tisdag 15 september 2015

คอนเนกชั่น "ธุรกิจ-การเมือง" ครอบงำ "เอเชียอาคเนย์"




คลิกอ่าน-คอนเนกชั่น "ธุรกิจ-การเมือง" ครอบงำ "เอเชียอาคเนย์"

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ Asean Secret โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักธุรกิจคือกลุ่มบุคคลที่มีความมั่งคั่ง จนสามารถแปลงพลังเศรษฐกิจให้กลายเป็นฐานอำนาจทางการเมือง โดยความโดดเด่นของชนชั้นนำธุรกิจ (Business Elites) อยู่ที่ความสามารถในการสะสมระดมทุนทรัพย์และความต่อเนื่องของสายงานธุรกิจที่มักส่งไม้ต่อให้ทายาท

ขณะเดียวกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับการเมือง ได้ส่งผลให้นักธุรกิจเข้ามาสานสัมพันธ์กับบรรดานักการเมืองมากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักธุรกิจมีบทบาททางการเมืองผ่านกลยุทธ์อันหลากหลาย และขณะที่รัฐเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นักธุรกิจจึงเป็นกลุ่มอำนาจที่น่าจับตามองทั้งในบริบทการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ

ในกรณีรัฐไทย ได้ปรากฏกลุ่มเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ที่แตกแขนงออกเป็นขั้วอำนาจต่าง ๆ โดยอาจจำแนกประเภทได้ตามลักษณะของธุรกิจ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างเครืออิตัลไทย ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษเพื่อเข้าไปลงทุนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย หรือกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคที่แตกออกเป็นหลายกลุ่มย่อย อาทิ กลุ่มโชควัฒนา-ดารกานนท์ ซึ่งเน้นหนักทางด้านเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ยางรถยนต์ กลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ ที่โดดเด่นทางด้านปศุสัตว์ การผลิตอาหาร และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล เช่น กลุ่มมิตรผล และกลุ่มไทยรุ่งเรือง 


โดยกลุ่มนักธุรกิจที่กล่าวไปล้วนเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ดังเห็นได้จากโครงสร้างพรรคการเมือง อย่างพรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม ที่สมาชิกพรรคส่วนหนึ่งล้วนมีภูมิหลังมาจากแวดวงธุรกิจ

ในกรณีฟิลิปปินส์ หลังจากได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา พบเห็นชนชั้นนำธุรกิจที่มีพลังในการผูกขาดธุรกิจการเมืองและการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐีที่ทำการค้ากับบรรษัทข้ามชาติ จนได้กำไรงดงามพร้อมกลายสภาพเป็นกลุ่มตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง เช่น ตระกูลโลเปซ โคฮองโก มาร์กอส โรมวลเดซ และอายาลา

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจการเมืองฟิลิปปินส์ คือ การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดี ซึ่งมีทั้งส่วนที่ช่วยกระตุ้นผลประโยชน์และบั่นทอนรายได้ในหมู่นักธุรกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประธานาธิบดีรามอสที่ไปกระทบเครือข่ายธุรกิจของตระกูลเก่าแก่

โดยนายรามอสได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายอื่นสามารถดำเนินกิจการแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มตระกูลเก่าแก่ รวมถึงมีการเพิ่มระดับการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถึงแม้จะทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริการสังคม แต่ก็ทำให้ระดับการแข่งขันระหว่างเศรษฐีหน้าเก่ากับเศรษฐีหน้าใหม่ มีความเข้มข้นรุนแรงมากขึ้น

ในกรณีของรัฐอินโดจีนอย่างเวียดนาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการฟื้นฟูประเทศหลังความบอบช้ำในยุคสงครามเย็น และการกระตุ้นแผนพัฒนาประเทศ ได้ทำให้ชนชั้นนำธุรกิจเริ่มขยายสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนักลงทุนต่างชาติ จนในบางครั้งบรรษัทเอกชนต่างชาติกลับมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมือง

ขณะเดียวกัน ชนชั้นนำรุ่นเก่าในเวียดนามได้ทยอยเปิดรับสมาชิกพรรคที่เป็นคนหนุ่มหัวก้าวหน้า หรือมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทุนนิยม เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนนักธุรกิจข้ามชาติจากไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐ ต่างเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปรับแผงอำนาจระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอนไปทางโลกทุนนิยมมากขึ้น

ในเมียนมายุครัฐบาลทหาร ตาน ฉ่วย นักธุรกิจได้เข้าไปพัวพันในฐานอำนาจของชนชั้นนำทหาร ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ มหาเศรษฐี เทย์ ซา (Tay Za) ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในบรรดาเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจของนายพลตาน ฉ่วย โดยเทย์ ซา ได้ควบคุมเส้นทางการบินภายในประเทศผ่านบริษัทแอร์บากาน รวมถึงใช้ฐานเครือข่ายจากบริษัทจัดหาเครื่องบินทหาร สร้างสายสัมพันธ์กับผู้บัญชาการทหารระดับสูง พร้อมเป็นตัวแทนจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเมียนมา

นอกจากนั้น เทย์ ซา ยังมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนเพื่อก่อสร้างกรุงเนย์ปิดอว์ ซึ่งถูกเนรมิตขึ้นในสมัยรัฐบาลตาน ฉ่วย ส่วนในยุคปฏิรูปประเทศหลังระบอบทหาร ทั้งนักการเมือง ทหาร และนักธุรกิจเมียนมา ได้ขยายฐานอำนาจทางการเมืองการค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกระชับความสัมพันธ์กับนายทุนต่างชาติเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังเห็นได้จากการถือครองส่วนแบ่งในสัมปทานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่รัฐยะไข่ และการกระจายโควตาการลงทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจญี่ปุ่นในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

จากการศึกษาตัวอย่างชนชั้นนำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนภาพกลุ่มอำนาจที่มีบทบาททั้งหน้าฉากและหลักฉากในม่านละครการเมือง โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างนักธุรกิจกับนักการเมือง หรือสมรรถนะในการระดมทุน สะสมทรัพย์สินและการแผ่ขยายกิจการในระดับภูมิภาคของนักธุรกิจ ได้ทำให้กลุ่มเศรษฐีแถวหน้าในเอเชียอาคเนย์ประสบความสำเร็จในการสร้างอาณาจักรขนาดใหญ่ ซึ่งมิได้มีอิทธิพลจำกัดอยู่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง หากแต่ยังมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน

โดยเฉพาะในยุคเออีซีที่เต็มไปด้วยการสร้างอาณาจักรธุรกิจการเมืองอันซับซ้อนท่ามกลางกระแสอาเซียนภิวัตน์


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar