lördag 12 september 2015

จาตุรนต์-ปิยบุตร ตอบคำถาม "เราจะออกจากสภาพที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร?"


มติชนออนไลน์



วันนี้ (12 กันยายน 2558) ในงานเสวนา "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีช่วงหนึ่งผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามกับวิทยากรว่า เราจะออกจากสภาพที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไร? ซึ่งมีคำตอบจาก 2 วิทยากรที่น่าสนใจ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากนี้เราไม่ควรคิดกันเพียงแค่ว่าจะเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะหากจะเข้าสู่การเลือกตั้งด้วยกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่หากเราจะอยู่ในสภาพบ้านเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโจทย์ของเราก็คือ เราจะทำอย่างไรให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจากบทเรียนที่ผ่านมาคำตอบของทางออกนี้ก็คือ ถ้าต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องร่างโดยประชาชน และที่สำคัญหากจะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ คสช.ไม่ควรจะเป็นผู้กำกับหรือตั้งความคิดที่ว่าบุคคลที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีความคิดที่สอดคล้องกับ คสช. ในส่วนนี้มองว่าไม่ควรจะยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไข

นายจาตุรนต์ ย้ำว่า การร่างรัฐธรรมนูญด้วยประชาชนจะเป็นทางออกของวิกฤติในครั้งนี้ เพราะหากเราต้องการรัฐธรรมนูญที่ให้ทุกคนอยู่ภายใต้อย่างเสมอกัน เราจึงไม่ควรจัดกระบวนการที่ผิดตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะการจำกัดการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในท้ายที่สุดจะไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

"อีกประการหนึ่ง หากร่างขึ้นมาแล้ว ต้องทำให้แก้ได้ ถ้าเห็นว่านั่นเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม ต้องแก้ได้ เพราะหากแก้ไม่ได้จะเป็นการทำลายโอกาสที่สังคมจะแก้ไขความขัดแย้งโดยอาศัยกติกา ต้องห้ามปิดทางแก้" นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากการร่างรัฐธรรมนูญจากนี้ยังเป็นคนกลุ่มเดิม เนื้อหาสาระไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรมาก โดยคาดการณ์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะรับรองผลพวงของ คสช. ให้ไม่มีความผิด ประกาศ หรือคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ในส่วน สว. จะเป็นในลักษณะเดิมคือมีการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้ง อำนาจศาลก็น่าจะเหมือนเดิม และส่วนที่มีปัญหาอย่าง คปป. ก็น่าจะทำอีก แต่คงต้องทำให้แนบเนียนขึ้น

นายปิยบุตร เสนอว่า ทางออกที่เป็นไปได้คือ เราควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้แบบชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้สภาในการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทั้งหมด แล้วก็เลือกตั้ง สสร. เข้าไปใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 อาจมีปัญหาตรงไหน ก็จะได้ถือโอกาสนี้แก้กัน โดยเราสามารถใช้โอกาสนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเป็นประชาธิปไตย แล้วใช้เวลาสัก 3 เดือนร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าทำได้


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar