måndag 26 oktober 2020

แก้ไขปัญหาวิกฤตชาติ!! ผ่าน.. รัฐสภาเผด็จการ รัฐบาลเผด็จการทรราชย์???

“คนที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปต้องได้ 366 เสียง ต่อให้ ส.ว. งดออกเสียงทั้งหมดดังที่หลายคนเรียกร้อง ก็เป็นเรื่องที่ต้องระดมหากันมาให้ได้ 366 เสียง ถ้าไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่าถ้าถึงทางตันตรงนั้นจะทำอย่างไร ถ้า ส.ว. ไม่ออกเสียงแม้แต่เสียงเดียว” นายวิษณุกล่าว

ประชุมรัฐสภา : ฝ่ายค้านกดดัน พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกตามข้อเรียกร้องกลุ่ม “ราษฎร” ขณะที่รัฐบาลแก้เกมกลับให้ตัดสินผ่านประชามติ

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ส.ส. ฝ่ายค้านเกือบทุกรายที่ลุกขึ้นอภิปรายกลางรัฐสภา ได้ "รับลูก" หนึ่งในข้อเสนอของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ด้วยการเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่รองนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาลขู่อาจพบทางตัน หากระดมเสียงในรัฐสภาได้ไม่ถึง 366 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เล็งแก้เกมกลับด้วยการโยนประชาชนตัดสินผ่านกลไกประชามติ

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นตามคำขอของรัฐบาลที่หวังลดแรงกดดันจากผู้ประท้วงบนท้องถนน และคาดหวังจะใช้สภา "หาทางออกให้แก่ประเทศ" ทว่า ส.ส. รัฐบาล และ ส.ว. บางส่วนได้ใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่เปิด "ซักฟอก" ผู้ประท้วงบนท้องถนน

กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย ได้แก่ 1) ให้นายกฯ ลาออก 2) เปิดสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของประชาชน และ 3) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตามกรอบในการอภิปรายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพราะมุ่งให้สมาชิกรัฐสภาอภิปราย 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชุมนุม 2) การขัดขวางขบวนเสด็จฯ เมื่อ 14 ต.ค. และ 3) การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. และ 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม บางเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่การชุมนุมบางแห่งมีการจาบจ้วง รัฐบาลจึงวิตกว่าอาจมีบางฝ่ายแอบแฝงเข้าไปในที่ชุมนุมเพื่อสร้างความปั่นป่วน

นายกฯ ชี้ "แม้ความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่เราก็ยังรักกันได้ตลอดไป"

ในระหว่างนำเสนอญัตติ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งว่า ตำรวจและรัฐบาลพยายามดูแลสถานการณ์ให้ดีที่สุด โดยใช้กฎหมายในลักษณะอะลุ้มอล่วยผ่อนผัน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามปราม ตักเตือนให้หยุดยั้ง และชี้แจงข้อกฎหมาย แต่การชุมนุมก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้การชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ แต่การใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ก็ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเช่นกัน พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไม่อยากให้เกิดการปะทะ หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ก็ต้องรักษาสิทธิของคนไทยเกือบ 70 ล้านคน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรียังฝากถึงผู้ชุมนุมด้วยว่า ต้องไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าและสังคมที่มีรากเหง้า ส่วนตัวรู้ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของโลกและโลกแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัล แต่ต้องยอมรับว่าคนไทยหลาย 10 ล้านคนไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวายสับสนอลหม่าน ทุกคนก็มีความเชื่อของตัวเอง ซึ่งเขาเห็นและเขาเชื่อของเขามาเป็นสิบ ๆ ปี ดังนั้นต้องหาความสมดุลอยางสร้างสรรค์

"แม้ความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่เราก็ยังรักกันได้ตลอดไป" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

ฝ่ายค้านรับลูกผู้ชุมนุม เรียกร้อง พล.อ. ประยุทธ์ลาออก

ขณะที่บรรดา ส.ส. ฝ่ายค้าน ต่างแสดงความผิดหวังต่อเนื้อหาที่ปรากฏในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐบาล เพราะมองว่าไม่สร้างสรรค์, มีแนวโน้มซ้ำเติมความแตกแยก, มีเนื้อหาบิดเบือนให้ร้ายผู้ชุมนุม โดยไม่คำนึงถึงความผิดพลาดของตัวเอง ใช้เวทีสภาฟอกขาวตัวเอง ฯลฯ

รถปราศรัยเคลื่อนที่ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 14 ต.ค.

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวว่า การบริหารจัดการของรัฐบาลจะนำพาไปสู่สถานการณ์รุนแรง และเป็นการ "ราดน้ำมันใส่กองไฟ" สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เข้าใจประชาชน ถึงเกิดกรณีสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. ซึ่งถือเป็นการใช้มาตรการก้าวกระโดด รุนแรง และเกินกว่าเหตุ จนถูกวิจารณ์จากสาธารณะว่า "เกิดจากความกลัวและความเกลียดชังประชาชน มากกว่าเอาใจใส่ต่อความปลอดภัยของประชาชน"

ผู้นำฝ่ายค้านในสภากล่าวต่อไปว่า การบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่คับแคบ มองตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นหัวประชาชน จึงใช้วิธีจัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม จับกุม คุมขัง

"นายกฯ คืออุปสรรคสำคัญ และเป็นภาระแก่ประเทศ ท่านนายกฯ ลาออกเถอะครับ ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี" ผู้นำฝ่ายค้านในสภากล่าว

เช่นเดียวกับนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เห็นว่าปฏิบัติการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล และทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ไม่พบองค์ประกอบว่าจะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพราะการชุมนุมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ แม้ยอมรับว่ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีการใช้คำพูดไม่เหมาะสม และทำลายทรัพย์สินของทางราชการบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ต้องประกาศ พ.ร.ก.

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เห็นว่าปฏิบัติการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล
คำบรรยายภาพ,

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เห็นว่าปฏิบัติการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล

ส.ส. ฝ่ายค้านรายนี้ยังตั้งข้อสังเกตตามญัตติของรัฐบาลที่อ้างถึงการขัดขวางขบวนเสด็จฯ โดยระบุว่ารัฐบาลมีหน้าที่ถวายการอารักขาให้ขบวนเสร็จฯ ไม่ผ่านเส้นทางการชุมนุม เหตุใดจึงไม่สำนึก แต่โยนความผิดให้ประชาชน แล้วนำไปสู่การดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 แก่ผู้ชุมนุมบางส่วน โดยมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ส.ส. พรรคก้าวไกลรายนี้ยังเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลทบทวนท่าทีในการร่วมรัฐบาล และเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดเอาความจงรักภักดีมากอดไว้กับตัว หยุดผูกมัดสถาบันฯ ไว้กับปัญหาที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจและปกปิดความล้มเหลวของตน

"พล.อ. ประยุทธ์หยุดสะกดจิตตัวเองได้แล้วว่า 'ผมไม่ผิด' แล้วยอมลาออกได้แล้ว เปิดทางให้คนที่เห็นคนเท่าเทียมกันเข้ามาเป็นผู้นำในการพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่ทางออกที่สังคมมีฉันทามติร่วมกัน นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคืนอำนาจให้แก่ประชาชน" เขากล่าวทิ้งท้าย

รบ. ขู่เจอทางตัน หากระดมเสียงได้ไม่ถึง 366 เสียงเพื่อโหวตนายกฯ คนใหม่

ตลอดทั้งวัน พล.อ. ประยุทธ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงและตอบโต้ข้อมูลการอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นระยะ ทว่าใช้เวลาครั้งละสั้น ๆ สรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้

  • กรณีหลุดคำกล่าวเมื่อ 16 ต.ค. ว่า "อย่าท้าทายท่านพญามัจจุราชมาก" : นายกฯ อธิบายว่าช่วงนั้นไปงานศพทุกวัน และพอถูกสื่อมวลชนถาม ก็บอกว่าอย่าประมาทกับชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เตือนตัวเองเสมอ ไม่ได้ตั้งใจจะข่มขู่ใครเลย
  • ข้อเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ : นายกฯ ยืนยันว่าจะให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในวาระที่ 3 ภายในเดือน ธ.ค. และ ครม. จะเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ คาดว่าจะเสนอต่อสภาได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดการออกเสียงประชามติตามขั้นตอนต่อไป
  • ข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก : หากนายกฯ ลาออก ครม. ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามมาตรา 167 ของรัฐธรรมนูญ แต่ ครม. ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่ ซึ่งในการเลือกนายกฯ คนใหม่ก็ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ
  • ข้อเรียกร้องให้ยุบสภา : หากยุบสภา ครม. ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ "ไม่แน่ใจว่าท่านต้องการหรือไม่ต้องการ"

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงขยายความเพิ่มเติมว่าหาก พล.อ. ประยุทธ์ลาออก ก็ต้องหานายกฯ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้แก้ไข ก็คือต้องเลือกจาก "นายกฯ ในบัญชี" ซึ่งเหลือเพียง 5 คน หลังตัดชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิการเมือง 10 ปีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกไป ทว่าคนที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ หรือ 366 เสียง จาก 732 คน

"คนที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปต้องได้ 366 เสียง ต่อให้ ส.ว. งดออกเสียงทั้งหมดดังที่หลายคนเรียกร้อง ก็เป็นเรื่องที่ต้องระดมหากันมาให้ได้ 366 เสียง ถ้าไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่าถ้าถึงทางตันตรงนั้นจะทำอย่างไร ถ้า ส.ว. ไม่ออกเสียงแม้แต่เสียงเดียว หลายคนอาจบอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องขอให้ พปชร. เทเสียงให้กับฝ่ายค้าน ยกใครสักคนขึ้นมาเป็นนายกฯ แต่ทั้งหมดมีผู้คิด แต่นายกฯ ก็ได้รับเสียงสนับสนุนว่าอย่าออกมีทั้งในและนอกสภา ก็เป็นเรื่องที่นายกฯ จะใช้ดุลพินิจพิจารณาต่อไป" นายวิษณุกล่าว

เล็งทำประชามติถาม ปชช. พ่วงเลือก อบจ. 20 ธ.ค.

นายวิษณุยังบอกใบ้ทางเลือกใหม่ในการดำเนินการของรัฐบาลด้วยว่า ข้อเสนอที่น่าใคร่ครวญคือการสอบถามประชาชนผ่านกระบวนการประชามติ ตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ทว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าห้ามลงประชามติในเรื่องตัวบุคคล แต่ถ้ามีกระบวนการตั้งคำถามที่แนบเนียนและแยบคายก็อาจพอไปได้ ซึ่งนายกฯ จะแจ้งต่อรัฐสภาว่าข้อเสนอนี้เป็นไปได้หรือไม่ต่อไป

ข้อเสนอของนายวิษณุได้รับการขานรับจาก ส.ว. หลายคนที่ลุกขึ้นอภิปรายหลังจากนั้น ในจำนวนนี้คือ พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม ที่เสนอให้ทำประชามติในวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ

ส.ว. รายนี้ยังแจกแจงกระบวนการทำประชามติไว้เป็นขั้น ๆ โดยเริ่มจาก 1. ประธานรัฐสภาใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 5 เพื่อตั้งคณะกรรมการแสวงหาคำถามที่จะนำไปทำประชามติ ประกอบด้วยตัวแทน ครม., ส.ส. รัฐบาล, ส.ส. ฝ่ายค้าน, ส.ว., ผู้แทนนักเรียน/นักศึกษา, ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน, อดีตประธานศาลฎีกา, อดีตประธานศาลปกครอง และตัวแทนองค์กรอิสระ 2. คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่แสวงหาคำถามที่จะนำไปทำประชามติอย่างน้อย 3 ข้อเพื่อส่งให้รัฐบาลรับไปเป็นคำถามประชามติ แล้วลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป 3. คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่จัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีความขัดแย้งนี้เป็นกรณีเฉพาะ โดยเชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดไปส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

"ถ้าเป็นไปได้ ให้ทำประชามติวันที่ 20 ธ.ค. 2563 เพราะจะมีเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ ดังนั้นกฎหมายพิเศษนี้จะใช้เพื่อการเลือก อบจ. และการทำประชามติ" น้องชายนายวิษณุแจกแจง

พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม
คำบรรยายภาพ,

พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม เสนอให้ทำประชามติในวันที่ 20 ธ.ค. 2563

ไพบูลย์เชื่อไล่ "บุคคลที่เป็นเลิศด้านจงรักภักดีต่อสถาบันฯ" หวังรุกปฏิรูปสถาบันฯ

เวทีเปิดอภิปรายทั่วไปฯ ยังถูก ส.ว. และ ส.ส. รัฐบาลบางส่วนใช้ "ซักฟอก" ฝ่ายค้านและผู้ชุมนุม โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือ ส.ส. รัฐบาลรายแรกที่ลุกขึ้นอภิปรายโจมตีการชุมนุมของขบวนการนักศึกษาประชาชน โดยระบุว่ามีการจาบจ้วงสถาบันฯ ตั้งแต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ต่อเนื่องกันมา กระทั่งวันที่ 14 ต.ค. ผู้ชุมนุมเหิมเกริมถึงขนาดบังอาจกระทำการขัดขวางทางขบวนเสด็จฯ ของพระราชินี และตะโกนถ้อยคำรุนแรง

ไพบูลย์ นิติตะวัน
คำบรรยายภาพ,

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชำแหละข้อเรียกร้อง 3 ประการของผู้ชุมนุม

รองหัวหน้า พปชร. เชื่อว่า ใน 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ข้อ 3 ให้ปฏิรูปสถาบันฯ "เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงและลดสถานะของสถาบันฯ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของไทยให้เป็นการปกครองระบอบสาธารณรัฐ"

จากนั้นเขาได้ลงมือชำแหละ 3 ข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงบนท้องถนน

1. ให้นายกฯ ลาออก: เขาเชิดชู พล.อ. ประยุทธ์ว่าเป็น "บุคคลที่เป็นเลิศด้านจงรักภักดีต่อสถาบันฯ สูงสุด เป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถในการปกป้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันฯ อย่างไม่มีผู้เทียบเคียงได้" และนายกฯ ยังบอกตลอดว่าจะอยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี

"การที่แกนนำผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ก็เพื่อทำให้อ่อนแอลงและไปสู่การปฺฏิรูปสถาบันฯ ผมจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่ง ต้องทำหน้าที่ปกป้องสถาบันฯ ต่อไป และขอให้คำนึงถึงประชาชน 8.4 ล้านคนที่เลือกให้ท่านมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ" นายไพบูลย์กล่าว

2. ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน: เขาชี้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติคุ้มครองสถาบันฯ หลายประการ พร้อมบรรยายคุณสมบัติของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่าเป็นการ "เปิดช่องให้แกนนำที่จาบจ้วงสถาบันฯ และเป็นอดีตผู้บริหารพรรคการเมืองได้เข้ามาเป็น ส.ส.ร. เพื่อเผยแพร่ลัทธิที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของไทย"

"การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก จากนั้นสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหากับสถาบันฯ ก็เพื่อมุ่งไปที่การปฏิรูปสถาบันฯ" นายไพบูลย์กล่าว

3. ให้ปฏิรูปสถาบันฯ: เขาได้ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อเดือน ก.พ. 2562 มาเตือนนักการเมืองที่เข้าร่วมชุมนุมในปัจจุบัน โดยชี้ว่าอาจเข้าข่ายสนับสนุนการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและทำให้พรรคถูกยุบได้ พร้อมประณาม "นักการเมืองที่แอบอยู่ข้างหลังเยาวชนของชาติ"

นายไพบูลย์ยังเรียกร้องให้มีการทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยกับการชุมนุมที่มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันฯ หรือไม่ โดยเชื่อว่าคนมากกว่า 80-90% ต้องไม่เห็นด้วย จึงไม่ควรให้ "คนเป็นหมื่นมาอ้างเสียงของคนนับล้าน" และยังส่งสัญญาณถึงคนไทย 66.5 ล้านคนที่ถูกแอบอ้างให้ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ด้วยการออกมาปกป้องชาติ ศาสนา และสถาบันฯ ให้จงได้

ในระหว่างการอภิปรายของรองหัวหน้า พปชร. นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภา ต้องขัดจังหวะด้วยการออกปากเตือนเป็นระยะ ๆ ว่าขอให้ใช้ถ้อยคำที่ปรากฏในญัตติเท่านั้นเพราะเป็นถ้อยคำที่รัฐบาลเสนอไว้ อย่ากล่าวหาและอย่าขยายผลเรื่องอื่นที่ไม่อยู่ในญัตติ

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ซึ่งออกตัวว่าได้เดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุม กล่าวว่า มีนักการเมืองเข้าร่วมสนับสนุนแต่ไม่ขอเอ่ยชื่อพรรค ได้เห็นการก้าวล่วงและจาบจ้วงอย่างน่าตกใจ มีการปั่นแฮชแท็ก และมีผู้นำตะโกนด่าสถาบันฯ ด้วย

เขายืนยันว่า มีผู้ชุมนุมปิดล้อมขบวนเสด็จฯ เมื่อ 14 ต.ค. จริง โดยมีหลักฐานเป็นคลิปจากหน่วยกู้ภัยที่ถ่ายวิดีโอไปยืนร้องไห้ไป แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภาให้นำมาเปิดในที่ประชุม อีกทั้งได้ตรวจสอบหมายกำหนดการแล้วทราบว่าเป็นเส้นทางปกติที่ใช้ จึงขออย่าไปบิดเบือนในโซเชียลมีเดียว่ามีการนำขบวนเสด็จฯ มาผ่านพื้นที่การชุมนุม

อดีตพระพุทธะอิสระนำการชุมนุมของกลุ่มปกป้องสถาบันหน้ารัฐสภา
คำบรรยายภาพ,

อดีตพระพุทธะอิสระ (ถือไมโครโฟน) นำมวลชนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา

ข้อเสนอผู้ทรงเกียรติให้ตั้งสารพัดกรรมการ

การประชุมสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. เกิดขึ้นในห้วง 4 วันสุดท้ายก่อนที่รัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยสามัญ โดยกำหนดกรอบเวลาไว้ 25 ชม. แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน 8 ชม., ส.ส.รัฐบาล 5 ชม., ครม. 5 ชม. และ ส.ว. 5 ชม. ส่วนอีก 2 ชม. ที่เหลือเป็นเวลาของประธาน

เพียงวันแรก มีข้อเสนอจากบรรดา ส.ส. และ ส.ว. ให้ตั้งคณะกรรมการสารพัดชุดและเปิดเวทีต่าง ๆ ซึ่งบีบีซีไทยสรุปได้ ดังนี้

  • ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ประกอบด้วยผู้แทน 7 ฝ่าย เสนอโดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์
  • ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ เมื่อ 14 ต.ค. เสนอโดย ส.ส. พรรคประชาชาติ
  • ตั้ง กมธ. ตรวจสอบกรณีถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ เมื่อ 14 ต.ค. เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล
  • ตั้ง กมธ. ตรวจสอบกรณีสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. หรือใช้ กมธ. ที่มีอยู่ของสภาตรวจสอบ เสนอโดย ส.ส. พรรคก้าวไกล
  • ให้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ชุมแสดงความคิดเห็นแทนการชุมนุมบนถนน เสนอโดย ส.ว., ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น กลุ่มคนเสื้อเหลืองภายใต้ชื่อศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธอิสระ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียงกุล เลขานุการประธานสภา เพื่อคัดค้านการตั้ง กมธ. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากพวกเขามาชุมนุมปักหลักพักค้างที่บาทวิถีบริเวณหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย ตั้งแต่เมื่อ 25 ต.ค.

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar