lördag 10 januari 2015

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย.. คือปัญหาของชาติที่แท้จริง....

ความเหลื่อมล้ำ คือปัญหาของชาติที่แท้จริง
โลกและเรา...เมธา มาสขาว
ไทยโพสต์ - อิสรภาพแห่งความคิด

อาจจะกล่าวได้ว่า คุณภาพของชีวิตของผู้คนคือตัวชี้วัดคุณภาพของสังคมในขณะเดียวกัน หากความยากไร้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของปัจเจกชนมีน้อยลงเท่าไหร่แล้ว คุณภาพของสังคมจะมีมากขึ้นได้อย่างไร
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในปัจจุบัน ผมได้แต่ตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมารัฐไทยดูแลพลเมืองของตนเองดีมากน้อยแค่ไหน เหตุใดความรุนแรงทางสังคมได้ขยายบานปลายจนดูเหมือนไร้ทางออกในปัจจุบัน และอาจกระทั่งกลายเป็นสงครามกลางเมืองในไม่ช้า หรืออีกไม่นาน ไม่ต่างจากรวันดาหรือซีเรีย
ในประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก ผลผลิตทางเกษตรกรรมของไทยได้หล่อเลี้ยงดูแลสังคมโลกมาช้านาน แต่เหตุใดในวันนี้ ชาวนาไทยซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติต้องทยอยผูกคอตาย โบกมือลาชะตากรรมอันรันทดกันไปหลายคนแล้ว
ประเพณีสงกรานต์ของไทยในวันนี้ ได้ลือเลื่องไปทั่วภูมิภาคและทั่วโลกมากกว่าเมืองใดในอินโดจีน น้ำท่าเพื่อการกสิกรรมของไทยสมบูรณ์พูนผลจนพวกแอฟริกาตกใจ เพราะพวกเขาเคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันมาแล้ว เพราะสงครามแย่งน้ำ แต่ในเมืองไทยที่ทรัพยากรสมบูรณ์ไม่ว่าน้ำหรือน้ำมัน วันนี้เรากลับกำลังทำสงครามความเชื่อทางการเมืองกัน แม้อาจเป็นเครือญาติหรือกระทั่งพี่น้องกัน แต่ความคิดเห็นต่างทางการเมืองอาจมีความผิดถึงตาย
เราเดินทางมาถึงวันนี้ได้อย่างไร?
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยทางการเมืองจนถึงทุกวันนี้ คณะราษฎรนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ และนักการเมืองรุ่นเก่าๆ ได้พยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้สังคมไม่มากก็น้อยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดการเศรษฐกิจเพื่อสังคมโดยรูปแบบสหกรณ์ การผลักดันเค้าโครงร่างเศรษฐกิจและกฎหมายประกันความสุขสมบูรณ์พูนผลของประชาชนในช่วงเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก แต่ต่อมาเผด็จการทหารและขุนศึกทั้งหลายก็ทำลายความชอบธรรมต่างๆ ลงไป จนบีบคั้นให้คนยากไร้ทั้งหลายเลือกหนทางต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมด้วยอาวุธในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ในสมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตหนึ่งในคณะราษฎร ถึงขั้นเคยพูดว่า “ถ้าประชาชนไม่มีที่ดิน จะรักชาติได้อย่างไร” เพื่อกระจายการถือครองที่ดินของประชาชนโดยออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงกับเคยเขียนข้อเสนอเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและคุณภาพของสังคมในบทความที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่ชื่อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เขาเห็นว่าตั้งแต่เกิดจนถึงตาย คนไทยควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ได้รับการดูแลจากรัฐ ในฐานะผู้จัดวางการอยู่ร่วมกันของสังคมโดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม
แต่อาจจะกล่าวได้ว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่มีส่วนกำหนดนโยบายให้สังคมประสบพบเจอชะตากรรมอันเลวร้ายลงมากที่สุดคนหนึ่งคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคเผด็จการเต็มขั้นที่อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ทั้งหมดถูกโอนถ่ายมาอยู่ในมือแค่คนเพียงผู้เดียว
เขาได้ออกแบบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก กำหนดผูกขาดให้ประเทศไทยเดินตามก้นธนาคารโลกโดยไม่ตั้งคำถาม โดยใช้ระบบทุนนิยมเสรีเท่านั้นในการชี้นำทางของประเทศไทย โดยให้กลไกตลาดคืออนาคตของทุกสิ่งทุกอย่าง
ผลพวงจากแผนพัฒนาบนแนวทางดังกล่าว ทำให้การพัฒนาสังคมไทยที่ผ่านมาเน้นแต่เพียงรูปแบบทางวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความเจริญทางจิตใจกลับได้รับข้อยกเว้นจนสังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง การพลัดพราก อาชญากรรม และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในปัจจุบัน


ที่ดินที่ประเทศไทยเคยมีประมาณ 320 ล้านไร่ เฉลี่ยให้คนได้ใช้ประโยชน์ได้เพียงคนละ 4-5 ไร่เท่านั้นเมื่อหักพื้นที่ป่าไม้ออกไป วันนี้กลับพบว่าชาวนามากมายไร้ที่ดินทำกิน มีหนี้สินมากมายจากการผูกขาดตลาดเกษตรกรรมของนายทุนข้ามชาติและการเกษตรแบบพันธสัญญา


 นับแต่นั้นมาสังคมไทยก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ท่ามกลางความทุกข์ยากและความเหลื่อมล้ำ คนไทยช่วยเหลือขอทานด้วยการให้ทาน แต่ไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เพราะเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับคนสองคนขึ้นไปแล้วเหมือนกันล้วนก็คือปัญหาทางโครงสร้าง ผู้คนแสวงหากำไรและความร่ำรวยจากระบบและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมมาหลายสิบปี นักการเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้พวกเขาคิดถึงแต่ตนเอง ค่านิยมดังกล่าวทำให้แนวคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หรือเศรษฐกิจแบบผสมผสานถูกลืมเลือนและหายไป จนไม่มีใครกล้าเสนอให้เป็นทางออกของสังคม
ถึงเวลาแล้วหรือยัง เพียงพอแล้วหรือยัง ที่วันนี้ประเทศไทยขายรถเบนซ์ได้มากที่สุดในโลก แต่เรากลับมีคนทุกข์ยากลำบากมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ จนกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชีย และช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างกันมากถึง 15 เท่า มากกว่าจีนและอินเดีย
ความเหลื่อมล้ำและความยากจนในเมืองไทย นับได้ว่าคือใจกลางของความขัดแย้งในปัจจุบัน และระบบทุนนิยมคือใจกลางของปัญหาในสังคมไทยอย่างที่สำคัญ ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำคือปัญหาของชาติที่แท้จริง
ถ้าชาวนาไม่มีที่ดิน พวกเขาจะรักชาติได้อย่างไร.

....................................................................


สังคมเหลื่อมล้ำ :วันเด็กของเด็กด้อยโอกาส
ตัวอย่างสภาพชีวิตความเป็นจริงของเด็กด้อยโอกาสอีกมากมายที่ปะปนอยู่ในสังคมไทยทั่วประเทศ..


คลิกอ่าน-"น้องเจ" เด็กชายวัย 12 ขวบ อยากไปเที่ยววันเด็กแต่โอกาสไม่มี ต้องแยกขยะหาเงิน



             
 


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar