว ก็ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ ๒ คันรถไปที่บ้านผม เมื่อไม่พบ ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจติดตามรังควาน (harassment) ต่อภรรยา แม่ และพี่ชายของผมถึงบ้านและที่ทำงานของพวกเขา โดยที่ญาติของผมเหล่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการกระทำใดๆของผมเลย ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันนับเดือน พร้อมกันนั้น คณะทหารดังกล่าวยังได้ทำการยกเลิกหนังสือเดินทางของผม และออกหมายจับตัวผมที่ไม่ยอมไปรายงานตัว
ผมไม่เคยคิดหรือเรียกร้องให้ใครจะต้องมีท่าทีต่อการยึดอำนาจในลักษณะกบฏ ครั้งนี้แบบเดียวกับผม แต่ในส่วนตัวผมเอง ในฐานะพลเมืองและข้าราชการคนหนึ่ง และในฐานะสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์ ผมถือเป็นหน้าที่สูงสุดที่จะไม่ยอมทำตามการกระทำที่ผิดกฎหมายร้ายแรงที่สุด ดังกล่าวของคณะทหารนั้น (แม้แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ ก็มีบทบัญญัติให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนไทยที่จะต่อต้านการล้มรัฐ ธรรมนูญอย่างสันติ) ผมจึงไม่สามารถที่จะอยู่ปฏิบัติราชการเพื่อให้คณะบุคคลที่ทำการกบฏดังกล่าว มาจับกุมตัวอย่างไม่ชอบธรรมได้ ผมถือว่านี่คือการปฏิบัติหน้าที่สูงสุดที่ในฐานะพลเมืองหรือข้าราชการคน หนึ่ง หรือ “ชาวธรรมศาสตร์” ผู้หนึ่ง จะพึงปฏิบัติได้ ในการต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอันร้ายแรงที่สุดของคณะทหารดังกล่าว
(๒) คณะทหารที่ทำการยึดอำนาจดังกล่าว หลังการยึดอำนาจแล้ว ก็ได้ดำเนินการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ (ที่เรียกกันว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) อย่างขนานใหญ่ ดำเนินการจับกุมคุมขังบุคคลต่างๆ ในเวลาสั้นๆจนถึงขณะนี้รวมแล้วเกือบ ๓๐ คน หรือโดยเฉลี่ยกว่า ๓ คนต่อเดือน (หรือประมาณ ๑ คนทุกๆ ๑๐ วัน) โดยที่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ระบบยุติธรรม” ของคณะยึดอำนาจนั้น แทบทุกคนที่ถูกจับไป ถูกปฏิบัติในลักษณะที่ถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด ไม่มีการให้ประกันตัว แม้กระทั่ง ในกรณีที่เป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะจบการศึกษา จนแทบทุกคนดังกล่าวถูกบีบบังคับให้จำเป็นต้องเลือกวิธี “สารภาพ” เพื่อจะได้หาทางย่นเวลาของการต้องถูกจองจำให้สั้นลง การใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวของคณะทหารผู้ยึดอำนาจ ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการใช้กฎหมายนี้อย่างผิดๆมากขึ้นไปอีก ถึงขั้นที่แม้แต่การพูดถึงพระมหากษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างฟ้องร้องได้
ดังที่ทราบกันดีว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมเป็นผู้หนึ่งที่เรียกร้องและสนับสนุนให้มีการปฏิรูปแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย ดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อยุคสมัยและไม่ชอบด้วยหลักการปกครองประชาธิปไตย โดยที่ผมได้ทำการเรียกร้องนั้นอย่างสันติ และภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่นั้นเอง แต่คณะทหารกลุ่มเดียวกับที่ทำการยึดอำนาจในขณะนี้ ได้มุ่งที่จะทำร้ายผมโดยไม่คำนึงถึงแม้แต่กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ ดังกรณีสำคัญ ๒ กรณีซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป คือ ในปี ๒๕๕๔ คณะทหารกลุ่มนี้ได้แจ้งความฟ้องร้องผมในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากการที่ผมเขียนบทความพาดพิงถึงพระดำรัสชองสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬา ภรณ์วลัยลักษณ์ ทั้งๆที่พระองค์หาได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด และในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลังจากผมได้เขียนข้อความทางโซเชียลมีเดียวิจารณ์การที่คนไทยกลุ่มหนึ่งมี ลักษณะนิยมเจ้าอย่างงมงาย (ที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า ultra-royalism) ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ได้พาดพิงถึงแม้แต่พระราชวงศ์พระองค์ใด อย่าว่าแต่พระราชวงศ์ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายดังกล่าว แต่ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น (หรือผู้นำคณะยึดอำนาจในปัจจุบัน) ได้ให้โฆษกของเขาออกมาข่มขู่ว่า จะ “ใช้มาตรการทางสังคมเพื่อกดดัน” ต่อผม หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็มีบุคคลลึกลับไปยิงผมถึงบ้าน จนเกือบจะทำร้ายถึงชีวิตและร่างกายของผม หลังการยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคมและหลังจากการมีหมายจับผมที่ไม่ยอมไป รายงานตัวกับคณะผู้ยึดอำนาจแล้ว เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ คณะผู้ยึดอำนาจดังกล่าว ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ออกหมายจับผมอีกหมายจับหนึ่งในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยอ้างการเขียนข้อความทางโซเชียลมีเดียดังกล่าวอีกด้วย
ตลอดเวลานับ ๑๐ ปี ที่ผมทำการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์รวมถึงการแก้ไขหรือยกเลิก กฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ผมได้กระทำภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่คิดที่จะใช้วิธีการอื่นใดหรือหลบลี้หนีหน้าไปไหน ไม่ว่าจะถูกผู้ไม่เห็นด้วยข่มขู่คุกคาม หรือใช้วิธีนอกกรอบของกฎหมายมาพยายามทำร้ายอย่างไร แต่ภายใต้การปกครองของคณะยึดอำนาจชุดปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่ได้ขยายปัญหาที่มีอยู่แล้วในกฎหมายดังกล่าวออกไปอีกอย่างมาก มายไม่เคยปรากฏมาก่อน (การฟ้อง-การจับอย่างเหวี่ยงแห, การสันนิษฐานล่วงหน้าว่ากระทำผิด, การห้ามประกันอย่างผิดนิติธรรม และการตัดสินคดีในลักษณะครอบจักรวาลมากขึ้นๆ) แต่ยังได้แสดงให้เห็นชัดเจนมาตลอดตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจว่า มุ่งจะทำร้ายผมโดยเฉพาะเจาะจง – ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งแน่นอนว่า ผมจะไม่มีโอกาสโดยสิ้นเชิงที่จะได้รับการปฏิบัติต่ออย่างยุติธรรมตามหลัก กฎหมาย ผมจึงมีความจำเป็นและมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรักษาชีวิต ร่างกาย และอิสรภาพของตน ด้วยการไม่ยินยอมให้คณะทหารที่ยึดอำนาจอย่างกบฏจับกุมและทำร้ายด้วยข้ออ้าง เรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือข้ออ้างใดๆ
ตลอดเวลา ๒๐ ปีที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้พยายามปฏิบัติงานอย่างสุดความสามารถตามหน้าที่โดยไม่ละเว้น (เช่น ผมแทบจะไม่เคยขาดการสอนเลย) ทั้งยังได้พยายามปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ และสมาชิกที่ดีของประชาคมธรรมศาสตร์ แต่ในภาวะการณ์ที่มีผู้ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ตั้งตนเป็นผู้ปกครองประเทศและหัวหน้าระบบราชการอย่างผิดกฎหมาย แล้วอ้างอำนาจที่ตัวเองไม่มีอยู่ มุ่งจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และอิสรภาพของผมโดยตรงเช่นนี้ ผมถือเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ในฐานะข้าราชการ ในฐานะพลเมือง และสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์ ที่จะไม่ปฏิบัติตาม และต่อต้าน ปฏิเสธการพยายามจับกุมคุมขังและทำร้ายผมของพวกเขาดังกล่าว




 - เสียงกระซิบกระซาบลอยมาตามสายลม..'ทหารโทรสั่ง' ?




by ThaiE-Enews




คลิกอ่านข่าวทั้งหมด-'ทำมะสาด' ของสมคิด เลิศไพฑูรย์ ทำตัวอย่างมิติใหม่ตามใจเผด็จการ เซ็นหนังสือ 'ไล่ออก' สศจ. ทันทีหลังจากมีเสียงซุบซิบว่า 'ทหารโทรสั่ง'


'ทำมะสาด' ของสมคิด เลิศไพฑูรย์ ทำตัวอย่างมิติใหม่ตามใจเผด็จการ

เซ็นหนังสือ 'ไล่ออก' สศจ. ทันทีหลังจากมีเสียงซุบซิบว่า 'ทหารโทรสั่ง'




มาแล้ว คอมเม้นต์เจ้าตัว
มาแล้ว คอมเม้นต์เจ้าตัว

Somsak Jeamteerasakul
·

ก่อนอื่น ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เขียนความเห็น ส่งข้อความทั้งหน้าไมค์หลังไมค์มามากมาย ให้กำลังใจผม รู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง ต้องขออภัยที่ไม่สามารถตอบเป็นรายบุคคลได้

ความจริงมหาวิทยาลัย มี"อ๊อพชั่น" หลายอย่าง จะให้ผมลาปลอดการสอนชั่วคราว ให้ผมลาออกเอง หรือ "ให้ออก" ไปจนถึง "ไล่ออก" ก็ได้

ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ก็คิดๆว่า ถ้าอย่างมากสุด ให้ลาออก หรือให้ออก ก็ยังดี เพราะจะได้ไม่มีปัญหาเรืองบำเหน็จ เพราะผมก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เงินสะสมก็ไม่ได้มากมาย ทีสำคัญก็เห็นว่า ในเมื่อผมทำงานมากว่า ๒๐ ปี อย่างน้อยถ้าบอกว่า ต้องลงโทษที่ตอนนี้ไปทำงานไม่ได้ ก็เป็นเรื่อง "ความผิด" ที่เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ควรกระทบไปถึงบำเหน็จที่เป็นการตอบแทนการทำงานสะสมที่ผ่านมา

พอออกมาว่า เป็นการ "ไล่ออก" ก็ได้แต่ยักไหล่ หัวเราะ เหอๆ กับตัวเองแหละ

ที่จริงตอนทีผมตัดสินใจกลับมาเขียน ฟบ ใหม่ เมื่อ ๒๒ พฤศจิกายนนั้น ผมรู้ดีว่า จะเพิ่มความเสี่ยงของการที่อาจจะไม่ได้ลาปลอดการสอนทีทำเรืองไว้ หรือจะลาออก ก็อาจจะไม่ได้ คือเสี่ยงต่อการถูกไล่ออก และไม่ได้บำเหน็จอยู่เหมือนกัน แต่นี่เป็นอะไรที่ผมยอมเสี่ยงอยู่ เพราะทนกับการเห็น "ทมิฬมาร ครองเมือง" โดยไม่พูดอะไรไม่ได้ (สำหรับท่านที่สงสัยและอาจจะไม่ทันได้อ่านตอนผมเริ่มกลับมาเขียน ทีผมเงียบไปจนถึงจุดนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องกลัวถูกไล่ออกหรืออะไร แต่ดังทีผมเคยอธิบายไปว่า เป็นเวลาหลายเดือน ผมต้อง "ระเหเร่ร่อน" อยู่ในที่ที่ผมไม่สามารถจะเขียนอะไรได้อย่างเป็นอิสระเต็มที่ จนกระทั่งผมเพิ่งได้ในมาอยู่ในที่ที่อยู่ตอนนี้ ก่อนหน้าทีผมจะกลับมาเขียนได้ไม่นาน)

..



ผมรักธรรมศาสตร์มาก แต่ผมเป็นคนประเภทที่ ในเรื่องความรัก ไม่ว่าต่อคน หรือสถานที่ หรืออะไรตาม ผมไม่ชอบพูด ไม่ชอบป่าวประกาศฟูมฟาย

ผมรักทีนี่ ไมใช่เพราะที่นี่เป็นไปตามคำขวัญทีรู้จักกันดี ("ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉัน...") แม้ว่า ถ้าพูดในแง่ส่วนตัว ผมเริ่มรู้จัก "ประชาชน" รู้จัก "ประชาธิปไตย" รู้จัก "เสรีภาพ" "ความเป็นธรรม" ที่ธรรมศาสตร์จริงๆ

ผมรักที่นี่ ก่อนอื่น เพราะผมโตมากับทีนี่ ทั้งในแง่อายุ และในแง่การเมือง ตั้งแต่อายุ ๑๕ เมื่อผมมาธรรมศาสตร์เป็นครั้งแรกในชีวิต มาร่วมชุมนุมขับไล่ถนอม-ประภาส ในเหตุการณ์ "๑๔ ตุลา" - เรียกว่า "มาธรรมศาสตร์" ครั้งแรก ก็มากินอยู่หลับนอนในมหาวิทยาลัย กลางสนามฟุตบอล ติดต่อกันหลายวันหลายคืน

หลังเหตุการณ์นั้น ผมก็แวะเวียนมาธรรมศาสตร์ เรียกว่า แทบทุกสัปดาห์ เพราะตอนนั้น มีการชุมนุม มีนิทรรศการ มีการเคลื่อนไหวต่างๆ แทบทุกสัปดาห์จริงๆ จนผมรู้จักทุกซองทุกมุมในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ผมมานอนค้างคืนในการชุมนุมต่างๆอีกนับครั้งไม่ถ้วน ช่วงนึง แม้จะไม่มีการชุมนุม แต่พวกอันธพาลการเมือง บางครั้ง ก็คอยมาก่อกวน (เผาบอร์ดหน้ารั้วมหาวิทยาลัย เป็นต้น) จำได้ว่า มีอยู่ครั้งนึง พวกเรานักทำกิจกรรมรวมทั้งผม เลยจับกลุ่ม นอนค้างคืน ทำหน้าที่ "ยาม" หรือการ์ด คอยเฝ้ามหาวิทยาลัยด้วย

ในปี ๑๘ ตอนทีกระทิงแดง นำนักเรียนอาชีวะมาบุกเผาทำลายมหาวิทยาลัย ผมยืนดูอยู่ที่สนามหลวง ร้องไห้เงียบๆไปด้วย แม้ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ (ภาพประกอบกระทู้ มาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น)

หลังผมจบปริญญาเอก ตอนแรก ผมจงใจเลือกทีจะไปเป็นอาจารย์ที่อื่น เพราะ "เมมโมรี่" หรือความทรงจำที่ธรรมศาสตร์มันมากเกินไป ขณะที่สภาพสังคมโดยรวมและในธรรมศาสตร์เองมันเปลี่ยนไปมากแล้ว ความรู้สึกขัดกันระหว่าง "เมมโมรี่" ของอดีต กับความจริงในปัจจุบัน มันรู้สึกมากเกินไป ..

แต่ในทีสุด ผมก็กลับมาที่ธรรมศาสตร์จนได้ บอกตรงๆว่า เพราะรู้สึกอึดอัดกับที่อืน

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความจริงที่ต้องยอมรับคือ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตแบบปัญญาชน ไม่ว่าจะสำหรับอาจารย์หรือนักศึกษา มากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นี่ มี "ประเพณี" หรือระเบียบกฎเกณฑ์โบราณๆอะไรน้อยกว่าที่อื่นๆ ไม่มีตราพระก้งกระเกี้ยว พระพิรุณ พระพิฆเณศ หรือพระอะไรก็แล้วแต่ ให้ต้องคอยพูดถึงด้วยความเคารพนบนอบ ("ธรรมจักร" ของ มธ นี่ ไม่ค่อยมีใคร "อิน" แบบนั้น "ยอดโดม" คนก็ไม่ได้รู้สึกในทางสิ่งเคารพศักดิ์สิทธิ์อะไร)

และสำหรับอาจารย์หรือนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ แล้ว ทีนี่ยังได้เปรียบกว่าที่อื่น ในแง่ห้องสมุด (จุฬาที่รวยกว่าเยอะ ห้องสมุดทางสังคมศาสตร์ ยังด้อยกว่ามาก) และที่สำคัญอีกอย่างคือ ธรรมศาสตร์เป็นที่รวมของบรรดาอาจารย์สายนี้ระดับนำๆอยู่เยอะ ตั้งแต่ปีแรกๆที่มาอยู่ ผมเคยบอกนักศึกษาที่สนใจจะเป็นอาจารย์ว่า ถ้าคิดจะเป็นอาจารย์สายสังคมศาสตร์ อยู่ธรรมศาสตร์น่าจะดีทีสุด อย่างหนึ่งคือทีนี่มีคนอย่าง ชาญวิทย์ รังสรรค์ ชัยวัฒน์ เกษียร อเนก ธเนศ นครินทร์ ปริตตา สมบัติ ชูศักดิ์ ธเนศ วงศ์ ฯลฯ ฯลฯ คืออาจารย์เหล่านี้ ไม่ว่าผมจะไม่เห็นด้วยทั้งในแง่วิชาการหรือการเมืองอย่างไร แต่ผมชอบที่จะอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัยที่มีคนเหล่านี้ มันมีบรรยากาศที่คอย "กระตุ้นสมอง" ทำให้คุณต้องคอยพัฒนาความคิดตัวเองตลอดเวลา ... นี่คือหลายปีก่อนการปรากฏตัวของ วรเจตน์ ปิยบุตร และคณะนิติราษฎร์ หลังการปรากฏตัวของกลุ่มนี้ ซึ่งได้เปลี่ยน "แลนด์ซะเคป" หรือ "ภูมิทัศน์" ของนิติศาสตร์ไปอย่างมหาศาล (จนทุกวันนี้ยากจะจินตนาการว่า ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ นิติศาสตร์จะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆแบบนี้ได้) ก็ยิ่งทำให้มีบรรยากาศที่น่าทำงานเป็นอาจารย์มาก

ผมคิดว่าปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ (การมีประเพณีโบราณๆน้อย, มีห้องสมุดดี มีอาจารย์นักวิชาการที่เสนออะไรใหม่ๆน่าสนใจเยอะ ฯลฯ) มีส่วนทำให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ในสายที่เรียนสังคมศาสตร์ มีโอกาสเป็นอิสระทางความคิดจากกรอบคิดประเพณีโบราณๆได้ง่ายกว่า มีโอกาสกล้าแสดงออกได้มากกว่า (แน่นอน โอกาสหรือความเป็นไปได้นี้จะแปลเป็นการตื่นตัวจริงๆหรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับสภาพการณ์อีกหลายอย่าง)

สรุปแล้ว ผมจึงชอบทีนี่ รักที่นี่ และเสียดายที่ไม่ได้อยู่จนครบเกษียณอายุ เสียดายที่ไม่ได้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ให้นักศึกษาอีกสัก ๒-๓ รุ่น .. ในช่วงวิกฤติการเมืองเกือบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า มีนักศึกษามากขึ้นๆ หันมาสนใจที่จะศึกษาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างมีเหตุมีผล เปิดใจกว้างมากขึ้น ...

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar