måndag 16 januari 2017

ในหลวงกับประชาธิปไตย : คอลัมน์ ใบตองแห้ง


ในหลวงกับประชาธิปไตย
คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา 84 ปี อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ 70 ปี อยู่ในรัชสมัย ร.7 ไม่ถึง 2 ปี อยู่ในรัชสมัย ร.8 อีก 12 ปี แต่ต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา
กล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยไทยไม่ว่าจะคดเคี้ยวระหกระเหินอย่างไร ก็เปลี่ยนแปลง พัฒนามาในรัชสมัยของพระองค์ท่านเกือบทั้งสิ้น แม้ช่วงแรกเป็นยุครัฐบาลทหาร หลังรัฐประหาร 2490 ที่พลังอนุรักษนิยมโค่นล้มปรีดี ปิดฉากประชาธิปไตยของคณะราษฎร แต่ภายหลัง 14 ตุลา 2516 ซึ่งวิกฤตคลี่คลายด้วยพระบารมี 43 ปีถึงวันนี้ เราก็อยู่ใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แม้มีรัฐประหาร 4 ครั้ง มีประชาธิปไตยไม่เต็มใบในบางช่วง
ทำไมนับแค่ 43 ปี ก็เพราะจากปี 2490 ถึง 2516 ประเทศปกครองด้วยอำนาจรัฐประหารมากกว่ารัฐธรรมนูญ แม้รัฐประหารให้ความเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ แต่ก็ปกครองด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ได้ปกครองตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2475 ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชน ชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
ดูง่ายๆ สิครับ ประกาศคณะปฏิวัติ ประกาศคณะรัฐประหาร หัวหน้าประกาศใช้ได้เลย ไม่ต้องทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ไม่เหมือนพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระบรมราชโองการ ที่ประธานรัฐสภา นายกฯ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ
พระบารมีของในหลวง ร.9 แผ่ไพศาลในระบอบประชาธิปไตยที่ทรงเป็นประมุข เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยว ในขณะที่รัฐสภา รัฐบาลก็ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พสกนิกรมีสิทธิเสรีภาพ มีอำนาจตัดสินใจ ในระดับที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 43 ปี ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ปลื้มปีติ “เกิดในรัชกาลที่ 9” ก็เกิดและเติบโตในช่วงนี้แหละ
พระบารมีกับประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องขัดกัน แต่ก็มีคนพยายามดึงสถาบันมาตัดสินการเมือง โดยเฉพาะการเรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน” เมื่อปี 2549 กระทั่งในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า ไม่เคยมีนายกฯ พระราชทาน มาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ
แต่ 10 ปีผ่านไป ก็ดูเหมือนยังมีความคิดความพยายามเรื่องนี้อยู่ จนร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ของ กรธ.ต้องตัดมาตรา 7 ไปใช้มาตรา 5 แก้วิกฤตแทน
อันที่จริง พระบารมีไม่ได้อยู่ในมาตราไหนทั้งสิ้น ถ้าว่าตามหลักรัฐธรรมนูญ เมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต องค์กรอำนาจต่างๆ เป็นอัมพาต ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของประมุขตามมาตรา 3 แต่ถ้าว่ากันตามความเป็นจริงทางสังคมการเมือง เมื่อบ้านเมืองถึงทางตัน จะพินาศย่อยยับ จะฆ่าฟันกัน แบบ 14 ตุลา พฤษภา 35 ก็เหลือแต่บุคคลที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือสูงสุด ที่ยับยั้งและชี้ทางออกได้
เพียงแต่ต้องขึ้นกับพระบรมราชวินิจฉัย “หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ” ไม่ใช่คน 2 ฝ่ายขัดแย้งกันยังไม่เกิดฉันทามติ ฝ่ายหนึ่งก็ไปเรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน” จนความขัดแย้งบานปลาย
สถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่คู่กันได้ และต้องทำให้ได้ แต่จนวันนี้ก็ยังมีคนปลุกกระแส แบบรักสถาบันแล้วไม่ต้องมีประชาธิปไตย “แบบฝรั่ง” ที่ให้เสรีภาพมีความเห็นต่าง หรือบางคนก็ฉวยช่วงนี้ ย้อนไปโจมตีคณะราษฎร ทำนองว่าทำผิดคิดร้ายที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย
รักในหลวง แล้วต้องรักระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังงั้นหรือครับ ไม่เข้าใจหรือว่า ในหลวงทรงสั่งสมพระบารมีจากการเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ที่ทรงมีพระราชดำรัสเองว่า “ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ”
มิพักต้องพูดถึงว่า คณะราษฎรเป็นผู้กราบบังคมทูลอัญเชิญในหลวง ร.8 ขึ้นครองราชย์ แต่คนไทยที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ก่อน 2475 ไม่เข้าใจว่า คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงพ้นไปจากการใช้อำนาจตัดสินใจทางบริหาร ทางนิติบัญญัติ ซึ่งสัจธรรมของอำนาจ ไม่ว่าผู้ใดใช้อำนาจก็ย่อมให้คุณให้โทษ ย่อมเกิดคนพอใจไม่พอใจ อย่างเช่น ร.7 ทรงต้องแบกภาระแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องขึ้นภาษี ตัดงบประมาณ ปลดข้าราชการ ฯลฯ
พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมีพระราชอำนาจไหม มีในแง่กระบวนการ ที่หากไม่เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ บางกรณีก็ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระองค์ไม่เกี่ยวข้องการตัดสินใจ ไม่ว่าการออกกฎหมาย การแต่งตั้งใคร (ซึ่งย่อมมีคนสมหวังผิดหวัง) ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจนั้นๆ
รักในหลวงก็ควรรำลึกถึงพระองค์ท่านในฐานะประมุขแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่เปลี่ยนแปลงพัฒนามาตลอดรัชสมัย

(หมายเหตุ-นำมาอัพเดทให้อ่าน "ปัญญาคืออาวุธในการต่อสู้"   อ่าน  คิด  ติดอาวุธทางปัญญา เพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนยกระดับแนวคิด  ติดตามข่าวก้าวทันปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ...  )

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar