onsdag 9 september 2015

จักรภพ เพ็ญแข "สูตร ๓-๒-๕" ทฤษฎีในการต่อสู้สำหรับนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองและประเทศชาติออกเป็นไท เพื่อเปลี่ยนแปลงนำประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง นำมาอัพเดทให้เพื่อนร่วมเดินทางได้ศึกษาทบทวนทำความเข้าใจ..จะได้ไม่หลงทาง.



วันจันทร์, กันยายน 07, 2558
จักรภพ ที่ประชุมสมัชชาเสรีไทยในสหรัฐฯ





คลิกอ่าน-http://thaienews.blogspot.com/2015/09/blog-post_7.html


จักรภพ ที่ประชุมสมัชชาเสรีไทยในสหรัฐฯ
Dang Teame
Published on Sep 5, 2015
๓-๒-๕ จากจักรภพ :
๓ สิ่งที่ขาด ประเด็นที่ ๒ ต้องอย่าแตกแยก และฝาก ๕ ข้อไว้ให้คิด
นายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ร่วมก่อตั้งเสรีไทยกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาเสรีไทยในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๘ ผ่านทาง video conference
จักรภพเริ่มสนทนาโดยแจ้งว่าจะกล่าวถึงใน ๓ ประเด็น คือ
๑.     สภาพปัจจุบันของการเมืองไทย
๒.     การวิเคราะห์อนาคตจนถึงสิ้นปีหน้า (๒๕๕๙)
๓.     การเคลื่อนไหวของฝ่าย หรือขบวนประชาธิปไตย
ประเด็นแรก นี่เป็นช่วงเริ่มต้นของการเมืองปลายรัชกาลที่ ๙ ในประเทศไทย สังคมเกิดความไม่มั่นใจว่ากษัตริย์สามารถชี้นำได้อีกต่อไป เกิดการตื่นตัวและผนึกกำลังของทุกๆ กลุ่มการเมืองที่รายล้อมสถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ นี่เป็นเพียงรวมการเฉพาะกิจ ไม่ใช่การควบรวมกำลัง แต่อาจควบรวมก็ได้ในภายหน้าหากการผนึกกำลังนี้สำเร็จ
การผนึกกำลังดังกล่าวเนื่องจากการตื่นตระหนก พยายามที่จะยึดครองอำนาจ และควบคุมให้มากที่สุด โดยใช้ขบวนการประชาธิปไตยซึ่งมีคุณทักษิณ ชินวัตรเป็นสัญญลักษณ์ เป็นศัตรูร่วมกัน (ตัวอย่างหนึ่งของรวมการเฉพาะกิจก็คือ กปปส. ที่เปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิมวลมหาประชาชน)
องค์กรนำของฝ่ายประชาธิปไตย คือคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย (ซึ่งเป็นตัวตนแท้จริงของพรรคพลังประชาชนและเพื่อไทย) ได้เลือกแนวทางปฏิรูป โดยอาศัยน้ำหนักของระบอบเก่า เช่นนี้ทำให้หลายคนผิดหวัง เนื่องจากคิดว่าสังคมพร้อมแล้วสำหรับการปฏิวัติ


ส่วนตัวคิดว่าสังคมพร้อม แต่กระบวนประชาธิปไตยเองยังไม่พร้อม เพราะขาด ๓ สิ่ง คือ
หนึ่ง การจัดตั้งทางอุดมการณ์
สอง ขาดการสร้างเครือข่ายอย่างแท้จริง
สาม ขาดการทำงานจัดตั้งปฏิวัติ


ประเด็นที่สอง ไม่เชื่อว่าทฤษฎีการแตกแยกของชนชั้นนำจะเป็นจริง ฝ่ายขวาเอาหลัก “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ไปใช้ได้ดี ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเองยังมีการขัดแย้ง ขาดประสพการณ์ในเป้าหมายใหญ่ และยังไม่มีการจัดตั้ง
เผด็จการศักดินาจะใช้กลยุทธ์ “แบกศพไปรอบเมือง” จนถึงสิ้นปีหน้า ในการผนึกกำลังของฝ่ายเขา ขณะเดียวกันจะใช้แก๊งข้างถนนอย่าง กปปส. และฝ่ายทหารก่อกวนการทำงานของฝ่ายประชาธิปไตย
ฝ่ายตรงข้ามเรารู้ดีว่าไม่สามารถเอาชนะด้วยประชามติ และการเลือกตั้ง จึงเหลือทางเลือกในการทำลายองค์กรฝ่ายเราให้แตกแยกเป็นส่วนย่อยๆ ฝากสมัชชาแก้ไขปัญหาที่คนไทย “มีสามคนแต่แบ่งเป็นห้ากลุ่ม” ด้วย
อำนาจระหว่างประเทศจะช่วยเราได้ไหม แรงกดดันระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นและเป็นผลก็ต่อเมื่อ เกิดการเคลื่อนไหวในประเทศก่อน เราเอาพลังนอกประเทศไปแทนการเคลื่อไหวในประเทศไม่ได้
รัฐธรรมนูญที่จะออกมาของระบอบศักดินา จะเป็นเครื่องมือช่วยอันสำคัญในการต่อสู้ได้ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในอดีตที่แสดงเจตนารมณ์แห่งอำนาจของฝ่ายเผด็จการได้ดีเท่าฉบับนี้ มีความในใจอะไรเขียนบอกไว้หมด
จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะเอาประเด็นเหล่านั้นมาใช้เคลื่อนไหว เอาสาระของฝ่ายเผด็จการมาทำยาแก้ในทางตรงข้าม ควรมุ่งใช้ประโยชน์จากเผด็จการลายลักษณ์อักษรอย่างเต็มที่
ประเด็นสุดท้าย มีด้วยกันห้าข้อ


๑.     ใช้น้ำหนักฝ่ายตรงข้ามมากดทับตัวเขา
๒.     เอากลยุทธ์การปฏิรูปมาใส่กรอบการปฏิวัติ
๓.     ยอมทุบทำลายบ้านเพื่อสร้างบ้านใหม่
๔.    การเคลื่อนไหวทางกายภาพในประเทศไทยต้องเกิดมากขึ้น
๕.    ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่า ระบอบใหม่คืออะไร ประชาธิปไตยที่เราต้องการเป็นอย่างไร
จักรภพขอตัวไม่ขยายความของห้าข้อในประเด็นสุดท้าย


คำบรรยายของ นายจักรภพ เพ็ญแข
ผู้ร่วมก่อตั้งองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ในที่ประชุมสมัชชาเสรีไทยให้สหรัฐอเมริกา ณ นครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา
วันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘


ท่านเลขาธิการองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ฯพณฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
อดีตประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ดร.สุนัย จุลพงศธร
ลุงโฮม คุณกฤษฎาฯ และผู้ร่วมจัดงานอย่างแข็งขัน
แกนนำและสมาชิกจากลาสเวกัส ชิคาโก้ ลอสแอนเจลิส ฟลอริด้า นิวยอร์ค และจากประเทศแคนาดาทุกๆ ท่านครับ

ผมต้องขอบคุณทุกๆ ท่านที่ให้เกียรติและโอกาสกับผมในการเข้าร่วมกับสมัชชาในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปร่วมด้วยตัวเอง เหตุผลที่มาร่วมไม่ได้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาว ขอไม่เล่าให้เสียเวลาอันมีค่าของท่าน แต่ขอย้ำยืนยันในโอกาสนี้ว่า เรายังอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และหนึ่งเดียวนั้นก็คืออุดมการณ์ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงของพวกเราทุกคน นั่นคือ ประเทศไทยและสังคมไทยจักต้องดีขึ้นกว่านี้ด้วยประชาธิปไตย และไม่ยอมให้ถูกลากถอยหลังด้วยระบอบเผด็จการศักดินาอย่างขณะนี้
ผมมีเพียง ๓ ประเด็นสั้นๆ ที่จะนำเสนอ เพื่อให้ที่ประชุมสมัชชาได้รวมพลังทางปัญญากันต่อไป ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมทุกเรื่อง ผมหวังเพียงว่า ความเห็นเหล่านี้จะช่วยกระตุ้น กระทุ้ง และกระแทกให้เกิดการแตกตัวทางปัญญาต่อไปเท่านั้นเอง
๓ ประเด็นนั้นคือ
๑. สภาพปัญหาปัจจุบัน
๒. การวิเคราะห์อนาคตจนถึงสิ้นปี พ.ศ.๒๕๕๙
๓. การเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย

สภาพปัญหาปัจจุบัน

- เป็นช่วงเข้มข้นของการเมืองปลายรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีความหมายว่า เกิดการผนึกกำลัง (แต่มิใช่การควบรวมกำลัง) ของทุกๆ กลุ่มการเมืองที่อ้างสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางของตนเองได้ โดยใช้ขบวนประชาธิปไตยที่ใช้สัญลักษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรูร่วม ตัวอย่างของเครือข่ายปลายรัชกาลเหล่านี้ ได้แก่ กปปส. การทนอยู่ร่วมกันของประยุทธ์-ประวิตร์ การทดสอบพลังทางการเมืองในโครงการปั่นเพื่อแม่ เป็นต้น ยิ่งถ้าบางปีกของขบวนประชาธิปไตยกระโดดไปท้าทายกษัตริย์โดยตรง การผนึกกำลังของคนเหล่านี้จะยิ่งเหนียวแน่นยิ่งขึ้น สมัชชาควรคิดว่า แกนหลักของการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยควรอยู่ที่ใด โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวเชิง ระบบ หรือ ระบอบ
- องค์กรนำของฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะ ดร.ทักษิณฯ และพรรคไทยรักไทย เลือกแนวทางปฏิรูปเหนือแนวทางปฏิวัติ นั่นคือ อาศัยน้ำหนักของระบอบเก่าในการทำลายตนเองตามเงื่อนไขทางสังคมและกาลเวลา โดยมีกิจกรรมแทรกสอดตามสมควร ถ้าจะเทียบไปก็เสมือนระบบคานงัด ที่ต้องมีกำลังอำนาจอื่นขยับพร้อมกันไปด้วย คานจึงจะมีคุณค่าและเพิ่มกำลังร่วม เรื่องนี้ย่อมมีผู้ผิดหวัง เพราะเชื่อว่าสังคมไทยสุกงอมต่อการปฏิวัติแล้ว ในส่วนตัวผมเองเชื่อว่าสังคมไทยพร้อม แต่ขบวนประชาธิปไตยเองที่ไม่พร้อม เพราะขาดการจัดตั้งทางอุดมการณ์ การสร้างเครือข่ายอย่างจริงจัง และการทำงานแบบพรรคปฏิวัติ
- เราควรพิจารณาว่า แนวคิดให้ฝ่ายตรงข้่ามแพ้ภัยตนเองไปนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องสมสมัยหรือไม่ มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เราควรทำเพื่อแทรกสอดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางที่เราปรารถนา หรือเราต้องกระทำการฉกฉวยโอกาสเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมจำต้องยอมรับแนวทางปฏิรูปไปพลางก่อน จนกว่าขบวนประชาธิปไตยพร้อมชิงธงนำ ต้นทุนทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีตลอดจนพรรคไทยรักไทยไม่ใช่ของที่ควรละทิ้งหรืิอดูแคลน แต่ควรนำมาสะสมเป็นกำลังขั้นปฐมในการจัดตั้งให้ยิ่งขึ้นต่อไป

การวิเคราะห์อนาคตจนถึงสิ้นปี พ.ศ.๒๕๕๙
- ผมไม่เชื่อในทฤษฎีความแตกแยกของชนชั้นนำ จนฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับประโยชน์ ชนชั้นนำถูกจัดตั้งมาให้แสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่างยิ่งกว่าฝ่ายตรงข้าม เขาประสานประโยชน์กันได้ง่าย เพราะมีผลประโยชน์ของจริงให้ประสานกัน ฝ่ายประชาธิปไตยเสียอีกที่ร้อยพ่อพันแม่ แกนนำอัตตาสูง พองขนเร็วเกินไป และคุ้นเคยกับผลประโยชน์เล็กๆ มากกว่าเป้าหมายขนาดใหญ่ ต้องอาศัยการควบรวมอย่างมีทฤษฎีและขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งสมัชชาฯ ก็น่าจะรับเป็นภาระคิดด้วยอีกข้อหนึ่ง
- ระบอบเผด็จการศักดินาจะแบกศพไปรอบเมืองเรื่อยๆ เพื่อใช้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการผนึกกำลังในฝ่ายตน ขณะเดียวกันก็จะใช้องค์การเฉพาะกิจอย่าง กปปส. หน่วยทหารในกองทัพภาคทั่วประเทศทำหน้าที่แก๊งค์ข้างถนนเพื่อก่อกวนการทำงานของฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายตรงข้ามรู้ดีว่า เขาไม่อาจชนะฝ่ายเราได้ด้วยประชามติ เขาเหลือทางเลือกเพียงทางเดียวคือ ทำลายฝ่ายเราให้เหลือเป็นองค์การขนาดเล็กที่แตกแยกกัน ทางแก้ที่ง่ายที่สุดคือ จงอย่าแตกแยกกัน
- อำนาจระหว่างประเทศจะมีประโยชน์น้อยลงเรื่อยๆ หากเราไม่อาจแสดงกำลังในประเทศได้ ประเทศที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลฝ่ายประชาธิปไตยของไทยในอนาคตยังมีอีกหลายประเทศ แต่แทบจะทุกประเทศเขาเกี่ยงให้เราแสดงออกภายในประเทศไทยเสียก่อน โดยเฉพาะสหภาพยุโรป
- รัฐธรรมนูญระบอบเผด็จการศักดินาที่กำลังจะออกมาจะช่วยให้ฝ่ายเราย่อยสลายเซลล์ของระบอบเก่าอย่างได้ผลหากเรารู้จักใช้ อย่าหวังว่าเราจะชนะในเป้าหมายเล็ก แต่ควรหวังใช้ประโยชน์จากเผด็จการที่เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งนี้อย่างสำคัญในระยะต่อไป

การเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย
๑. ใช้นำหนักฝ่ายตรงข้าม
๒. เอากลยุทธ์ปฏิรูปมาใส่กรอบปฏิวัติ
๓. ยอมทุบทำลายบ้านเพื่อสร้างบ้านใหม่
๔. การเคลื่อนไหวทางกายภาพในประเทศ
๕. หน้าตาของระบอบใหม่

***************************************
จักรภพ ที่ประชุมสมัชชาเสรีไทยในสหรัฐฯ https://www.youtube.com/watch?v=NMxbZbD8wso&feature=youtu.be


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar