fredag 13 februari 2015

ข่าวต่างประเทศ เจรจาตกลงกันได้เรื่องปัญหา "วิกฤตยูเครน " ระหว่าง ผู้นำรัสเซีย กับ กลุ่มผู้นำอียู เป็นเกมการเมืองที่น่าสนใจติดตามดูว่าข้อตกลงใหม่นี้จะบังคับใช้ได้ผลจริงจังแค่ไหน "วิกฤตยูเครน " ครั้งนี้... นับเป็นศึกการแย่งชิงจุดยุทธศาสตร์ต้องการเข้าควบคุมผลประโชน์และทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาลเป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้ระหว่างมหาอำนาจโลกตะวันตกและมหาอำนาจรัสเซีย โดยใช้ยูเครนเป็นสนามรบประเทศถูกทำลายเสียหายผู้คนบาดเจ็บล้มตาย..เศรษฐกิจพังพินาศ ใครได้ใครเสีย?.พวกอำมาตย์เผด็จการทรราชควรศึกษาดูเป็นตัวอย่างบทเรียนราคาแพงที่ไม่สมควรให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย..

วิกฤตยูเครน – ใครได้ใครเสียจากข้อตกลงที่กรุงมินสก์
บริดเจต เคนดัลล์ ผู้สื่อข่าวสายการทูตของบีบีซีบอกว่ามองคร่าว ๆ จะเห็นได้ว่าฝ่ายกบฏกับรัสเซียได้ประโยชน์จากข้อตกลง แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว จะเป็นฝ่ายยูเครนที่ได้เปรียบ
ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ผู้นำยูเครนยอมรับว่าข้อเสนอหลายข้อของยูเครนถูกปัด เช่น ให้หยุดยิงทันที การหยุดยิงจะมีผลบังคับจริง ๆ หลังเที่ยงคืนวันเสาร์ เรื่องให้มีการรับปากเป็นมั่นเหมาะว่าจะต้องมีการถอนกองกำลังต่างชาติทั้งหมดออกไปจากยูเครนตะวันออก ผู้สื่อข่าวตั้งค...ำถามว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินจะรู้สึกว่าจะต้องทำตามหรือไม่ เพราะเขายืนกรานมาตลอดว่าไม่มีทหารหรืออาวุธจากรัสเซียอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนข้อเสนอสำคัญอีกข้อที่ให้ยูเครนเข้าควบคุมดูแลพรมแดนด้านที่ติดกับรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธจากรัสเซียทะลักเข้าไปยังยูเครน ก็จะไม่บังคับใช้ทันทีจนกว่าถึงสิ้นปีนี้ นอกจากนั้นข้อเสนอนี้จะบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการทำตามเงื่อนไขบางข้อแล้วเท่านั้น หนึ่งในเงื่อนไขดังกล่าวรวมถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ของยูเครน ซึ่งจะเอื้อให้พื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏทางตะวันออกของยูเครนสามารถจัดตั้งกำลังตำรวจ แต่งตั้งผู้พิพากษาและดูแลเรื่องการค้าขายข้ามพรมแดนกับรัสเซีย
ผู้สื่อข่าวบอกว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในระยะยาวยูเครนอาจได้เปรียบว่าในแง่ยุทธศาสตร์ เพราะท้ายที่สุดพื้นที่ในขณะนี้ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายกบฏจะต้องกลับมาอยู่ในการปกครองของยูเครน ในตอนนี้รัสเซียพยายามผลักดันให้ยูเครนเข้ามารับผิดชอบเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้น เพื่อว่าชาวเมืองในพื้นที่ของฝ่ายกบฏจะได้ไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากทางรัสเซีย
ผู้สื่อข่าวมองว่าเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของรัสเซียในขณะนี้ ปธน. ปูตินจึงได้คิดวางแผนไว้แล้วว่ารัสเซียไม่ต้องการแบกภาระรับผิดชอบภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนั้นผู้นำรัสเซียอาจเล็งว่าจำเป็นที่จะปล่อยให้ภูมิภาคที่มีคนพูดภาษารัสเซีย อยู่ในยูเครนต่อไป ทั้งนี้เพื่อคานอำนาจการเมืองในยูเครน
การที่ยูเครนยอมเข้ามารับผิดชอบด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว เท่ากับเปิดโอกาสให้ยูเครนได้แสดงบทบาทใหม่ของตน วิธีนี้อาจชนะใจคนในพื้นที่ดังกล่าวและทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นชาวยูเครนได้มากขึ้น เพราะเห็นว่ารัฐบาลยูเครนเป็นฝ่ายหยิบยื่นสวัสดิการให้ มากกว่าใช้กำลังเข้าห้ำหั่นประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว และใครจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่หลังการเลือกตั้ง และจะยังเป็นผู้นำที่ภักดีกับรัฐบาลที่กรุงมอสโกหรือไม่
เรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ต้องจับตาดูว่าข้อตกลงใหม่นี้จะบังคับใช้ได้ผลจริงจังแค่ไหน โดยนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา การสู้รบรุนแรงและขยายวงเพิ่มขึ้น คนในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฎรู้สึกห่างเหินไปจากรัฐบาลที่กรุงเคียฟมากขึ้น ในแง่ระหว่างประเทศความบาดหมางระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกมีเพิ่มมากขึ้น จนถึงจุดที่ปธน. สหรัฐฯ เริ่มพิจารณาเรื่องส่งอาวุธไปให้กับยูเครน ทั้งหมดนี้ทำให้หลายฝ่ายเห็นถึงความเร่งด่วนและความรู้สึกหมดหวัง จนทำให้ผู้นำฝรั่งเศสกับเยอรมนีพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยใช้แนวทางทางการทูต ผลักดันให้ปธน. โปโรเชนโกและปธน. ปูติน ยอมเดินทางไปกรุงมินสก์ เพื่อร่วมประชุม ทำให้ผู้นำทั้งสี่ยอมนั่งลงคุยกันแบบมาราธอนหลายชั่วโมง และได้ผลออกมาเป็นข้อตกลงหยุดยิง นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของสันติภาพ หากฝ่ายที่ร่วมในการเจรจาไม่ทำตามข้อตกลง สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น
ดูเพิ่มเติม


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar