torsdag 9 april 2015

ควันหลง เมษาสีม่วง " ลูกเสือสีม่วง " สังกัดคอก "เจ้าดอกสีม่วง"

รวมพลัง 'ลูกเสือชาวบ้าน' ป้องสถาบัน


รวมพลัง 'ลูกเสือชาวบ้าน' ป้องสถาบัน

ขยายปมร้อน : รวมพลัง 'ลูกเสือชาวบ้าน' ป้องสถาบัน : โดย...ทีมข่าวความมั่นคง

 
                         เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 คณะกรรมการบริหารกิจการลูกเสือชาวบ้าน จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน ในพระบรมราชานุเคราะห์ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ภายใต้ชื่อ “โครงการลูกเสือชาวบ้านรวมใจเฉลิมพระเกียรติ” โดยจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา
 
                         1.ชมรมลูกเสือชาวบ้านภาคตะวันออก ที่สวนสาธารณะศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2,500 คน 2.ชมรมลูกเสือชาวบ้านภาคตะวันตก ที่โรงเรียนบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,750 คน 3.ชมรมลูกเสือชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2,540 คน 
 
                         4.ชมรมลูกเสือชาวบ้านภาคเหนือ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2,980 คน 5.ชมรมลูกเสือชาวบ้านภาคใต้ ที่สนามกีฬา กก.ตชด.42 ค่ายศรีนครินทรา อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 3,858 คน และ 6.ชมรมลูกเสือชาวบ้านกรุงเทพมหานคร ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 980 คน
 
                         พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติว่า คณะกรรมการบริหารกิจการลูกเสือชาวบ้านมีมติเมื่อปี 2556 ให้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะครบรอบพระชนมายุในปี 2558
 
                         ทั้งนี้ บทบาทของลูกเสือชาวบ้านในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้นปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม ไม่เหมือนกับยุคแรกที่ก่อตั้งในปี 2514 ที่ช่วงนั้นมีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์
 
                         บทบาทของลูกเสือชาวบ้านในปัจจุบัน จะเน้นไปที่การสร้างความปรองดอง การยึดถือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และขยายผลไปยังบุคคลข้างเคียง ซึ่งมองว่าปัจจุบันเรื่องการปลูกฝังอุดมการณ์ของคนในชาติเรายังไม่ค่อยชัดเจนนัก
 
                         ที่ผ่านมาบ้านเมืองของเรายังขาดการไตร่ตรองอยู่มากและมีความเชื่อในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย เช่น เชื่อตามที่เขาเล่ามา หรือเชื่อตามความเชื่อเดิมที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งลูกเสือชาวบ้านเราสอนให้คนคิดและยึดถืออุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่สำคัญคือ ต้องเทิดทูนสถาบันไว้เหนือความขัดแย้งทั้งปวง
 
                         ทั้งนี้ กำเนิดลูกเสือชาวบ้านจะพบว่า เกิดขึ้นในช่วงที่มีภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดย พ.ต.อ.สมควร หริกุล ผกก.ตชด.เขต 4 ในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีการฝึกอบรมลูกเสือรุ่นแรกขึ้นที่บ้านเหล่ากอหก กิ่งอ.นาแห้ว อ.ด่านซ้าย จ.เลย ระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2514
 
                         หลังจากฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านรุ่นแรกเป็นผลสำเร็จแล้วได้ขยายผลการฝึกอบรมไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามจังหวัดแนวชายแดน ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม พิษณุโลก สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยถือเอาวันที่ 9 สิงหาคม 2514 เป็นวันกำเนิดลูกเสือชาวบ้าน
 
                         ต่อมา วันที่ 19 มีนาคม 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจกรรมลูกเสือชาวบ้านที่ค่ายเสนีย์รณยุทธ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 4 อ.เมือง จ.อุดรธานี และทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
                         นายวิทยา ชพานนท์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบงานมวลชน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดตั้งลูกเสือชาวบ้านเป็นไปตามหลักสูตรการฝึกอบรมของ ตชด. ใช้เวลาอบรมตามมาตรฐานคือ 5 วัน 4 คืน รุ่นหนึ่งมีประมาณ 200 คน ต่อมาได้มีการถ่ายโอนงานมายังกระทรวงศึกษาธิการในการฝึกฝนอาสาสมัครและขึ้นทะเบียนควบคุม ส่วนกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ตามกลไกราชการส่วนภูมิภาคที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น “ผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านจังหวัด” และนายอำเภอเป็น “ผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านอำเภอ”
 
                         ส่วนในระดับอำเภอ จะมี “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปในระดับอำเภอ” เพื่อใช้พลังมวลชนปกป้องสถาบันทุกรูปแบบ ทั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะช่วยเป็นหูเป็นตาในการปกป้องสถาบัน
 
                         จะเห็นได้ว่า พลังของลูกเสือชาวบ้านมีบทบาทสูงในด้านความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะภารกิจในการปกป้องสถาบัน และการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ แม้ว่าในวันนี้ได้ผ่านยุคสงครามเย็นมานานแล้ว

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar