söndag 13 september 2015

"จาตุรนต์" เขียน "เสรีภาพในการเดินทาง" ห้ามไม่ให้ไปไหน = ละเมิด

มติชนออนไลน์
matichon.


วันนี้ 13 กันยายน  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองชื่อดังชาวฉะเชิงเทรา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์์เฟสบุ๊กชี้เเจงความสำคัญของสิทธิในการเดินทางตามที่มนุษย์พึงมี และได้รับการรับรองตามกฎหมาย ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติระงับหนังสือเดินทาง   มีรายละเอียดดังนี้ "...ผมได้อธิบายความหมายของหนังสือเดินทางไปแล้ว จะขอพูดถึงความสำคัญของสิทธิในการเดินทางเสียก่อนที่จะเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมต่อไป

ในบรรดาสิทธิและเสรีภาพที่บุคคลพึงมีพึงได้ตามกฎหมายและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้น เสรีภาพในการเดินทางถือเป็นสิทธิที่สำคัญยิ่ง ที่รัฐจะต้องให้ความคุ้มครอง

เสรีภาพในการเดินทาง มีการบัญญัติรับรองไว้ในข้อ 13 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2491 และข้อ 12 (2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีมาตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2539

ในส่วนของข้อ 12 (2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่กำหนดว่า "Everyone shall be free to leave any country, including his own." ได้รับการตีความจาก The United NationsHuman Rights Committee ว่า หมายความรวมถึงสิทธิในการมีหรือได้มาซึ่งหนังสือเดินทาง

โดยมีการวินิจฉัยจาก Human Rights Committee เกี่ยวกับการเพิกถอนหรือปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้พลเมืองว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 12 (2) อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น คดี Vidal Martins v Uruguay (57/79) Human Rights Committee วินิจฉัยว่า การที่หน่วยงานของประเทศอุรุกวัยปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ร้องโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 12 (2)

แม้แต่ในกรณีที่รัฐสั่งห้ามบุคคลไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศโดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง ก็ถือว่าขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 12 (2) ดังที่ Human Rights Committee ได้วินิจฉัยไว้ในคดี Gonzalez del Rio v Peru (263/87) เช่นเดียวกับคดี Sayadi and Vinck v Belgium (1472/06) ซึ่ง Human Rights Committee วินิจฉัยว่า การห้ามเดินทางไปต่างประเทศโดยปราศจากเหตุผลความจำเป็นทางด้านความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อย ถือเป็นคำสั่งที่ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 12 (2) อย่างชัดแจ้ง

นอกจากนี้ เสรีภาพในการเดินทางตามกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันโดยตรงก็ตาม แต่โดยที่มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศมีอยู่แล้ว

จึงทำให้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดังกล่าวพึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเสรีภาพในการเดินทางได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อนๆ หลายๆฉบับ

จึงถือได้ว่าเสรีภาพในการเดินทางเป็นสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นการยกเลิกหนังสือเดินทางโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจึงเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทางอันเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ


#หนังสือเดินทาง #เสรีภาพในการเดินทาง #การละเมิดเสรีภาพ
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar