måndag 15 augusti 2016

Jakrapob Penkair....วิเคราะห์ระเบิดป่วนเมือง ...ครั้งนี้ของใคร?

จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair
จักรภพวิเคราะห์ระเบิดป่วนเมือง (14 ส.ค. 59)
 เรื่องระเบิดป่วนเมือง คิดง่ายๆ แบบไม่ปัญญาอ่อน ก็น่าจะขบโจทย์ให้แตกได้โดยไม่ยากนัก:

โจทย์หลัก :
คนสำคัญบัดนี้เหลือแค่สายยางที่ต่อเชื่อมระหว่างชีวิตกับความตาย ถอดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น รอยแยกแห่งประวัติศาสตร์มาถึงแล้ว
ผู้เข้าชิงตำแหน่ง 2 คนใช้สไตล์ที่แตกต่างกัน คนหนึ่งอึดอยู่ใต้น้ำ ยึดแน่นกับพิธีกรรมและกิจกรรมตามประเพณี เพราะรู้ว่าอีกคนไม่มีทางเลือกและมีทางออกอย่างเดียวคือแหวกประเพณี คนที่สองจึงต้องปฏิบัติการ "กวนน้ำให้ขุ่น" โดยหวังให้เกิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับตนเอง เพราะไม่ทำอย่างนั้นก็จะเสียโอกาสทอง
การสั่งปฏิบัติการที่เอาชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนเข้าแลก ไม่เคยมาจากฝ่ายตัวแทนประชาชน เพราะถ้าเหี้ยมโหดขนาดนั้นจะมานั่งรอการเลือกตั้งอยู่หาพระแสงอันใด โจทย์นี้ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนครูบาศรีวิชัยมาจนถึงหลัง 6 ตุลา 19 ว่าในเมืองไทยมีขนาดนั้นอยู่ไม่กี่คน

โจทย์รอง
รัฐธรรมนูญถึงจะอัปลักษณ์แค่ไหน แต่ก็ตัองนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการฟื้นระบอบเสรีนิยมในบ้านเมือง ความกดดันเป็นของตระกูลที่นึกว่าตัวเป็นเจ้าของประเทศ และทหารที่ทำตัวเป็นแค่ยามเฝ้าบ้านของเจ้าของ ระเบิดจึงต้องมีเพื่อให้เป็นภาวะโกลาหล (chaos) หวังให้ก๊วนในกองทัพของตัวเองฉวยโอกาสดันตัวเองขึ้นก่อนโจทย์ใหญ่จะผันแปรไป

โจทย์ย่อย 1: เลือกพื้นที่ทำงานที่ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ โดยเฉพาะเขตที่คนแบบ สุเทพ เทือกสุบรรณ วางกุ๊ยเอาไว้เต็มพื้นที่ ถึงได้ออกมาเป็นจุดลงมือเหล่านั้น การทำงานในรูปแบบนี้ต้องอาศัยคนนับสิบ (อาจถึง 30 คน) ผู้เชี่ยวชาญที่เคยสอบสวนเรื่องเหล่านี้ได้วิเคราะห์ว่า งานแบบนี้ทำไม่ได้ถ้าไม่มีอิทธิพลในพื้นที่และความรู้จักพื้นที่อย่างช่ำชอง

โจทย์ย่อย 2: ทำปฏิบัติการเพื่อตรวจกำลังพลว่าใครอยู่ข้างใครในปัจจุบัน บรรยากาศแบบนี้มีการทรยศหักหลังได้หลายชั้น แปลว่าปฏิบัติการโกลาหลครั้งนี้ยังไม่จบ

โจทย์ย่อย 3: เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเคลื่อนไหววิจารณ์สหรัฐฯ ว่าเสียมารยาทที่วิจารณ์ไทย เจตนาอันแท้จริงไม่ใช่การวิจารณ์ แต่เป็นการตีกันเพื่อไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องในฉากต่อไป เรื่องนี้มิใช่ความกล้าหาญแบบเดวิด-โกไลแอธ แต่เป็นผลการคำนวณว่า สหรัฐฯ ในห้วงเลือกตั้งจะไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนัก จึงทำอหังการ์ได้โดยคาดว่าจะไม่มีผลสืบเนื่อง (consequences) มากนัก

โจทย์ย่อย 4: เลือกใช้พื้นที่ไทยมุสลิมในภาคใต้เพื่อหวังให้เครือข่ายสากลของมุสลิมสุด โต่ง (fundamentalism) เข้าแทรกตัวฉวยโอกาส กองทัพส่วนที่เล่นการเมืองจะได้ใช้โอกาสนี้เพิ่มงบประมาณอาวุธ เพิ่มคน และเพิ่มข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจทางการเมืองต่อไปอีก หรือจนกว่าโจทย์ใหญ่จะลงตัว อำนาจเก่าของไทยใช้เกมชักศึกเข้าบ้านแบบนึ้มานานนักหนาแล้ว

โจทย์ย่อย 5: ผ่อนเรื่องวัดพระธรรมกายลงไปก่อน หันกลับมาเล่นประเด็นตรงคือ กีดกันสมเด็จพระรัชมังคลาจารย์ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก เพราะเป็นวาระหลัก ขณะเดียวกันก็ดูโจทย์ใหญ่ไปด้วยว่าจะเอาอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องจะได้กะล่อนเลี้ยวลดหลบภัยได้ทันเวลา
ลำดับความมาแล้วอย่างนี้ ไม่ต้องเสียเวลาถามแล้วละมังว่าระเบิดครั้งนึ้ของใคร?

จักรภพ เพ็ญแข
14 สิงหาคม 2559

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar