fredag 28 augusti 2015

ร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ ..เพื่อสานต่อนโยบายแช่แข็งประเทศไทยให้สำเร็จ....

ซ่อน รธน.2 ฉบับทับซ้อน


**คอลัมน์ ใบตองแห้ง**


ร่างรัฐธรรมนูญที่ 36 อรหันต์ยอมรับเองว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย" เป็นเพียงแค่ระยะ "เปลี่ยนผ่าน" ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจเหนือรัฐสภาและรัฐบาล 5 ปีเท่านั้นไหม
ไม่ใช่เลยครับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเหมือนหอมหัวใหญ่ ปอกกี่ชั้นก็ยังน้ำตาไหล ไม่เจอประชาธิปไตย เจอแต่ยาฆ่าแมลง ชักแหง็กๆ จนชั้นสุดท้าย
 
คปป.ตั้ง ไว้ขี่คอรัฐสภาและรัฐบาลโดยตรง แต่เมื่อพ้น 5 ปีก็ยังมีอำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้งขี่คอทางอ้อม พูดง่ายๆ ว่าเมื่อพ้นระยะอำนาจพิเศษ เราก็จะกลับไปสู่รัฐธรรมนูญที่คล้ายๆ แต่แย่กว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เพราะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ มีอำนาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
บางคนมองว่าดีที่ตรวจสอบนักการ เมืองเข้มข้น คุณไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยว่าอำนาจต่างๆ ต้องถ่วงดุลกัน ต้องตรวจสอบกันได้ เช่น ตุลาการเอาผิดนักการเมืองได้ แต่นักการเมืองและประชาชนเอาผิดตุลาการที่เบี่ยงเบนความยุติธรรมได้ไหม ไม่ยักมีใครพูดถึง
 
ศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2550 สถาปนาตนเป็นอำนาจที่อยู่เหนือการถ่วงดุล ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยิ่งให้อำนาจขึ้นไปอีก เพราะต่อไปถ้ามีใครก่อวิกฤตก่อม็อบปิดเมืองเรียกร้อง "มาตรา 7" ก็ศาลรัฐธรรมนูญนี่แหละจะมาใช้อำนาจ "มาตรา 7" ซึ่งกว้างใหญ่ไม่มีจำกัด
ไม่เท่านั้นนะครับ ถ้ารัฐสภาถ้าประชาชนต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจชี้ขาดว่าแก้ได้หรือไม่ได้ ต้องทำประชามติหรือไม่ต้องทำ เป็นอำนาจปิดหัวปิดท้ายในตัว
 
วุฒิสภา 200 คน มาจากสรรหา 123 คน มากกว่าปี 50 ซ้ำบทเฉพาะกาลให้สรรหาโดยรัฐบาล คสช. นั่งเก้าอี้ชั่วคราว 3 ปี แล้วยังมีสิทธิค้างคืนต่อ บางคนที่เป็น สนช.มาตั้งแต่ปี 49 เป็น สว.สรรหา เป็น สนช.เป็น สปช. ก็สามารถสวมเก้าอี้ผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่ต้องเลือกตั้งไปอีก 8 ปี
ส.ว.200 คนมีอำนาจร่วมกับ ส.ส.450 คนถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง แปลว่าฝ่ายค้าน 200 คนจับมือ ส.ว.125 คนก็ ล้มรัฐบาลได้ เผลอๆ นายกฯ ที่ถูกถอดถอนจะโดนตัดสิทธิตลอดชีวิต ทั้งที่เป็นการลงมติทางการเมืองไม่ใช่คำพิพากษาของศาล
ขณะที่คนจำนวนมากมุ่งวิพากษ์ คปป. กรรมาธิการก็ยังยัดไส้อีกหลายประเด็นในการแก้ไขครั้งสุดท้าย (แต่ไม่สุดท้ายจริงหรอก ต้องดูหลังผ่านประชามติ เผลอๆ จะอุบไต๋ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก)
ประเด็นหนึ่งคือ ที่มาองค์กรอิสระ กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 216 ร่างแรกมี 11 คน ฉบับนี้เปลี่ยนเป็น 7 คน กรรมการสรรหา กกต.ตามมาตรา 246 ร่างแรกมี 12 คนเปลี่ยนเป็น 7 คน องค์ประกอบหลักยังคงเดิมคือฝ่ายศาล 2 คน รัฐบาลฝ่ายค้านฝ่ายละ 1 คน อธิการบดี 1 คน แต่ตัด "สมัชชาคุณธรรม" ออกไป แล้วให้ประธานหรือกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันมาแทน คนที่ 7 เปลี่ยนไปตามองค์กร เช่นสรรหา กกต.ให้โควตาประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัด สรรหา ป.ป.ช.ให้โควตาศาลฎีกา สรรหาผู้ตรวจฯ ให้โควตาปลัดกระทรวง
ยิ่งกว่านั้น มาตรา 217 วรรคสี่ มาตรา 247 วรรค 5 ยังย้อนไปก๊อบรัฐธรรมนูญ 2550 ให้อำนาจกรรมการสรรหาเหนือวุฒิสภา คือถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบแต่กรรมการสรรหามีมติเอกฉันท์ ก็ต้องนำชื่อทูลเกล้าฯ บทบัญญัตินี้ในร่างแรกไม่มี
ฮาดีนะครับ ประเทศไทยไม่กลัว "ทุนสามานย์" แล้ว เราไม่เอา "สมัชชาคุณธรรม" แต่ให้หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร มาสรรหา กกต. ป.ป.ช. คตง.แทน
 
ขณะเดียวกันยังน่าสังเกตว่าในโควต้าอธิการบดี จากเดิมเขียนว่า "เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา" ก็เปลี่ยนมาเป็น "เลือกโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย" ต่างกันนะครับ เพราะถ้าหมายถึง ทปอ.ที่เป่าปี๊ดๆ จนได้เป็น สนช.กันถ้วนหน้า ก็แปลว่าอธิการบดีสถาบันราชภัฏและ ราชมงคลทั่วประเทศถูกจัดเป็นอธิการเกรดบี ไม่มีโควตา
ในบทเฉพาะกาล ตอนอ่านร่างแรกผมตั้งปุจฉาว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คสช.จะอยู่ในสถานะอะไร มาตรา 278 วรรคสองเพิ่มคำตอบให้ชัด คือ คสช.ยังอยู่จนกว่าจะมี ครม.ใหม่ โดยให้คงมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว
นี่แปลว่าอะไร แปลว่ารัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพโน่นนี่สวยหรู ประกาศออกมาก็เพียงแขวนให้ดู เพราะยังอยู่ใต้ ม.44 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ต้นปี 60 โน้น
บทบัญญัติท่อนนี้ บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่มีนะครับ นี่แปลว่าประเทศไทยจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนไม่ว่ารัฐประหารครั้งไหน รัฐธรรมนูญถาวรประกาศใช้แต่ไม่มีผลบังคับ ต้องอยู่ใต้ร่มรัฐธรรมนูญชั่วคราวจนกว่า คสช.จะออกไป

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar