torsdag 30 april 2015

รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องมีรัฐบาล.. ประชาชนไทยทั้งประเทศ OK ยอมรับได้ไหม???

ข่าวสดออนไลน์
รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องมีรัฐบาล คอลัมน์ ใบตองแห้ง

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 21:37 น.
จำนวนคนอ่านล่าสุด 587 คน
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ บอกให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน อย่างน้อย 5 ปีค่อยแก้ไข แต่ช้าแต่ ถ้าอีก 5 ปี บวรศักดิ์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วสั่งห้ามแก้ จะทำไง

อ้าว ก็มาตรา 229(3) บัญญัติไว้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 3 คน โดยต้องเป็น ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนอย่างน้อย 1 คน ศาสตราจารย์กฎหมายมหาชนประเทศนี้มีไม่กี่คนนะครับ นับหัวได้

ที่ ว่ากรรมาธิการยกร่างฯ ห้ามดำรงตำแหน่งการเมือง 2 ปี ก็ไม่มีใครโง่เล่นการเมืองหรอก เป็นคนดีทั้งที ไปอยู่องค์กรอิสระสบายกว่ากันเยอะ

ข้อสำคัญท่านบอกให้ลองผิด ลองถูก 5 ปี ถ้าเกิดวิบัติฉิบหายใครรับผิดชอบ รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดผูกชะตากรรมคนทั้งประเทศ จะไม่ฟังคนอื่นวิจารณ์จะบอกว่าท่านถูกดีแต่ผู้เดียวได้ไง

5 ปีค่อยแก้ รัฐธรรมนูญของท่านแก้ง่ายเสียที่ไหน กว่าจะผ่านรัฐสภาต้องใช้เสียง 2 ใน 3 แล้วต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลชี้ว่าแก้ไม่ได้ก็ตกไป ถ้าศาลเห็นว่าแก้ได้แต่เป็นเรื่องสำคัญต้องทำประชามติ ซึ่งดูเหมือนดี มีความชอบธรรม แต่ตัวรัฐธรรมนูญเองยังไม่รู้จะทำประชามติไหม ไหงตอนแก้บังคับให้ทำ

ลองคิดดูสิ สมมติ ส.ส.450 คนจะแก้ไขให้ ส.ว.มาจากเลือกตั้ง หรือยุบวุฒิสภาทิ้ง ส.ว.สรรหาจะทุบหม้อข้าวตัวเองไหม ส.ส.ต้องใช้คะแนนโหวตถึง 417 คน คิดเป็น 92.7% ของ ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้

หรือถ้า ส.ส. ส.ว.ร่วมกันแก้ไขอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ศาลบอกทำไม่ได้ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ใครจะเถียงท่าน เพราะศาลมีอำนาจสูงสุดเหนือ 3 ฝ่าย แถมยังแก้มาตรา 68 เป็นมาตรา 31 ให้ใครก็ได้ร้องศาลทุกวันเวลาตามอัธยาศัย

"รับไปก่อน แก้ทีหลัง" รัฐธรรมนูญ 2550 ทำเข็ดมาครั้งหนึ่งแล้ว ร่างฯ นี้ยิ่งผูกมัดสาหัสกว่า

บวร ศักดิ์บอกว่า 5 ปีค่อยแก้ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เท่ากับรับว่าเจตนาทำพรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งคงถูกใจคนชั้นกลางไม่เอาเลือกตั้ง ที่ลืมไปว่าหลักประชาธิปไตยคือต้องทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนควบคู่กัน

ภาพรวมของ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ให้ "นักการเมืองที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง" ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนดี มีอำนาจเหนือนักการเมืองจากเลือกตั้ง ที่เชื่อว่าชั่วเลว แต่ทำไงได้ ประชาธิปไตยต้องมีเลือกตั้ง ก็ทำให้เป็นพิธีกรรม เลือกตั้งแล้วไม่ให้มันมีอำนาจ

รัฐสภา เลือกนายกฯ ถ้าโชคดีก็ได้คนนอก ถ้าโชคร้ายก็ได้ "นักการเมือง" ตั้งรัฐบาลผสมตามความประสงค์ของกรรมาธิการ นายกฯ จะตั้งรัฐมนตรี 35 คน ต้องส่งชื่อให้วุฒิสภาสอบประวัติ แล้วประจานให้ชาวบ้านทราบตามมาตรา 130 แม้ไม่มีอำนาจยับยั้งแต่ถือเป็นการดิสเครดิต จุดชนวนขัดแย้งตั้งแต่ต้น ไว้วันหลัง ส.ว. 200 คนก็จับมือฝ่ายค้าน 190 คนถอดถอนนายกฯ ได้

รัฐบาล ท่านประยุทธ์ใช้ ม.44 ย้ายข้าราชการทันใจ รัฐบาลเลือกตั้งแตะใครไม่ได้ เพราะมีกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา 207 รัฐบาลนี้ตั้งงบขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลหน้ามีมาตรา 201 บังคับให้แสดงทั้งรายรับรายจ่าย แล้วถ้าใช้เงินไปดำเนินนโยบายอะไรที่มี "วิญญูชน" แถว TDRI เห็นว่าจะก่อเกิดความเสียหายต่อรัฐ ก็ถูกฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังตามมาตรา 205

รัฐบาล หน้าไม่ต้องใช้หัวคิดปฏิรูปสร้างสรรค์ เพราะมีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่เสร็จสรรพ เสนอกฎหมายปฏิรูปผ่านวุฒิสภา ถ้าไอ้พวก ส.ส.ไม่เห็นด้วย ก็ยืนยันด้วยเสียง 2 ใน 3 กฎหมายผ่านทันทีตามมาตรา 280

รัฐธรรมนูญมาตรา 281-296 ยังกำหนดทิศทางปฏิรูป 15 ด้านที่ใครอ่านก็แซ่ซ้อง แต่มาพร้อมคณะกรรมการและองค์กรอิสระ 10 กว่าชุด ที่จะมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ มากำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์ พลังงาน รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ แทนรัฐบาล

แล้วรัฐบาลทำไร ก็กดปุ่มเปิดป้ายเซ็นหนังสือราชการไปวันๆ มองยังไงก็ไม่เห็น "เผด็จการรัฐสภา" แม้มีมาตราประหลาดๆ 181,182 แต่ไม่มีงานทำ เอาไว้ให้ชาวบ้านด่าวันละ 3 เวลาหลังอาหารเท่านั้น

รัฐ ธรรมนูญนี้มอบอำนาจให้รัฐราชการ เทคโนแครต ผู้รู้ ผู้ดี (โดยมีภาคประชาสังคมเป็นไม้ประดับ) เป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่รัฐบาลเลือกตั้งเป็นเจว็ด มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ มีไปก็สร้างความขัดแย้ง แต่ต้องเอาไว้โชว์ต่างชาติ

"ความฝันอันสูงสุด" คือทำให้ประชาชนเห็นว่า อำนาจเลือกตั้งของพวกเอ็งไร้ความหมาย เสรีภาพ ประชาธิปไตย กินไม่ได้ บูโรแครต เทคโนแครต ต่างหากที่จะยกเครื่องประเทศครั้งใหญ่ให้วัฒนาสถาพร

ข้อสำคัญจะทำได้ตามความฝันหรือเปล่าภายใต้ปัญหาความชอบธรรม

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar