หลักการสำคัญของการมีสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยคือ การที่สถาบันกษัตริย์งดเว้นการกระทำทุกอย่างอันจะนำมาซึ่งคำติฉินนินทาได้ กิจการทุกอย่างแม้จะทำในนามกษัตรย์ แต่หาใช่การกระทำของกษัตริย์เอง The King Can Do No Wrong (กษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรผิด) The King Can Do Nothing (ก็เพราะกษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรได้)
กษัตริย์จึงเหลือเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น*
การป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์ทำอะไรได้ ในกิจการบ้านเมืองเช่นนี้ เพื่อแลกกับการไม่ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ประเทศไทย พร้อมๆกับการเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการต่างๆ ก็ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์พร้อมกันไปด้วย
ปัจจุบัน สถาบันกษัตริย์ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองสารพัดอย่าง เรื่องนี้ เกิดอย่างช้าๆ ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์เป็นต้นมา
การที่กษัตริย์เข้ามาแทรกแซงการฝึกทหาร และการตั้งตนและภรรยาทั้งคู่เป็นที่ปรึกษาของกรมป่าไม้และกรมราชทัณฑ์ เป็นตัวอย่างล่าสุด
.......................................
* การปิดสภายาวกว่ากำหนดของอังกฤษ จึงเป็นเรื่องของสภา (ครม.) ไม่ใช่เรื่องของควีน ถ้าเปลี่ยนเป็นประธานาธิบดี (เช่นเยอรมันนี) ก็ต้องเป็นเช่นนี้เหมือนกัน
รามา 10: กษัตริย์องค์ใหม่ของไทยผู้มีพฤติกรรมที่ชวนให้น่ากังวล
เมื่อวานนี้ นสพ. "เลอ มง" ของฝรั่งเศส ได้ตีพิมพ์รายงานขนาดยาวเกี่ยวกับวชิราลงกรณ์ของคุณ อาโรลด์ ทิโบต์ (Harold Thibault) - ภายใต้ชื่อเรื่องข้างต้น
ตัวรายงานจริง อยู่ที่นี่ อ่านได้เฉพาะผู้เป็นสมาชิก https://goo.gl/SKJFpD
แต่คุณ Andrew MacGregor Marshall ได้นำออกเผยแพร่ อ่านได้ที่นี่ (เป็นภาษาฝรั่งเศส มีคำนำภาษาอังกฤษของคุณแอนดรูสั้นๆ และตอนท้ายคุณแอนดรูได้โพสต์ฉบับแปลภาษาอังกฤษที่ใช้ Google Translate ไว้ด้วย) https://goo.gl/W5NMc3
ข้างล่างนี้ ผมสรุปเนื้อหาของรายงาน
- วชิราลงกรณ์เป็นคนเจ้าอารมณ์ที่คาดเดายากว่าจะทำอะไร เขาชอบใช้ชีวิตในบาวาเรีย รัชสมัยของเขาสามารถเป็นรัชสมัยที่โหด
- คนเยอรมันไม่ได้สนใจวชิราลงกรณ์จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2016 เมื่อ Build ตีพิมพ์ภาพของเขาที่สนามบินมิวนิค ในชุดคร้อปท็อปโชว์พุง และลายแท็ตทูกลางหลัง
- เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในบาวาเรียในปีหลังๆนี้ ในขณะที่พระราชบิดานอนป่วย
- วันที่ 13 ตุลาคม 2016 กษัตริย์ภูมิพลสวรรคต วชิราลงกรณ์บินกลับไทย แต่อยู่ได้ราวสองสัปดาห์ก็กลับเยอรมันอีก เขาได้รับประกาศเป็นกษัตริย์วันที่ 1 ธันวา แต่พิธีราชาภิเษกยังไม่แน่ว่าจะมีเมื่อไร เดิมวิษณุ เครืองามบอกว่าสิ้นปี 2017 แต่ก็ผ่านไป ขณะนี้ มีการพูดกันว่า อาจจะในเดือนมีนาคม 2018 [ดังที่ผมเคยเล่าไปว่า ผมได้ยินว่า อาจจะเป็นเมษายน ช่วงวันจักรีหรือใกล้ๆกัน แต่เรื่องนี้ก็ยืนยันไม่ได้ - สศจ.]
- บุคลิกของวชิราลงกรณ์เป็นเรื่องอ่อนไหวในไทย ทุกคนรู้ลักษณะนิสัยเขา ความเป็นคนโมโหง่าย เอาแต่ใจ การมีสนมหลายคน แต่เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งต้องห้ามที่จะพูด ถ้าใครพูดจะผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีบทลงโทษหนักสำหรับใครที่แม้แต่จะพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ ในปี 2015 เคยมีคนถูกจับเพียงเพราะพูดประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง
- พวกชนชั้นนำความจริงต้องการจะให้น้องสาววชิราลงกรณ์ ฟ้าหญิงสิรินธร ผู้ได้รับความนิยม ขึ้นครองราชย์มากกว่า
- ความพิลึกของกษัตริย์องค์ใหม่เป็นที่รู้กันทั่ว ในปี 2010 อีริค จี จอห์น เอกอัครรัฐทูตอเมริกัน ถาม พล.อ.เปรม ประธานองคมนตรีว่า วชิราลงกรณ์อยู่ที่ไหน เปรมตอบว่า "คุณก็รู้ไลฟ์สไตล์ของเขา รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง..." ในโทรเลขการทูตของสหรัฐที่เปิดเผยโดยวิกิลีกส์อีกฉบับหนึ่ง ลาฟ บอยซ์ ทูตอเมริกันอีกคนหนึ่ง เล่าถึงดินเนอร์ที่มีแขกเหรื่อ 600 คน แล้วฟูฟู สุนัขของวชิราลงกรณ์ ที่เขาตั้งให้เป็นพลอากาศเอก และถูกจับแต่งตัวในชุดทหารตามยศ กระโดดขึ้นโต๊ะอาหาร และกินน้ำในแก้วของแขก รวมทั้งของทูต
- ชนชั้นนำไทย ความจริงอยากให้ฟ้าหญิงสิรินธรขึ้นครองราชย์มากกว่า แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเธอไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก และกษัตริย์ภูมิพลได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 1972 ให้วชิราลงกรณ์เป็นรัชทายาท
- เมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่พระราชบิดากำลังใกล้สวรรคต วชิราลงกรณ์ซื้อบ้าน 2 หลังริมทะเลสาบ สตรานเบิร์ก ในบาวาเรีย ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม
- บ้านในตุสซิงที่เขาซื้อ ราคาประมาณ 12 ล้านยูโร นายกิลโด ไลน์เนอร์ (Guido Lindner) ผู้จัดการโรงแรม Hotel du Lac ที่อยู่ใกล้ๆบ้านนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า "วชิราลงกรณ์ได้รับการปฏิบัติจากพวกบริพาร ราวกับเป็นพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต" นายกิลโดเล่าว่าคณะผู้ติดตามของวชิราลงกรณ์เคยเสนอขอซื้อโรงแรมเขา [เข้าใจว่า เพื่อเคลียร์บริเวณนั้นให้มีความไพรเวทมากขึ้น จากแขกโรงแรม - สศจ.] แต่เขาไม่ขาย วชิราลงกรณ์ยังได้ซื้อบ้านอีกแห่งที่ฟิลดาฟิ้ง ที่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร เพื่อเขาจะได้มีที่อยู่กับคู่ควงแต่ละคน แยกกัน และกับลูกชาย
- ย่านทะเลสาบ สตรานเบิร์ก ที่วชิราลงกรณ์อยู่เป็นย่านที่พวกนักธุรกิจรวยๆหรือศิลปินไปพักอาศัย มีความสงบมากกว่าโรงแรมฮิลตันใกล้สนามบินมิวนิค ซึ่งวชิราลงกรณ์เคยอยู่ประจำก่อนจะมาซื้อบ้าน แต่วชิราลงกรณ์ก็ยังไปพักที่ฮิวตันบ้างเป็นบางครั้ง
- วชิราลงกรณ์ชอบขับเครื่องบิน (บทรายงานเล่าถึงกรณีที่วชิราลงกรณ์ขับเครื่องบินขวางเครื่องบินของนายกฯญี่ปุ่น ที่พอล แฮนด์ลี่ย์ เล่าไว้ใน The King Never Smiles)
- โรงแรมฮิลตัน เดิมเป็นโรงแรมเคมปินสกี้ ซึ่งราชวงศ์ไทยถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะขายให้ฮิลตัน อดีตพนักงานโรงแรมผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า สมัยที่วชิราลงกรณ์ไปพักประจำที่นั่น สร้างความยุ่งเหยิงให้ทางโรงแรม วชิราลงกรณ์กับคณะจะมาพักครั้งละ 2-3 เดือน หลายครั้งต่อปี บางครั้งสถานทูตไทยในเบอร์ลินแจ้งต่อโรงแรมล่วงหน้าเพียงแค่ไม่กี่วัน ว่าวชิราลงกรณ์จะมาพัก ครั้งหนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 2010s ทางโรงแรมต้องย้ายการประชุมคอนเฟอเรนซ์ที่จัดโดยลูกค้าสำคัญของโรงแรม คือบริษัทประกันภัย Allianz ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมนับร้อย ออกไปจัดที่อื่น เพราะวชิราลงกรณ์กับคณะมาพักโรงแรมกระทันหัน
- การมาพักแต่ละครั้งของวชิราลงกรณ์จะมาพร้อมกับกระเป๋าข้าวของหนักเป็นตันๆ ทางโรงแรมต้องจัดการเคลียร์ชั้นโรงแรมเป็นชั้นๆ หรือปีกบางปีกของโรงแรม โดยเฉพาะเมื่อวชิราลงกรณ์พาคู่ควงมามากกว่าหนึ่งคน [เพื่อให้แยกกันอยู่คนละชั้นคนละปีก - สศจ.] ทีมบริพารของวชิราลงกรณ์เคยพยายามจะบังคัับให้พนักงานชาวเยอรมันของโรงแรมต้องหมอบคลานต่อหน้าวชิราลงกรณ์ แต่ทางฝ่ายจัดการของโรงแรมไม่ยอม ทางทีมบริพารเลยขอให้พนักงานห้ามมองสบตาหรือพูดกับวชิราลงกรณ์. ในห้องพักของวชิราลงกรณ์จะมีการประดับภาพพวกรถยนต์เก่าที่เขาสะสม
- อดีตพนักงานโรงแรมคนเดียวกันเล่าว่า วันหนึ่ง พนักงานหญิงทำความสะอาด (เมด) พบว่า ทีมบริพารของวชิราลงกรณ์ได้แขวนรูปฮิตเล่อร์ไว้บนผนัง อดีตพนักงานที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่แน่ใจว่าเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างประหลาดหรือเพราะความนิยมชมชอบฮิตเล่อร์กันแน่ ทางฝ่ายจัดการโรงแรมต้องบอกอย่างเข้มงวดต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยให้เอาภาพนั้นออก
[รายงานยังไม่จบ - ถ้ามีเวลา ผมจะมาแปลสรุปที่เหลือต่อ กระทู้นี้ยาวมากแล้ว และตอนนี้เป็นเวลาดึกมากของที่นี่]
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar