onsdag 25 januari 2017

สหประชาชาติเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษคดีหมิ่นฯ และยกประเด็นความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

สหประชาชาติเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษคดีหมิ่นฯ ยกประเด็นการละเมิดข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ



ภาพจาก ฟ้าวันใหม่

สหประชาชาติเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษคดีหมิ่นฯ และยกประเด็นความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


25/01/2017
FIDH

(ปารีส กรุงเทพฯ) ตามข้อมูลที่ได้รับจากสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล FIDH หน่วยงานของสหประชาชาติได้เรียกร้องเจ้าหน้าที่ไทยให้ปล่อยตัวนายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté) โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข

ในความเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายพงษ์ศักดิ์โดยทันที พร้อมให้ชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยพลการที่กระทำต่อนายพงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีข้อหาหมิ่นฯ และเตือนว่า “ในบางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการจำคุก หรือการจำคุกเชิงระบบ หรือการลิดรอนเสรีภาพอื่นๆอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งนี้ได้ละเมิดข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ อาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”



วันนี้ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล FIDH และองค์กรสมาชิกอย่างสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ต้อนรับความเห็นของคณะทำงานฯ และเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว หรือจำคุก ในข้อหาหมิ่นฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ (lèse-majesté) โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ของประเทศไทยกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่สามถึง ๑๕ ปี สำหรับผู้ใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

คณะทำงานฯ ยืนยันในความเห็นของตนว่า การควบคุมตัวนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำโดยพลการ เพราะได้ขัดแย้งกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ ๑๐, ๑๑, และ ๑๙ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๔ และ ๑๙ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ข้อบทของกติกา UDHR และ ICCPR ที่กล่าวไว้ รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ระหว่างพิจารณาคดีโดยลับ วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ นายพงษ์ศักดิ์ อายุ ๔๙ ปี อดีตมัคคุเทศก์ ได้ถูกศาลทหารกรุงเทพตัดสินจำคุก ๖๐ ปี ข้อหาหมิ่นฯ จากการกระทำผิด ๖ กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ - จำคุกกรรมละ ๑๐ ปี แต่เนื่องจากนายพงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก ๓๐ ปี คดีของนายพงษ์ศักดิ์มีอยู่ในรายงานร่วมของ FIDH และ สสส. 36 and counting - Lèse-majesté imprisonment under Thailand’s military junta (36 และที่ต้องนับต่อไป การคุมขังตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายใต้รัฐบาลทหารไทย)

คณะทำงานฯ พบว่านายพงษ์ศักดิ์ ถูกควบคุมตัว “เพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ” คณะทำงานฯ ยังพบว่าความคิดเห็นของนายพงษ์ศักดิ์บนสื่อสังคม (social media) ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกของพระราชวงศ์ไทยได้อยู่ในขอบเขตของความคิดเห็นและการแสดงออกที่รับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ ๑๙ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๙ คณะทำงานฯกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยได้ล้มเหลวในการอธิบายว่าข้อจำกัดใดได้นำไปใช้กับกรณีของพงษ์ศักดิ์ ว่าด้วยเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๙ (๓)

คณะทำงานฯยังตัดสินอีกว่าสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรมของนายพงษ์ศักดิ์ ไม่ได้รับการเคารพ หน่วยงานของสหประชาชาติค้นพบ "การละเมิดอย่างร้ายแรงต่างๆ" ต่อหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้สิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม ประการแรก คณะทำงานฯกล่าวว่าศาลทหารกรุงเทพไม่ได้จัดทำ "ประชาพิจารณ์" ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๔ (๑) ในประการที่สอง คณะทำงานฯได้เน้นความสำคัญว่า ศาลทหารกรุงเทพฯไม่ได้มีมาตรฐานของ "อำนาจศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลาง" ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๔ (๑) และประการสุดท้าย คณะทำงานฯได้ให้ข้อสังเกตว่า การที่ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เป็นการละเมิดสิทธิของนายพงษ์ศักดิ์ที่จะได้รับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลยุติธรรมลำดับชั้นที่สูงกว่า ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ ๑๔ (๕) การพิจารณาคดีของพลเรือนโดยศาลทหารฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งย้ำโดยคณะทำงานฯ เนื่องจากศาลทหารมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีของบุคลากรทางทหารสำหรับความผิดวินัยทหารเท่านั้น

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ รัฐบาลทหารไทยหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง ๕๕/๒๕๕๙ เพื่อยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้มีผลเฉพาะกับคดีที่ตัดสินหลังจากวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งไม่รวมกับคดีในอดีต หรือคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตั้งแต่รัฐประหารวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ๒๗ คน ถูกศาลทหารตัดสินจำคุกระยะยาว ขณะนี้อย่างน้อย ๓๑ คดีหมิ่นฯยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของศาลทหาร

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar