lördag 17 januari 2015

ฝรั่งเศส “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” จริงหรือ?
ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังจากเหตุการณ์ฆ่านักวาดการ์ตูนที่วารสาร ชาลี เฮบโด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการเดินขบวนประท้วงความรุนแรงดังกล่าวที่มีประชาชนออกมาหลายล้านคน คนไทยจำนวนหนึ่งตื่นเต้นและหลงเชื่อว่าฝรั่งเศสเป็น ดินแดนแห่งเสรีภาพ ที่มีการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก บางคนพยายามอธิบายว่านี่คือผลพวงของการปฏิวัติฝรั่งเศสและแนวคิดสาธารณะรัฐที่เกิดในยุค 1789
แต่คนที่เชื่อแบบนี้ตาบอดถึงลักษณะแท้ของสังคมฝรั่งเศส

ในยุคล่าอาณานิคมที่เป็นยุคแห่ง ทุนนิยม ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และหลังจากที่มีการก่อตั้งสาธารณะรัฐที่ไม่อิงศาสนา ประเทศฝรั่งเศสเข้าไปยึดครองดินแดนในทวีปอัฟริกาและเอเชียด้วยความป่าเถื่อน ในภูมิภาคของเรา ฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง ลาว เขมร และเวียดนาม และใช้พวกเผยแพร่ศาสนาคริสต์เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อสงครามอีกด้วย ชาวเวียดนาม ลาว และเขมร ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสบังคับใช้แรงงานเหมือนไพร่ในไทย และฝรั่งเศสก็เป็นประเทศที่ริเริ่มสงครามเวียดนาม เพื่อสกัดกั้นเสรีภาพของชาวเวียดนาม
ใน อัลจีเรีย ฝรั่งเศสยึดครองสังคมมุสลิมนี้ด้วยความป่าเถื่อนเช่นกัน และมีการปราบขบวนการกู้ชาติอัลจีเรียด้วยความโหดร้ายทารุน ในปี 1961 เมื่อชาวอัลจีเรียในกรุงปารีสต้องการเดินขบวนเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส ตำรวจฝรั่งเศสก็ปราบอย่างหนัก มีการฆ่าชาวอัลจีเรียโยนลงแม่น้ำเซนกว่า 200 ศพ และจนถึงทุกวันนี้ไม่มีใครถูกลงโทษ และไม่มีการขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐเลย
ที่น่าสังเกตคือ มือปืนที่ไปฆ่านักวาดการ์ตูน ชาลี เฮบโด เป็นคนที่เกิดในฝรั่งเศส แต่เป็นคนเชื้อสายอัลจีเรีย เขาเริ่มทนไม่ได้เมื่อเห็นพฤติกรรมป่าเถื่อนของสหรัฐที่ทรมานนักโทษจากตะวันออกกลางในสงครามอิรัก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นปกครองฝรั่งเศสส่วนใหญ่สนับสนุนฮิตเลอร์กับพวกนาซี ในขณะที่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ มีการจัดตั้งเพื่อต่อต้านนาซีและฮิตเลอร์ เมื่อเยอรมันเข้ามายึดครองฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยมีบทบาทในการส่งชาวยิวจากฝรั่งเศสไปตายในค่ายของนาซี
ในอดีต ในปี 1894 มีเรื่องอื้อฉาว เพราะชนชั้นปกครองฝรั่งเศสยัดข้อหาเท็จใส่นายทหารชื่อ “เดรฟัส” เพราะเป็นคนยิว

ในสมัยนี้ฝรั่งเศสยังทำตัวเป็นจักรวรรดินิยม โดยใช้กองกำลังแทรกแซงในหลายประเทศของอัฟริกาและตะวันออกกลาง ล่าสุดเมื่อปี 2013 ทหารฝรั่งเศสไปเปิดศึกกับกองกำลังมุสลิมทางเหนือของประเทศมาลี และสงครามนี้ยังไม่สิ้นสุด นอกจากมาลีแล้ว ฝรั่งเศสก็แทรกแซงทางทหารในลิเบียและซิเรียอีกด้วย 

( หมายเหตุ... ในลิเบีย เมื่อคาดัฟฟี่ ยังมีชีวิตและเป็นผู้นำของประเทศลิเบียนั้นได้มีความสนิทสนมกับ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย ซากอร์ซี่ เป็นพิเศษในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีนายซากอร์ซี่ขาดทุนรอนเพื่อหาเสียงเลือกตั้งและได้ขอยืมเงินจาก คาดัฟฟี่เป็นจำนวน ๕๐ ล้านยูโรเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อซากอร์ซี่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วฝรั่งเศสก็ได้สนับสนุนให้โค่นล้มคาดัฟฟี่ลงจนสำเร็จและเงินที่ยืมไปเพื่อหาเสียงเลือกตั้งก็กลายเป็นหนี้สูญไปโดยที่ซาร์กอร์ซี่ไม่ต้องจ่ายคืนให้คาดัฟฟี่ เพราะคาดัฟฟี่ถูกฝ่ายที่ฝรั่งเศสให้การสนับสนุนยิงทิ้งในสงครามกลางเมืองของลิเบียนั้นเอง )  " ข้อมูลเพิ่มเติมของผู้เรียบเรียง ".

ภายในสังคมฝรั่งเศสทุกวันนี้ กระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติมาแรง พรรคการเมืองที่กำลังนำในโพล์ คือพรรค “แนวร่วมชาติ” FN ซึ่งเป็นพรรคนาซี นโยบายของพรรคเหยียดทั้งชาวยิว คนมุสลิม และคนสีผิวอื่นๆ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏระเบียบห้ามไม่ให้นักศึกษามุสลิมในโรงเรียนสวมผ้าฮิญาบ โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่อิงศาสนา และในมหาวิทยาลัยชั้นนำ “ซอร์บอน” มีนักศึกษาถูกไล่ออกจากห้องเลคเชอร์ เพราะสวมผ้าฮิญาบ แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการห้ามไม่ให้นักเรียนห้อยไม้กางเขนเป็นสร้อยคอ และบางโรงเรียนอนุญาตให้แม่ชีคริสเตียนเข้ามาได้
ในปี 2010 รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏหมายห้ามสตรีมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าบูร์กาหรือ niqab ในที่สาธารณะ และหลายคนก็โดนตำรวจจับ ผ้าคลุมหน้าบูร์กาหรือ niqab ต่างจาก ฮิญาบ เพราะปิดหน้าไม่ใช่แค่คลุมผม
เมื่อปีที่แล้วมีโรงเรียนทางเหนือของฝรั่งเศสที่ไม่ยอมให้นักเรียนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เมื่อมีหมูในเมนูประจำวัน เจ้าหน้าที่อธิบายว่าถ้าเด็กไม่อยากกินหมูก็ต้องกินผัก และในเมืองหนึ่ง ผู้ว่าฯไม่ยอมให้ชาวโรมา (ยิปซี) ฝังศพเด็กเล็กที่พึ่งเสียชีวิต
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของสังคมฝรั่งเศสที่เราควรทราบไว้ เมื่อเราพิจารณาเหตุการณ์ฆ่านักวาดการ์ตูนที่วารสาร ชาลี เฮบโด และการเดินขบวนที่เกิดขึ้นภายหลัง ปัญหาใหญ่อันหนึ่งคือฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสไม่เข้าใจบทบาทของศาสนาอิสลามในการเป็นความเชื่อของผู้ที่ถูกกดขี่ มาร์คซ์ เคยเขียนว่า “ศาสนาคือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ” นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์อย่างเราจะคัดค้านศาสนาในลักษณะความเชื่อ แต่เราจะปกป้องสิทธิในการนับถือศาสนา และสิทธิของคนที่ถูกกดขี่ทุกคน เราไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย แต่เราจะเข้าใจว่าต้นเหตุมันมาจากจักรวรรดินิยมและการก่อสงครามของรัฐบาลตะวันตก

--
Giles Ji Ungpakorn

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar