fredag 17 april 2015

ข้อคิดมุมมอง กับ จาตุรนต์ ฉายแสง...."...หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี ร่างใหม่ก็ร่างใหม่เถอะครับ อย่ากลัวเสียเวลา เพราะถ้ายอมให้ผ่านๆกันไปจะยิ่งเสียหายไม่สิ้นสุด เท่ากับเสียเวลายิ่งกว่า เข้าตำราเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย"



"...หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี ร่างใหม่ก็ร่างใหม่เถอะครับ อย่ากลัวเสียเวลา เพราะถ้ายอมให้ผ่านๆกันไปจะยิ่งเสียหายไม่สิ้นสุด เท่ากับเสียเวลายิ่งกว่า เข้าตำราเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย"
จาตุรนต์ ฉายแสง
17 เมษายน 2558


ประชามติ อย่ากลัวเสียเวลา
ผมเสนอความเห็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมมาเป็นระยะๆ ช่วงนี้เห็นมีการพูดเรื่องการลงประชามติกันมาก จึงเอาความเห็นที่เคยพูดไว้มาเสนอให้อ่านกันอีกครั้ง
มาถึงวันนี้ ผมก็ยังมีความเห็นอย่างเดิม สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปบ้างตรงที่กฎอัยการศึกนั้นเลิกใช้ไปแล้ว แต่ก็มีการใช้คำสั่งด้วยอำนาจตามมาตรา 44 แทน ซึ่งหากจะมีการลงประชามติก็ยังจำเป็นต้องผ่อนคลายให้เกิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่อยู่ดี
ที่ต้องเน้นก็คือ การลงประชามติจะเป็นประโยชน์ มีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน โดยเฉพาะยิ่งมีการประกาศล่วงหน้านานเท่าใด การลงประชามติก็จะยิ่งเกิดประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็จะแสดงความคิดเห็นหรืออาจจะรณรงค์กันเต็มที่ ส่วนผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายก็จะฟังประชาชนมากขึ้นและก็ย่อมจะปรับปรุงแก้ไขตามความเห็นของฝ่ายต่างๆพอสมควร
ด้วยเกรงว่า ถ้าไม่แก้ไขอะไรเลย ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านการลงประชามติ

บางคนก็อาจจะคิดตามที่คุณบวรศักดิ์แกบอกไว้ว่า "จะเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล"
การไปตัดสินใจให้มีการลงประชามติกันในนาทีสุดท้าย ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพมัดมือชก
มาถึงตอนนี้ ดูเหมือนฝ่ายที่แบ่งรับแบ่งสู้ที่จะให้มีการลงประชามติ ออกมาตั้งคำถามมากมายจนกลายเป็นตั้งแง่เพื่อจะไม่ให้มีการลงประชามติไปเสียแล้ว เช่น ถามว่าถ้าไม่ผ่าน จะร่างใหม่หรือใช้ร่างไหนแทนก็ไม่ทราบ จะให้ลงประชามติเห็นชอบไม่เห็นชอบกับร่างทั้งฉบับหรือเป็นหัวข้อๆไป ถ้าบางห้วข้อผ่าน แต่บางหัวข้อไม่ผ่านจะทำกันอย่างไร เป็นต้น
บางท่านถึงกับบอกว่า ถ้าลงประชามติกันเลย ร่างนี้คงไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นต้องชี้แจงประชาชนให้มากๆเสียก่อน แต่ก็ไม่ทราบว่า สุดท้ายจะมีการลงประชามติหรือโมเมผ่านกันไปเลย เพราะกลัวว่าถ้าขืนไปลงประชามติเข้าจะไม่ผ่าน
ความจริงการจะจัดให้มีการลงประชามติแบบไหนนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอะไร จะถามทั้งฉบับหรือถามเป็นหัวข้อก็ได้ เพียงแต่ออกแบบให้ดีด้วยความจริงใจ ให้ถูกหลักวิชาการและชี้แจงกติกาให้ชัดเจนเท่านั้นเอง
ส่วนถ้าประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไร ในความเห็นของผมก็มีทางเลือกได้อย่างน้อยสัก 2 - 3 แบบคือ ให้ประชาชนเลือกระหว่างร่างของกรรมาธิการหรือรัฐธรรมนูญปี 40 หรือ ปี 50 อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ให้เลือกระหว่างร่างนี้กับการยกร่างกันใหม่ นับหนึ่งกันใหม่
หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ดี ร่างใหม่ก็ร่างใหม่เถอะครับ อย่ากลัวเสียเวลา เพราะถ้ายอมให้ผ่านๆกันไปจะยิ่งเสียหายไม่สิ้นสุด เท่ากับเสียเวลายิ่งกว่า เข้าตำราเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
ความคิดที่ว่า รีบๆให้มีเลือกตั้งกันไปเถอะ แล้วทุกอย่างก็จะดีเองนั้นใช้ไม่ได้แน่ๆ
ถ้าเราใช้รัฐธรรมนูญอย่างที่ร่างกันอยู่นี้ การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมายอะไร ประชาชนกำหนดตัดสินอะไรก็ไม่ได้ รัฐบาลบริหารประเทศก็ไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะปะทุขึ้นอีกโดยไม่มีทางที่ใครจะแก้ได้
ครั้นจะหวังไปแก้รัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นในวันข้างหน้าก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาร่างกันไว้แบบใครก็แก้ไม่ได้ สุดท้ายก็จะกลับมาวงจรเดิมคือ ยึดอำนาจกันอีก ประเทศก็จะมีแต่ถอยหลังไปเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น
ท่านที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ที่ออกมาพูดสนับสนุนให้มีการลงประชามติมีมากขึ้นพอสมควร สำคัญพูดแล้วขอให้ผลักดันกันจริงเถอะครับ อย่าพูดแล้วก็ไม่ตามผล ปล่อยให้รัฐธรรมนูญออกมาโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือไม่สามารถแม้แต่จะออกความเห็น
ถ้าปล่อยกันไปตามยถากรรม บ้านเมืองจะเสียหายหนักกว่าเดิมไปอีกนานครับ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar