torsdag 6 augusti 2015

ข่าว prachachat



ฝนตก  ฝนแล้ง น้ำในเขื่อน  การเกษตร ผลผลิต เศรษฐกิจชาติ



โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เดือนกรกฎาคมควรจะเป็นเดือนที่ฝนเริ่มตกแล้ว เพราะเป็นเดือนที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือจะพัดเอาฝนจากทะเลอันดามันมาตกใน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ชาวนาก็จะเริ่มไถหว่านปักดำทำนากัน
แต่ปีนี้ทั้งเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน มาจนถึงเดือนกรกฎาคม ฝนฟ้าวิปริต เกิดความแห้งแล้งไปทั่วทั้งประเทศ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งเขื่อนอื่นๆ ภาพที่ออกมาในจอโทรทัศน์เป็นภาพของความแห้งแล้ง หดหู่ ดินแตกระแหง น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งเห็นภาพชาวนาพากันดิ้นรน เอาเครื่องสูบน้ำนับร้อยนับพันเครื่องมาจุ่มลงในบ่อกักน้ำ เพื่อดูดน้ำจากคลองส่งน้ำเล็กๆ เอาน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่เริ่มออกรวงตั้งท้องแล้ว ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อมีข่าวว่าฝนจากมรสุม จากทะเลอันดามันพัดผ่านพม่า นำฝนไปตกที่พม่าจนพม่าเกิดน้ำท่วม และพัดพาเอาฝนมาตกที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนติดต่อกัน 3 วัน 4 คืน จนมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวและพืชผลอย่างอื่นให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเขียวขจีไปทั่ว

นอกจากข้าวในท้องนาจะฟื้นคืนจากภัยฝนแล้งแล้วบรรดาพืชไร่อย่างอื่น เป็นต้นว่าข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และอื่นๆ ก็รอดจากภัยแล้งที่วิกฤตที่สุดในรอบ 100 ปีได้

ข่าวเรื่องการแย่งน้ำกันเองระหว่างชาวนากับชาวนา ระหว่างพื้นที่เพื่อเกษตรกรรมกับพื้นที่ในเมืองก็พลอยหายไปด้วย เข้าใจว่าวิกฤตการณ์ฝนแล้งปีนี้คงจะผ่านพ้นไปได้อย่างหวุดหวิด เพราะถ้าฝนไม่มา ฝนไม่ตก อีกสักสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ วิกฤตการณ์ก็คงจะเกิดขึ้นแน่ และอาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาการเมืองก็ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฝนมรสุมใหญ่จะมาแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน น้ำในอ่างคงจะไม่แห้งลงไปอีกแม้ว่าทางกรมชลประทานจะยังต้องจ่ายน้ำลงมาท้ายเขื่อนอยู่ทุกวัน แต่ก็น่าจะเบาใจได้ว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนให้ทางกรมชลประทานสามารถส่งน้ำลงมาไล่น้ำเค็ม สามารถส่งน้ำลงมาทำน้ำประปาให้คนกรุงอุปโภคบริโภคได้ ไม่ต้องอุปโภคบริโภคน้ำกร่อยอย่างที่เกรงกลัวกัน

วิกฤตการณ์น้ำแล้งครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า อะไรหลายอย่างที่บรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายเคยโหมรณรงค์โจมตีการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานทั้งหลายว่าไม่มีความจำเป็นเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เราสามารถอยู่กันได้แบบที่ปู่ย่าตายายเราเคยอยู่กันเมื่อ 100 ปีที่แล้ว

ก็ต้องดูกันด้วยว่า เรามีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคนเมื่อตอนที่รัฐบาลตัดสินใจสร้างเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยา พอสมัยที่สร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพลเรามีประชากรประมาณ 18 ล้านคน บัดนี้ เรามีประชากรถึง 67 ล้านคน เราเคยส่งข้าวออกเพียง 1-2 ล้านตัน บัดนี้ เราส่งข้าวออกปีละกว่า 10 ล้านตัน ส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น น้ำตาลทราย มันสำปะหลัง กุ้ง ไก่ ปลา สุกร ซึ่งใช้อาหารสัตว์ที่ผลิตจากข้าวโพด จากพืชอื่นๆ จากภาคเกษตรกรรม จึงเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าเราไม่มีน้ำสำหรับระบบชลประทาน เราก็มีน้ำไม่พอที่จะใช้หล่อเลี้ยงภาคเกษตรกรรมของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคกลางและภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบชลประทานราษฎร์ ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยท่านขุนเม็งรายมหาราช

ภัยพิบัติจากน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตั้งแต่ท้ายเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เช่น จังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี เรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกก็ลดลงอย่างมาก จากที่เคยเป็นพื้นที่น้ำหลากในสมัยหน้าน้ำ ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือป้องกันข้าศึกไม่ให้ล้อมกรุงได้เกินกว่า 1 ปี เพราะข้าศึกต้องเลิกทัพกลับไปเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง การสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนขุนด่านปราการชลก็ช่วยลดภัยพิบัติจากน้ำท่วมในหน้าน้ำได้

แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือเขื่อนต่างๆ สามารถชะลอน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ โดยการเก็บน้ำไว้ในอ่างเหนือเขื่อน แล้วปล่อยออกมาให้ใช้ได้ในฤดูแล้ง เราจึงสามารถทำนาได้ 2 ครั้งต่อปี หรือ 5 ครั้งต่อ 2 ปี สามารถปลูกอ้อยได้ทั้งปี ที่สำคัญคือ สามารถมีน้ำไว้ยันน้ำทะเลหนุนได้ในหน้าแล้ง มิฉะนั้นชาวเมือง ชาวสวนรอบๆ เมืองหลวงก็คงจะเดือดร้อนจากภัยน้ำกร่อยที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนได้อีก

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีการก่อสร้างเขื่อนใหญ่ๆ เหล่านี้ไว้เลย เราก็คงจะเห็นน้ำท่วม น้ำหลาก และอุทกภัยในเมืองหลวงบ่อยขึ้นและรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในหน้าแล้ง ถ้าหากไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้เลย หน้าแล้งทุกปีก็คงจะมีสภาพแห้งแล้ง ไม่มีน้ำอย่างภาพที่เห็น ซึ่งเป็นภาพที่น่าสลดใจ จึงมีคำพูดที่เคยพูดมานานว่า "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง" ความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม แม้จะมีแต่ก็จะไม่น่ากลัวเท่ากับภัยจากความแห้งแล้ง ภัยจากการขาดน้ำ

เขื่อนแก่งเสือเต้นที่แม่น้ำยมควรจะได้รับการยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้แล้ว เพราะยังเหลืออยู่อีกเขื่อนเดียวสำหรับระบบแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา

ภัยจากน้ำท่วมและไม่มีน้ำในฤดูแล้งของที่ราบลุ่มสุโขทัย ซึ่งทำความเสียหายทุกปีในหน้าน้ำและในฤดูแล้งที่แห้งแล้งจนเพาะปลูกไม่ได้ ภัยที่ยังไม่ได้แก้ไขเพราะติดขัดอยู่กับการประท้วงของกลุ่มเอ็นจีโอ
การประท้วงคัดค้านติติงนั้นก็นับว่าเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้ทางการที่รับผิดชอบได้ศึกษาหาทางเลือกที่ดีที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด แต่การประท้วงคัดค้านไม่ให้โครงการพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุผลสิ่งแวดล้อมนั้นที่จะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่น่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เพราะประชากรของสังคมเพิ่ม สังคมต้องมีการพัฒนา ต้องการผลผลิตเพิ่ม และความต้องการบริโภคมากขึ้น หากทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ทุกอย่างก็หยุด พอผ่านวันเวลานานไปแล้วต้องจัดหาด้วยต้นทุนที่แพงขึ้นจะเป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือ

สิ่งแวดล้อมนั้นน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้สามารถที่จะดัดแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ที่ดินที่เคยเป็นทะเลก็สามารถปิดกั้นเป็นผืนดินได้ พัฒนาผืนดินเพื่อสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ได้ หรือทำการเกษตรอย่างที่เคยทำกันในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ หรือที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อเร็วๆ นี้

การที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ผู้คนก็เข้าใจว่ารัฐบาลคงจะมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพมั่นคงเพียงพอที่จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ได้ ให้ความเชื่อมั่นกับผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายได้อย่างเหมาะสม รัฐบาลทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้จะอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้ทันกาล

สำหรับเรื่องเงินทุนนั้นประเทศเราก็มีเพียงพอแน่นอนเพราะการเกินดุลระหว่างเงินออมกับเงินลงทุนที่ต่อเนื่องมานาน สังเกตได้จากการที่ประเทศเราลงทุนน้อยกว่าเงินออมมาตั้งแต่ปี 2541 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาตลอดเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว มีเงินออมสะสมในระบบเป็นจำนวนมากกว่า 6-7 ล้านล้านบาท รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรระดมเงินทุนจากประชาชนได้โดยไม่ต้องกู้จากต่างประเทศเลย

เรื่องรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถนนทางหลวง โครงการทั้งหลายสามารถกู้เงินบาทจากประชาชนได้โดยไม่เสียวินัยการคลังเลย อีกทั้งไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ต่างประเทศ ดอกเบี้ยที่จ่ายให้ประชาชนที่ถือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจหรือรัฐบาลก็ตกเป็นรายได้ของคนไทย อยู่ในประเทศไทย ไม่มีรั่วไหลไปไหน

อย่าใจอ่อนเหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

คลิกดูเพิ่ม-prachachat

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar