fredag 4 september 2015

รธน.คนดีเนติวิปริต (.๙๙.๙๙% )...ไม่ยักมีใครย้อนถามว่า ความไม่สงบที่ผ่านมาเกิดเพราะประชาธิปไตยหรือเพราะ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" กันแน่????

ข่าวสดออนไลน์
khaosod.co.
 
คอลัมน์ ใบตองแห้ง



วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 22:12 น.
จำนวนคนอ่านล่าสุด 1232 คน
อะไรคือ "จุดขาย" ของร่างรัฐธรรมนูญ "ความกลัว" ไงครับ ขายความกลัวว่าถ้าไม่มีอำนาจพิเศษที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" แล้วจะไม่มีใครดูแลความสงบ
"วันหน้ามันจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถ้ายังไม่มั่นใจจะต้องมีใครดูแลหรือไม่ และต้องให้เขามีอำนาจบ้างใช่หรือไม่"
ไม่ยักมีใครย้อนถามว่า ความไม่สงบที่ผ่านมาเกิดเพราะประชาธิปไตยหรือเพราะ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" กันแน่
สังคมไทยตรรกะวิปริตถึงขั้นคิดว่าถ้าไม่อยากให้เกิดรัฐประหาร ก็เขียนรัฐธรรมนูญให้ทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลไปซะเลย (วิปริตสองชั้นด้วยนะ เพราะเชียร์รัฐประหารกันจังแต่กลับไม่ต้องการให้เกิดอีก)
รัฐประหารคือการยึดอำนาจตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือกฎหมาย คณะรัฐประหารใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เพียงแต่จะใช้ไม่ใช้ก็ขึ้นกับจริยธรรมความยับยั้งชั่งใจ


ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง ประชาธิปไตยคู่กับนิติรัฐ ระบอบการปกครองด้วยกฎหมาย มีกฎกติกาไม่ให้ใครใช้อำนาจตามอำเภอใจ มีหลักแบ่งแยกอำนาจ ที่มาของอำนาจ ความรับผิดชอบ การตรวจสอบถ่วงคาน และประกันสิทธิเสรีภาพ


รัฐประหารกับประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ผสมพันธุ์กันไม่ได้ เอาอะไหล่ไปประกอบกันไม่ได้ ถ้าไม่อยากเป็นประชาธิปไตยก็อยู่ในระบอบรัฐประหารต่อไป ไม่ใช่เขียนรัฐธรรมนูญยัดโครงสร้างอำนาจคล้าย คสช. ไว้เหนืออำนาจเลือกตั้ง ไม่ต่างจากต่ออายุรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ไว้ในรัฐธรรมนูญค้างคืน


ไม่คิดหรือว่ากลไกอำนาจจะยิ่งปะทะกัน ที่อ้างว่ามีไว้ป้องกันความไม่สงบ มันจะยิ่งไม่สงบ
ประเทศนี้ชอบวาทกรรมตลกๆ รัฐประหารบอกเป็นประชาธิปไตย ๙๙.๙๙% แต่รัฐธรรมนูญบอกไม่เป็นประชาธิปไตย


ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบ ทำไมไม่กำหนดกติกาให้การเมืองเป็นไปตามความนิยม ไม่ใช่วางกับดักโค่นล้มกันด้วยศาล องค์กรอิสระ หรือวุฒิสภา เช่นถอดถอนตัดสิทธิตลอดชีวิต ไม่คิดหรือว่าจะปลุกคนลุกฮือโดยง่าย


ถ้าอยากให้บ้านเมืองสงบ ทำไมต้องสืบทอดกลไกข่มอำนาจที่ประชาชนเลือกมา เช่นมาตรา ๒๖๑ เขียนว่าถ้า คปป.เสนอให้รัฐบาลทำอะไร รัฐบาลบอกทำไม่ได้ ก็ให้อำนาจ คปป.ลงมติ ๓ ใน ๔ บังคับรัฐบาล
รัฐประหารครั้งนี้เกิดจากม็อบขัดขวางเลือกตั้ง เรียกร้องให้ ครม.รักษาการลาออกเพื่อตั้ง "นายกฯคนกลาง" แต่ ครม.ยืนยันลาออกไม่ได้ ทราบไหมครับรัฐธรรมนูญแก้ปัญหาอย่างไร ร่างแรกท่านให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน แต่พอถูกทักท้วงก็เขียนใหม่ มาตรา ๑๗๔ ให้ ครม.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่เมื่อไหร่ที่ ครม.เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนทั้งหมด


ท่านเขียนให้เกิดความสงบ หรือเขียนเปิดช่องให้ม็อบในอนาคตบุกบ้านคุกคามลูกเมียรัฐมนตรี
กับดักทำนองนี้เต็มไปหมด ไม่สำนึกว่าวิกฤตสิบปีที่ผ่านมาเริ่มจากขับไล่รัฐบาลเลือกตั้งเหลิงอำนาจ แต่กลับไปพึ่งรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ เพิ่มอำนาจให้ปะทะความนิยมของประชาชนจนบานปลาย
แน่ละ "จุดขาย" อีกด้านของร่างรัฐธรรมนูญคือความ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" สอดคล้องกับอุดมคติของม็อบคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี (อาหารดี) ที่เรียกร้อง "การเมืองใหม่ ๗๐:๓๐" จนถึง "สภาประชาชน" โดยคาดหวังว่าจะมีที่นั่งใน คปป. วุฒิสภา องค์กรอิสระ ให้พวกตนเข้ามาใช้อำนาจร่วมกับกองทัพและรัฐราชการ พูดอย่างมองแง่ดีก็คือคนเหล่านี้หวังจะมี "คนดี" เทคโนแครตด้านต่างๆ เข้ามาสานต่อ "ปฏิรูปประเทศ" ให้คนชนบทคนระดับล่างหลุดพ้นจาก "นักการเมืองชั่ว"


แต่สิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นคือความ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" ไม่ใช่แค่ไม่เอาอำนาจเลือกตั้งชั่วคราว หากยังต้องโยนทิ้งหลักการเหตุผลหลายอย่างลงท่อ เช่น หลักความเสมอภาค หลักการได้อำนาจมาโดยชอบธรรม หลักการถ่วงคานอำนาจ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งความโปร่งใส


อ้าว คุณจะเลือกคนดีได้ไง เมื่อไม่เอาเลือกตั้งก็ต้องสรรหา ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะหนีพ้นระบบอุปถัมภ์เล่นพวกเส้นสาย ยิ่งพยายามตีกรอบก็ยิ่งเลือกปฏิบัติ เช่นเขียนรัฐธรรมนูญให้ ทปอ.สรรหาองค์กรอิสระ (แล้วราชภัฏราชมงคลล่ะ) หรือบางครั้งก็หาเหตุผลไม่ได้ ไม่เอาสมัชชาคุณธรรมกลับไปเอาภาคเอกชน ๓ สถาบันมาสรรหา ป.ป.ช.


ข้อสำคัญมันยังเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง ของพลังคนชั้นกลางที่เติบโตมาจากการเรียกร้องประชาธิปไตย ปากอ้างประชาธิปไตย แต่จู่ๆ ก็อย่างหนาประกาศ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" (ก็ได้วะ)
นี่คือหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย ที่พยายามแยกศีลธรรมออกจากความชอบธรรม อ้างความดีคว่ำกฎกติกา จนเข้าสู่สภาวะตรรกะวิปริต หาเหตุผลอธิบายการกระทำของตนไม่ได้ ได้แต่ท่องคาถา "คนดี" ย้ำคิดย้ำทำ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar