onsdag 2 september 2015

กลลวง ข่าวลือ เสียงโหวต นับถอยหลัง "ชี้ชะตารัฐธรรมนูญ"

prachachat
กลลวง ข่าวลือ เสียงโหวต นับถอยหลัง "ชี้ชะตารัฐธรรมนูญ"





6 ก.ย. นี้ จะได้รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างกันมา 8 เดือนเต็ม จะผ่านการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือไม่

เพราะพลันที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เกิดขึ้น กลายเป็นจุดหักเหสำคัญของ "ชะตากรรม" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" หัวขบวน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

เหตุเพราะ คปป. ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญดีไซน์ขึ้นมาคุมการ "ปรองดอง ควบ ปฏิรูป" กำหนดองคาพยพ 23 คน มาประจำการ แบ่งเป็นกรรมการ 22 คน และประธานอีก 1 คน

แม้ในวาระเริ่มแรกของ คปป. บทเฉพาะกาลจะให้รอประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกฯ ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจะต้องมาจากการเลือกตั้ง

ทว่าชื่อของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจลอยมาอยู่ในตำแหน่งประธาน คปป. เพราะไส้ในของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า

"กรรมการ คปป.เลือกบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธาน คปป." เป็นเสียงการวิเคราะห์ที่ดังกึกก้องในห้องคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สปช.

ถอดความมาจากความมั่นใจของ "วันชัย สอนสิริ" สปช.ที่เป็นหัวขบวนในการรณรงค์โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ ฟันธงว่า "พล.อ.ประยุทธ์" จะได้รับเลือกเป็นประธาน คปป. ด้วยคุณสมบัติ "เป็นบุคคลผู้ซึ่งมีความเหมาะสม"  

อีกด้านหนึ่ง คปป.ยังถูกโจมตีว่า คล้ายกับ "โปลิตบูโร" สามารถใช้ "อำนาจพิเศษ" คุมฝ่ายบริหารในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลปกติไม่สามารถระงับยับยั้งได้

เป็นเหตุให้ "ดร.วิษณุ เครืองาม" มือกฎหมายรัฐบาล ออกมากล่าวต่อสาธารณะว่า "คปป.มีทั้งอำนาจพิเศษและอำนาจปกติ แต่กลับไม่พูดถึงอำนาจปกติ ที่เป็นข้อดีในการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง พูดแต่อำนาจพิเศษกัน"

และเพราะเรื่องอำนาจพิเศษของ คปป.นี่เอง ทำให้บรรยากาศใน สปช.ที่กำลังรอคอยการลงมติ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย. ปั่นป่วนยิ่งนัก ชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญจึงยังไม่แน่นอน เหมือนอยู่บนกระดานหกว่สปช.จะ "คว่ำ" หรือ "ไม่คว่ำ" ร่างรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากมีข่าวลือฟุ้งไปทั่วสภาปฏิรูปฯ ว่า สปช.จำนวนไม่น้อยเริ่มตัดสินใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเช็กกระแสประชาชนแล้วว่าไม่เอา คปป. จึงจำเป็นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปถึงการทำประชามติให้ประชาชนมาคว่ำ เพราะจะส่งผลเสียต่อ คสช.ในอนาคต

เสียงคว่ำร่างถูกกางบัญชีออกมาว่า เริ่มทะยานขึ้นไปแตะ 100 เสียง หัวขบวนคือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย และ สปช.สายจังหวัด

ซ้ำเติมสถานการณ์ เมื่อเกิดเหตุที่ "ดร.บวรศักดิ์" เปิดฉากวิวาทะกับนายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ในไลน์กลุ่ม สปช. เพราะนายนิรันดร์แสดงความไม่เห็นด้วยที่ กมธ.ยกร่างฯที่เป็น สปช. 21 คน จะใช้สิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์

"ดร.บวรศักดิ์" พิมพ์ข้อความตอบโต้ไปว่า "คุณนิรันดร์ครับ ผมไปล่วงเกินคุณไว้แต่ชาติใดๆ ด้วยรู้ ไม่รู้ เจตนาไม่เจตนา ผมขอขมากรรมนั้นๆ อโหสิให้ผมเถอะครับ อย่าจองเวรกันต่อไปเลย ผมก็อโหสิให้ท่านครับ เวรจึงย่อมระงับลงด้วยการไม่จองเวรครับ"

"ถึงขนาดตัดสิทธิผมและอีก 20 คนมันมากไป ถ้าตรรกะคุณถูกต้อง 83 ปีที่ ส.ส.เสนอกฎหมาย แล้วเข้าไปเป็นกรรมาธิการในวาระ 2 แล้วลงมติในวาระ 3 ไม่เป็นโมฆะไปหมดทุกฉบับหรือ ???? และถ้าจะไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญก็ทำเถอะครับ อย่าไปไกลถึงขนาดตัดสิทธิผู้อื่นเลย"

เป็นเหตุให้มีข่าวลือขึ้นอีกว่า สปช.จำนวนมากรู้สึกเคือง "ดร.บวรศักดิ์" และเสียงลือถึงจุดไคลแมกซ์เมื่อมีการปล่อยข่าวว่า เครือข่ายของประมุข สปช.ทั้ง 3 คน กำลังล่าลายเซ็น สปช.ให้โหวตสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ โดยส่งสัญญาณไปยังนักปฏิรูปทั้งหลายว่า หนึ่งใน 3 ประมุข สปช.กำลังทำโผสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ คสช. ถ้าโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ "คุณจะได้ไปต่อ"

สวนทาง สปช.ใกล้ชิดบรรดาประมุข สปช.เชื่อว่า ข่าวลือเหล่านี้เป็นเกมสกปรกเพื่อจะดิสเครดิตนายบวรศักดิ์ และชวนให้จับตาดูว่า สปช.ที่โพล่งออกมาคว่ำรัฐธรรมนูญ ถึงวันโหวตในที่แจ้งจะโหวตคว่ำหรือไม่

ทิศทางการประเมินสถานการณ์การโหวตร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังเชื่อว่าผู้มีอำนาจใน คสช.ยังคงเห็นด้วย และเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นผ่านการโหวตในวันที่ 6 ก.ย.

ผ่านสัญญาณหนุนของ 2 ผู้มีบารมี คือ พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กับอีกหนึ่งรองนายกฯ เนติบริกร-วิษณุ เครืองาม ที่ยังออกมายกข้อดีร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์

กว่าจะถึงวันที่ 6 ก.ย. ดร.บวรศักดิ์อาจจะต้องปวดประสาทไปอีกนาน

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar