สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานคำพูดของ รมว. ตปท. เยอรมนี ที่กล่าวในการแถลงข่าววันเดียวกันว่า "เราไม่เพียงแต่เฝ้าดูในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ แต่ได้จับตาดูอยู่เป็นประจำ…และหากพบว่ามีสิ่งใดที่เราเห็นว่าผิดกฎหมายเกิดขึ้น ก็จะมีผลสืบเนื่องตามมาในทันที"
จากท้องถนน สู่รัฐสภาไทย ถึงกรุงเบอร์ลิน
.
รัฐบาลเยอรมนีแถลงวันนี้ (26 ต.ค.) ว่า
เฝ้าติดตามพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์
และผู้ต้องการปฏิรูปในกรุงเทพฯ
ไปชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี อ่านเพิ่มเติมได้ที่
: https://bbc.in/31Jcraa
.
ส.ส. ฝ่ายค้านเกือบทุกรายที่ลุกขึ้นอภิปรายกลางรัฐสภา ได้ "รับลูก"
หนึ่งในข้อเสนอของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ด้วยการเรียกร้องให้ พล.อ.
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่รองนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาลขู่อาจพบทางตัน
หากระดมเสียงในรัฐสภาได้ไม่ถึง 366 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ
เล็งแก้เกมกลับด้วยการโยนประชาชนตัดสินผ่านกลไกประชามติ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://bbc.in/35A7IIT
ร.10 : เยอรมนีระบุจับตาการประทับของกษัตริย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะกลุ่มปกป้อง-ปฏิรูปสถาบันฯ ชุมนุมหน้าสถานทูตฯ
รัฐบาลเยอรมนีแถลงวันนี้ (26 ต.ค.) ในกรุงเบอร์ลินว่า เฝ้าติดตามพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ และผู้ต้องการปฏิรูปในกรุงเทพฯ ไปชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างคำพูดนายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังเฝ้าดูพระจริยาวัตรของกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง และ "จะเกิดผลสืบเนื่องทันที หากเรา ประเมินแล้วว่ามีการกระทำใด ๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย"
รอบเตอร์รายงานว่ารัฐบาลเยอรมนีแถลงไปหลายครั้งแล้วว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภารกิจทางการเมืองขณะพำนักอยู่บนดินแดนเยอรมนี
ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานคำพูดของนายมาสที่กล่าวในการแถลงข่าววันเดียวกันว่า "เราไม่เพียงแต่เฝ้าดูในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ แต่ได้จับตาดูอยู่เป็นประจำ…และหากพบว่ามีสิ่งใดที่เราเห็นว่าผิดกฎหมายเกิดขึ้น ก็จะมีผลสืบเนื่องตามมาในทันที"
บลูมเบิร์กอ้างว่าได้ติดต่อกับสำนักพระราชวังเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ
สื่อต่างชาติทั้งสองรายยังรายงานถึงเรื่องการไปยื่นหนังสือของกลุ่มเยาวชนที่หน้าสถานทูตเยอรมนีในประเทศไทยในวันนี้ด้วย นอกจากนี้บลูมเบิร์กได้แตะเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ว่าจะให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นในวาระที่ 3 ภายในเดือน ธ.ค. แต่รัฐธรรมนูญจะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการจัดการออกเสียงประชามติก่อน
บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่านายกรัฐมนตรีเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็น แต่การดำเนินกระบวนการเรื่องนี้ในรัฐสภาต้องหยุดชะงักไปเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ผู้ประท้วงอ้างว่าข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจากกองทัพมีสิทธิ์ลงมติได้ เป็นกลไกช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้
เข้าสู่สัปดาห์ที่สองของการชุมนุมของกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. กลุ่มผู้ชุมนุม "ยกระดับการเคลื่อนไหว" ด้วยการเรียกร้องรัฐบาลเยอรมนีให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการประทับ การทรงงานและการเสียภาษีของในหลวง รัชกาลที่ 10 ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
หลังจากแกนนำหลายคนถูกจับกุมและดำเนินคดี "คณะราษฎร 2563" ผู้จัดการชุมนุม ได้ปรับการเคลื่อนไหวมาเป็นแบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์ "ทุกคนคือแกนนำ" พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมาเป็น "กลุ่มราษฎร" โดยยังคงใช้เพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นช่องทางการสื่อสารหลัก
การนัดเดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานทูตเยอรมนี ถ.สาทร มีขึ้นหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมลาออกภายในเส้นตายที่กลุ่มราษฎรกำหนดไว้ในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 24 ต.ค.
นับเป็นครั้งแรกของการเคลื่อนไหวที่สถานทูตต่างประเทศกลายมาเป็นเป้าหมายของการชุมนุมซึ่งมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ประการ คือ 1) ให้นายกฯ ลาออก 2) เปิดสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของประชาชน และ 3) ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ก่อนถึง 17.00 น. ซึ่งเป็นเวลานัดหมาย กลุ่มเยาวชนปลดแอกโพสต์ข้อความชี้แจงเหตุผลของการจัดกิจกรรมเดินขบวนไปสถานทูตเยอรมนีว่าเพื่อ "ถามความชัดเจน" ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานราชการแผ่นดินและใช้เวลาส่วนมากประทับอยู่ในเยอรมนี ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีมรดกของทางการเยอรมนี
"เหล่านี้คำถามที่ต้องการความกระจ่าง และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องร่วมกันเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์ของเรากลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กลับมาสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย" กลุ่มเยาวชนปลดแอก ระบุ
นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนปลดแอกยังได้เผยแพร่จดหมายที่อ้างว่าเป็น "เอกสารอย่างเป็นทางการจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย" ลงวันที่ 25 ต.ค. ที่ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย ต่อกรณีที่จะมีการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนีในวันที่ 26 ต.ค.
เอกสารดังกล่าวระบุว่าสถานทูตเยอรมนีตระหนักถึงสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบของประชาชนไทย รวมทั้งในบริเวณใกล้ที่ตั้งของสถานทูต และพร้อมรับสารที่ต้องการส่งถึงรัฐบาลเยอรมนีหากเป็นยื่นด้วยความสงบสันติ
บีบีซีไทยติดต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้รับคำตอบว่าไม่ขอยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ออกมาจากทางสถานทูตหรือไม่
"ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐ เอกราช และอำนาจอธิปไตยของเยอรมนี"
เวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ร่วมกันชูสามนิ้วร้องเพลงชาติ ก่อนที่ผู้จัดการชุมนุมจะคลี่ป้ายสีเขียวขนาดใหญ่เขียนข้อความว่า "เดินหน้าต่อไป" และเริ่มเคลื่อนขบวนไปบน ถ.พระราม 4 โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หัวขบวนก็เดินมาถึงสถานทูตเยอรมนีซึ่งมีกำลังตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจควบคุมฝูงตรึงกำลังอยู่อย่างแน่นหนา
เวลา 19.40 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทน 3 คน เข้าไปยื่นจดหมายเปิดผนึกจากราษฎรชาวไทย ถึงสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทยต่อนายเกออร์ก ชมิดท์เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย
จากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมได้ออกมาอ่านจดหมายเปิดผนึกให้ผู้ชุมนุมฟัง โดยจดหมายมีข้อความขึ้นต้นว่า "ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐ เอกราช และอำนาจอธิปไตยของเยอรมนี แด่สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"
จดหมายระบุต่อไปว่าประชาชนชาวไทยผู้รักในประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าราชบริพารในประเด็นต่าง ๆ เช่น การทรงใช้อำนาจอธิปไตยในแผ่นดินเยอรมนี การเสียภาษีมรดกตามกฎหมายเยอรมัน ข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของข้าราชบริพาร เป็นต้น
จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ลงท้ายว่า "ด้วยความเชื่อมั่นอย่างถึงที่สุดว่าประชาชนชาวเยอรมัน จะเห็นแก่สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด ขอแสดงความนับถือในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีค่าเป็นคนมิใช่ผงธุลี"
จากนั้นผู้ชุมนุมได้อ่านจดหมายเปิดผนึกเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน แล้วแยกย้ายกันไปเมื่อ 21.00 น.
"กลุ่มประชาชนคนไทย" เรียกร้องทางการเยอรมันฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย
การชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ที่สถานทูตเยอรมนีมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกลุ่ม "ประชาชนคนไทย" ที่นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือและนายพิชิต ไชยมงคล นำมวลชนคนเสื้อเหลืองไปชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีและยื่นจดหมายเรียกร้องให้ทางการเยอรมนี "รับฟังและพิจารณาข้อมูลอย่างถ่องแท้จากทุกฝ่าย เพื่อระงับยับยั้งการบานปลายของเรื่องราวที่สร้างความเสียหายนานับประการต่อประเทศไทย"
แถลงการณ์ของกลุ่มประชาชนยังกล่าวหาผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรว่า "ดึงเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างระบบสังคมแบบเดิม"
ผู้ชุมนุม "กลุ่มประชาชนคนไทย" อย่างน้อย 50 คนมายืนรออยู่หน้าสถานทูตเยอรมนีตั้งแต่ช่วง 13.00 น.โดยมีรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่ดัดแปลงเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่จอดอยู่บน ถ.สาทร
ผู้ชุมนุมล้วนสวมเสื้อสีเหลือง ถือธงชาติไทย ธงสีเหลืองประจำพระองค์ พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 และร่วมกันเปล่งเสียงว่า "ทรงพระเจริญ" เป็นระยะ อีกทั้งยังมีป้ายเขียนข้อความต่อต้านการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์
"จะเรียกร้องอะไรก็ทำไป แต่อย่ามาจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ของเรา ที่มาวันนี้อยากมาแสดงพลังให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ใช่ว่าคนไทยทั้งหมดต้องการ เรารักสถาบัน เราปกป้องสถาบัน ถ้ายังมาจาบจ้วงแบบนี้พวกเราจะไม่ทน" ผู้ชุมนุมหญิงวัยกลางคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าวกับบีบีซีไทย
"ส.ส.เยอรมันเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย"
นายนิติธร ซึ่งเป็นทนายความที่ร่วมเคลื่อนไหวมากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า สาเหตุที่กลุ่มประชาชนมาชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนีในวันนี้ "เพราะ ส.ส. ที่เยอรมนีคนหนึ่งเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย เราเลยมาเพื่อยื่นหนังสือชี้แจงความเป็นจริงที่เขาไม่รู้"
เขาฝากไปถึงผู้ใช้ชุมนุมกลุ่ม "คณะราษฎร 2563" ว่ากลับไปศึกษาข้อมูลว่า "คณะราษฎร 2475" ได้ทำข้อตกลงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ว่าอย่างไร และกล่าวว่าหากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องทำประชามติก่อน และ "ถ้าจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องสอบถามความคิดเห็นของคนไทย 70 ล้านคนก่อน"
หลังจากยื่นข้อเรียกร้องต่อสถานทูตแล้ว นายนิติธรได้แจ้งผู้ชุมนุมว่าได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทูตเยอรมัน ซึ่งออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมอย่างเป็นมิตร
"ท่านกล่าวว่าเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยเป็นอย่างดี และขอบคุณที่ชุมนุมอย่างสงบ ท่านทูตรับหนังสือแล้วจะยื่นต่อรัฐบาลของเยอรมัน" นิติธรกล่าวก่อนจะยุติการชุมนุมในเวลา 14.15 น.
นายฟริตยอฟ ชมิดต์ ส.ส. พรรคกรีนส์ตั้งกระทู้ในรัฐสภาต่อนายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ 7 ต.ค. ถามถึงการเสด็จพำนักในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และการกดดันให้สหภาพยุโรประงับการเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่าเขาไม่พอใจคำตอบของ นายมาส และจะเดินหน้าผลักดันต่อไป
"แม้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กองทัพยังส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งในรัฐสภา กระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้บริสุทธิ์ ยุติธรรม พรรคฝ่ายค้านถูกจำกัดการหาเสียง และแม้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ก็ต้องถูกยุบ ผมคิดว่า คณะผู้ปกครองที่มาจากการยึดอำนาจยังไม่ดำเนินการพาประเทศไปในแนวทางประชาธิปไตย... ผมต้องการสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย" นายชมิดต์ กล่าวกับบีบีซีไทยในเวลาต่อมา
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar