torsdag 21 maj 2015

มุมมองผู้เชี่ยวชาญกับการเมืองไทยหนึ่งปีหลังรัฐประหาร

บีซีไทย - BBC Thai
มุมมองผู้เชี่ยวชาญกับการเมืองไทยหนึ่งปีหลังรัฐประหาร (ตอนที่ 1 )


รูปภาพของ บีบีซีไทย - BBC Thai




ผ่านพ้นไปแล้วเกือบหนึ่งปีหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีหลังการรัฐประหารได้เปลี่ยนแปลงชีวิตทางการเมืองของผู้คนและสังคมไทยไปอย่างไรบ้าง บีบีซีไทย ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยสองคนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางอำนาจในการเมืองไทยหลังรัฐประหาร และแนวโน้มที่ไทยจะเดินไปสู่คว...ามเป็นประชาธิปไตยหลังจากนี้
ศ.ดันแคน แมคคาร์โก้ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษแสดงความเห็นกับบีบีซีไทยว่า การรัฐประหารของ คสช. ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าตระหนกสำหรับประเทศไทย ซึ่งการเข้ามาของทหารในนามของการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ได้เข้ามากลบซ่อนความขัดแย้งแตกแยกที่ยังคงมีอยู่ระหว่างคนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ตามมา เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ในประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตย ชนชั้นนำที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่า จะต้องพยายามประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจและขุมกำลังทางสังคมใหม่ๆ ซึ่งในกรณีของไทยหมายถึงการทำความเข้าใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในต่างจังหวัด ซึ่งมีความใฝ่ฝันทางการเมืองของตนเองและจะไม่ยอมทำตามคำสั่งจากกลุ่มอำนาจในเมืองหลวงอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในภาคเหนือและอีสานนั้นใช้ชีวิตแบบคนเมืองมากขึ้นและไม่ไร้การศึกษาอีกต่อไป ดังนั้นการยุบพรรคการเมืองที่พวกเขาเลือกและสั่งห้ามนักการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จะไม่ช่วยแก้ปัญหาของชาติได้
“วิกฤตของเมืองไทยในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องปัญหาการคอร์รัปชั่นหรือปัญหาศีลธรรม แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจตกเป็นผู้แพ้ได้ง่ายพอกัน วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจึงมีทางเดียว คือทั้งสองฝ่ายต้องมาทำความเข้าใจกันและกันด้วยความเคารพ การปราบปรามกลุ่มผู้เห็นแย้ง แทนที่จะเปิดให้มีการอภิปรายกันอย่างเสรี ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา” ศ. แมคคาร์โก้ กล่าว
ด้าน ดร. แพทริค โจรี จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียมองว่า จริงอยู่ที่ คสช. สามารถยุติความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยลงได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขการแบ่งแยกฝักฝ่ายทางการเมืองที่ยังคงร้าวลึกในสังคมไทย เพียงแต่ทำให้มองเห็นความขัดแย้งได้น้อยลงเท่านั้น โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อ การปราบปรามและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร
“มีสามปัจจัยที่สำคัญต่อความอยู่รอดของ คสช. อย่างแรกก็คือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่พอใจของหลายฝ่าย ปัจจัยที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งไทยนับว่าอยู่ในกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในอาเซียนขณะนี้ ส่วนปัจจัยประการที่สาม คือสถานะของ คสช. นั้นไม่เป็นที่ยอมรับโดยชาติตะวันตก และ คสช.เองได้พยายามเข้าหาจีนในช่วงเวลาที่จีนและสหรัฐฯกำลังมีปัญหากันในเรื่องของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งทำให้ไทยไม่เพียงมีปัญหากับสหรัฐ แต่ยังรวมถึงกับญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศด้วย ซึ่งถือได้ว่า คสช. กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลและมีอนาคตไม่แน่นอน” ดร. โจรี กล่าว


มุมมองผู้เชี่ยวชาญกับการเมืองไทยหนึ่งปีหลังรัฐประหาร (ตอนที่ 2 )
รูปภาพของ บีบีซีไทย - BBC Thai




เมื่อพิจารณาถึงโอกาสที่ไทยจะเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยหลังครบหนึ่งปีการรัฐประหารโดย คสช. นั้น ศ.ดันแคน แมคคาร์โก้ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษระบุว่า โอกาสดังกล่าวนั้นมีความเป็นไปได้อย่างเต็มที่ แต่ก็เมื่อกองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนเท่านั้น ทั้งนี้ความพยายามปฏิรูปการเมืองครั้งก่อนๆไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และกองทัพยังคงได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ โดยปราศจากการตรวจสอบมานานหลายปี เช่น ในเรื่องของวัฒนธรรมการแต่งตั้งนายพลจำนวนมาก และความไม่โปร่งใสในการบริหารงบประมาณ
“ควรจะได้มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูปฝ่ายความมั่นคง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรองดองด้วย ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปนั้น ควรจะบัญญัติอย่างชัดเจนให้การทำรัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งต้องระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่อาจฉีกได้ด้วยกองทัพ ข้าราชการและศาลจะต้องถือว่าคำสั่งใดๆที่ออกจากกองทัพในการรัฐประหารที่อาจมีขึ้นในอนาคตทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้คนจะตระหนักว่ากองทัพไม่สามารถ “ช่วย” พวกเขาออกจากวังวนปัญหาทางการเมืองของตนได้ และจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนด้วยตนเอง แนวทางเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมทั้งกองทัพ ซึ่งจะสามารถมุ่งเน้นภารกิจทางทหารได้อย่างแท้จริง ทั้งเป็นการยกสถานะและเกียรติภูมิของกองทัพให้สูงขึ้นด้วย” ศ.แมคคาร์โก้ กล่าว
ด้าน ดร. แพทริค โจรี จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียมองว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะตัดสินว่าไทยจะเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็คือผลของกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะยังไม่เกิดความคืบหน้าสำคัญใดๆ ในเรื่องการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของไทยก่อนที่กระบวนการนี้จะคลี่คลายและมีความชัดเจนกว่านี้




Inga kommentarer:

Skicka en kommentar