onsdag 11 januari 2017

บทความน่าสนใจ ..เกษียร เตชะพีระ : อ่านชาวนาการเมือง (1) .

เกษียร เตชะพีระ : อ่านชาวนาการเมือง (1)

แทนที่ชนบทไทยจะมีสภาพเป็นเศรษฐกิจศีลธรรมและปฏิบัติจริยธรรมแห่งการพึ่งตนเองเลี้ยงตนเองดังก่อน บัดนี้มันได้กลายเป็นสังคมการเมือง (political society) ที่ยึดหลักการทางการเมือง 2 ประการในการเรียกร้องต่อรองกับรัฐบาลแทน

เกริ่นนำ เมื่อวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมศกก่อน ผมได้ไปพูด…
สำหรับโจทย์ใหม่ของการเมืองไทยที่กลายเป็นประเด็นปริศนาซึ่งงานเหล่านี้พยายามค้นหาความกระจ่างคือ :-
1) การรุ่งเรืองขึ้นของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก (the rise of majoritarian democracy) ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมืองต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
2) อำนาจจากการเลือกตั้งของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวก ที่ดูเหมือนมิอาจหยุดยั้งได้ในกรอบของระบบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ (และฉะนั้นจึงนำไปสู่ม็อบใหญ่และรัฐประหารถึง 2 ครั้ง 2 คราใน พ.ศ.2549 และ 2557)
3) ขบวนการมวลชนเสื้อแดง นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ)
หรือกล่าวโดยสรุปอีกนัยหนึ่งก็คือ โจทย์ 3 ข้อที่ว่าเกี่ยวพันกับการประกบประกอบเข้าด้วยกันของ [นักการเมือง+พรรคการเมือง+ขบวนการมวลชน] อันเป็นฝันร้ายที่สุดของรัฐราชการ (bureaucratic polity) ในระบบเลือกตั้งประชาธิปไตย ทั้งนี้ มิไยว่าขบวนการมวลชนนั้นจะโน้มเอียงทางการเมืองไปทางใดก็ตาม

ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตามโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
 
ม็อบชาวนาประท้วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร ปี2557 หลังรัฐบาลจ่ายเงินค้างจ่ายตาม
โครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ล่าช้า AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
ประเด็นใหม่น่าสนใจ
ผมเห็นว่าหนังสือ ชาวนาการเมือง ของ แอนดรู วอล์คเกอร์ นำเสนอประเด็นใหม่หลักๆ ที่น่าสนใจไว้ 3 ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ 1) ชาวนารายได้ปานกลางในประเทศรายได้ปานกลาง 2) ท่าทีความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับผีในฐานะตัวแบบจำลองความสัมพันธ์กับสถาบันอำนาจต่างๆ และ 3) สังคมการเมืองของชาวนาไทย โดยผมขอเล่าไปตามลำดับดังนี้
1) ชาวนารายได้ปานกลางในประเทศรายได้ปานกลาง
ทุกวันนี้ คนจนหรือเกือบจนเป็นเพียงคนส่วนน้อยในชนบทไทย เฉลี่ยแล้วมีประมาณ 20-30% ของครัวเรือนชนบททั้งหมด ขณะที่ชาวนารายได้ปานกลางมีประมาณ 60-80% ของครัวเรือนชนบท โดยลดหลั่นมากน้อยต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ
เพราะฉะนั้น คนจนจึงไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในชนบทแล้ว ประเด็นหลักแห่งชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบทจึงไม่ใช่การดิ้นรนเอาชีวิตรอด (survival) ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในฐานะแค่พอเพียงเลี้ยงตนเองอีกต่อไป
ในความหมายนี้ เศรษฐกิจชนบทจึงไม่ได้อยู่ในภาวะ moral economy หรือ “เศรษฐกิจศีลธรรม” ตามนิยามของ James C. Scott นักรัฐศาสตร์อเมริกันในหนังสือลือชื่อเรื่อง The Moral Economy of the Peasant : Rebellion and Subsistence in Southeast Asia (1976) อีกต่อไป
และฉะนั้นหลักประพฤติปฏิบัติทางเศรษฐกิจของชาวนาชนบทจึงไม่ใช่เรื่องของ subsistence ethic (จริยธรรมแห่งการพึ่งตนเองเลี้ยงตนเอง) ซึ่งเน้นลดความเสี่ยงให้ต่ำสุด เอาความมั่นคงปลอดภัยไว้ก่อน ให้มีพออยู่พอกินและเอาตัวรอดได้เป็นสำคัญ – อย่างที่เคยเป็นมาในภาวะ “เศรษฐกิจศีลธรรม” แต่ก่อน
หากกลายเป็นสภาพที่มีลักษณะเด่น 4 ประการ กล่าวคือ (pp. 8-9; ฉบับแปลไทย หน้า 8-10) :
1) ไม่ยากจนดังก่อนแล้ว
2) ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างหลากหลาย ทั้งปลูกข้าวและปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น ทั้งทำการเกษตรและทำงานนอกภาคเกษตรเช่นรับจ้าง ก่อสร้าง ฯลฯ และทั้งอยู่ในหมู่บ้านชนบทและออกไปทำงานในเมืองใหญ่หรือต่างประเทศ
3) เกิดความเหลื่อมล้ำแบบใหม่ทั้งในหมู่ชาวชนบทร่วมหมู่บ้านด้วยกันและระหว่างหมู่บ้านชนบทกับเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
4) สถานะชาวนารายได้ปานกลางของคนชนบทต้องอาศัยงบประมาณและทรัพยากรจากภาครัฐมาอุ้มชูไว้อย่างสำคัญ
สาเหตุที่ชาวนารายได้ปานกลางของไทยต้องอาศัยการอุดหนุนจากรัฐมาค้ำจุนฐานะของตนไว้นั้นก็เพราะผลิตภาพในการปลูกข้าวและภาคเกษตรโดยรวมของพวกเขาต่ำกว่าผลิตภาพในภาคเศรษฐกิจอื่นของไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแรงงานที่ยังติดค้างกองกันอยู่ในภาคเกษตรชนบทเป็นจำนวนมากกว่าแรงงานในภาคเศรษฐกิจอื่น และผลิตภาพดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าของอีกหลายประเทศโดยเปรียบเทียบด้วย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะกำลังเงินทุนที่ต่ำของชนบทไทย
ท่าทีทางสังคมและการเมืองของชาวนารายได้ปานกลางของไทยจึงไม่ใช่และไม่เหมือนท่าทีของชาวนาเลี้ยงตนเองพึ่งตนเองแบบเก่า ที่มีแนวโน้มระแวงแคลงใจรัฐและทุนภายนอก ว่าจะรุกเข้ามาแย่งชิงกะเกณฑ์เอาผลผลิต ทรัพยากรหรือแรงงาน ฯลฯ จากชนบทไป
ตรงกันข้าม ท่าทีของชาวนารายได้ปานกลางเป็นแบบเปิดรับโลกภายนอก เป็นการผลิตเพื่อค้าขายเต็มที่ เป็นทุนนิยมตลาดเต็มตัว ถึงขั้นที่มี “ชาวบ้านนอกท้องที่” (extra-local residents) เกิดขึ้น คือชาวบ้านที่ย้ายไปทำงานในเมืองหรือต่างประเทศแล้ว แต่ใจยังผูกพันฝักใฝ่กับหมู่บ้าน ส่งเงินรายได้มาจุนเจือครอบครัวญาติพี่น้องเป็นประจำหรือลงทุนซื้อที่ปลูกบ้านใหม่ ยังถือตนเป็นสมาชิกสังกัดหมู่บ้านด้วยคนหนึ่ง ใฝ่ฝันว่าจะได้กลับมาอยู่บ้านเกิดสักวันหนึ่งข้างหน้า ฯลฯ
ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการเชื่อมต่อทั้งกับรัฐ-ทุน-หน่วยราชการ-เอ็นจีโอที่ให้ความสำคัญต่อชุมชน/เศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ ดึงรั้งให้เข้ามา เพื่อตะล่อมและดึงเอางบประมาณ เงินทุน ทรัพยากร เทคโนโลยีมาใช้เพิ่มพูนผลิตภาพของตน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเยี่ยมเยือนชาวนาและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากวิกฤตราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบัน ระหว่างทางที่จังหวัดศรีสะเกษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แวะพบชาวนากลางทุ่งนาขณะที่กำลังเกี่ยวข้าวที่บ้านโชคอุดม ต.ผือใหญ่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พบชาวนากลางทุ่งนาขณะที่กำลังเกี่ยวข้าว
ที่บ้านโชคอุดม ต.ผือใหญ่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ (วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559)
เราอาจตีความสรุปจากงานของ Walker ได้ว่า แทนที่ชนบทไทยจะมีสภาพเป็นเศรษฐกิจศีลธรรมและปฏิบัติจริยธรรมแห่งการพึ่งตนเองเลี้ยงตนเองดังก่อน บัดนี้มันได้กลายเป็นสังคมการเมือง (political society) ที่ยึดหลักการทางการเมือง 2 ประการในการเรียกร้องต่อรองกับรัฐบาลแทน กล่าวคือ (อนึ่ง 2 ข้อนี้ไม่ใช่การสรุปของ Walker แต่ผมสรุปขึ้นเองโดยอาศัยข้อคิดข้อมูลในหนังสือของเขา) :
1) Lifesaver Politics หรือการเมืองแบบขอห่วงชูชีพจากรัฐบาลมาช่วยชาวบ้านในยามยาก เช่น ขอความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เมื่อประสบภัยธรรมชาติน้ำท่วมฝนแล้ง, ขอให้จำนำข้าว จำนำยุ้งฉาง ประกันราคาพืชผล เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ, ขอลดหย่อนผ่อนผันหนี้สินเมื่อหนี้สินล้นพ้นตัวใกล้เสียที่ดินติดจำนอง แก่ ธกส. ฯลฯ และ
2) Pushing-Ashore Politics หรือการเมืองแบบผลักขึ้นฝั่ง เพราะชาวนารายได้ปานกลางกำลังเคลื่อนที่อยู่ (ไม่ได้หยุดนิ่ง) คือว่ายน้ำ (ทางเศรษฐกิจ) อยู่กลางทะเล (ตลาดทุนนิยม) อันเวิ้งว้าง โดยมีจุดมุ่งหมายคือขึ้นฝั่ง (ไปครองชีพตามมาตรฐานของคนชั้นกลางในเมืองมั่ง) ให้จงได้ เพื่อการนี้ พวกเขาจึงคาดหวังมาตรการเกื้อกูลหนุนเสริมผลักดันรุนหลังด้วยประการต่างๆ จากรัฐบาล เพื่อให้พวกเขาว่ายขึ้นฝั่งได้สำเร็จในที่สุด
เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, แปลงสินทรัพย์เป็นทุน, สินเชื่อ SMEs, หรือแม้แต่ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ในปัจจุบัน เป็นต้น
(ต่อสัปดาห์หน้า)
(หมายเหตุ-ปัญญาคืออาวุธ  อ่าน คิด  ติดอาวุธทางปัญญา  พัฒนายกระดับแนวคิด ก้าวทันสถานการณ์บ้านเมือง  รู้ทันกลเกมของทุกฝ่าย (อำมาตย์ศักดินา  ขุนศึก นายทุน  นักการเมือง )ในการช่วงชิงรักษาอำนาจเพื่อ
เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก   บนความเดือดร้อนเสียหายของประเทศชาติและประชาชน...)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar