( ตอนที่ 3 )
4.10 สร้างระบอบประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว
การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยได้รับการรับรองจากราชสำนัก ทำให้ระบบพรรคการเมือง และการปกครองแบบประชาธิปไตยอ่อนแอลง แต่แม้กระนั้นก็ไม่อาจจะปิดกั้นอำนาจของประชาชนได้ เพราะการเติบใหญ่ของพลังมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นเป็นพลังทางประวัติศาสตร์ที่เจตนาแห่งปัจเจกชนไม่อาจจะขัดขวางได้
พลังแห่งประชาธิปไตยจึงไม่ต่างอะไรจากทารกหัวดื้อที่แม้แม่ใจร้ายที่ไม่อยากจะมีลูกพยายามกินยาขับให้แท้ง แต่ในที่สุดก็คลอดออกจนได้ฉันใดก็ฉันนั้น ดังนั้นในรอบ 60 กว่าปีของการครองราชย์ก็ไม่อาจจะคุมกำเนิดพลังประชาธิปไตยได้ ราชสำนักทำได้เพียงทำให้ประชาธิปไตยแคระแกรน ไม่อาจจะเติบใหญ่เข้มแข็งได้ แต่ผลร้ายก็ตกแก่ประชาชนโดยรวมเพราะพลังแห่งระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมเช่นของไทยทุกวันนี้ไม่สามารถจะสร้างความอุดมสมบูรณ์พูลสุข และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เขามีระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง
นับวันที่ประชาธิปไตยได้ถูกปิดกั้น ขาดสารอาหารจนแคระ แกร็น และแม้เด็กหัวดื้อคนนี้จะเกิดเข้มแข็งขึ้นมาได้ก็ไม่เว้นยังต้องถูกหักแข็งหักขาให้พิการอีกจนได้ ดังเช่นกรณีการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณที่มีความเข้มแข็ง และมีศรัทธาจากประชาชนสนับสนุน, สภาพต่างๆ เช่นนี้นับวันยิ่งประจานตัวเองให้เห็นว่าประเทศไทยมีรูปร่างเป็นเด็กพิการอมโรคที่น่าเกลียด และแปลกประหลาดมากยิ่งขึ้นในสายตาของชาวโลก
ในการรัฐประหารครั้งหนึ่งๆ อำนาจของทหารที่ได้ร่วมมือกับระบอบราชการได้สร้างกรอบล้อมระบอบราชการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และลดอำนาจของฝ่ายการเมืองลงจนกระทั่งไม่อาจจะควบคุมบริหารข้าราชการได้ ทำให้ระบอบราชการหรือที่นิยมเรียกกันว่า “ระบอบ อำมาตยาธิปไตย” ขึ้นครอบงำอำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาชนเกือบจะไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน
จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นมรดกตกทอดของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นระบอบ อำมาตยาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบและแนบเนียน กล่าวคือรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้วางโครงสร้างให้ศาลทั้ง 3 สถาบัน คือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้คุมอำนาจของรัฐบาลทั้งหมดโดยประธานศาลทั้ง 3 สถาบัน เป็นผู้ตั้งองค์กรอิสระที่มาจากข้าราชการอาวุโส ที่ต้องเป็นข้าราชการอาวุโสเพราะ(แก่เกินแกงความคิดเป็นอำมาตย์สมบูรณ์แบบไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว) อีก 4 องค์กร และหลังจากนั้นตัวแทนศาลทั้ง 3 สถาบัน กับ ตัวแทนองค์กรอิสระทั้ง 4 องค์กร ก็ร่วมกันเลือกสมาชิกวุฒิสภา 74 คน เพื่อมาคุมรัฐบาลโดยมีอำนาจเสมอเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งกว่านั้นก็ให้อำนาจพิเศษแก่องค์กรอิสระเช่น กกต. ,ปปช. ที่ทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวนคอยตรวจสอบจับกุมนักการเมืองทุกคนขึ้นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาการเมือง ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือนัยหนึ่งก็คือเปลี่ยนอำนาจของรัฐบาลที่ประชาชนตัดสินมาแล้ว ตามชอบใจของศาลซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมจากราชสำนัก โดยผ่านมือที่มองไม่เห็นของเครือข่ายราชสำนัก และก็ได้ปฏิบัติการเป็นผลจริงแล้ว เช่น การตัดสินให้นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่ง ด้วยเพราะทำกับข้าวโชว์ทางโทรทัศน์ และตัดสินล้มรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยการยุบพรรคอย่างฉุกละหุก และมีพิรุธ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ก่อนที่นายสมชาย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียง 2 ชั่วโมง ในงานสวนสนามกองทหารรักษาพระองค์
ไม่เพียงแต่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ราชสำนักเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐโดยผ่านอำนาจศาลทั้ง 3 สถาบัน ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น โดยเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญแล้วยังบรรจุแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐ ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคไม่มีอิสระที่จะเสนอนโยบายต่อประชาชนเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ อีกทั้งยังสกัดกั้นอำนาจของฝ่ายการเมืองให้เกิดความยุ่งยากในการบริหาร ไม่สามารถจะตัดสินการแก้ปัญหาของประชาชนอย่างฉับไวได้ เช่น การจะไปตกลงการค้าหรือสัญญาใดๆ กับต่างประเทศต้องนำมาขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา ที่มีราชสำนักวางโครงสร้างควบคุมอย่างแน่นหนาไว้แล้วอีกด้วย
จากโครงสร้างที่ปิดกั้นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาชนเช่นนี้ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยบิดเบี้ยว ทำให้ทุกฝ่ายในรัฐสภา ทั้งระหว่างสมาชิกสภาด้วยกันเอง และระหว่างสมาชิกสภากับประชาชน เกิดความขัดแย้งกันไม่มีที่สิ้นสุด โดยเปิดช่องให้ฟ้องร้องกันยังโรงศาลเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกันโดยศาลเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้นนักการเมืองในสภาแทนที่จะมุ่งสร้างผลประโยชน์ให้ประชาชน เพื่อขอคะแนนความเห็นชอบจากประชาชนก็กลายมาเป็นใช้วิธีแย่งชิงอำนาจกันด้วยการฟ้องร้องโดยหาข้อผิดพลาดทางกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นดำเนินคดีต่อกัน
ระบอบการเมืองของไทยปัจจุบันจึงกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบค้าความ ซึ่งหากนำไปใช้ในสหรัฐอเมริกาวันนี้ก็น่าเชื่อได้ว่า แม้ประธานาธิบดีโอบามาจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ก็คงจะยังไม่อาจจะเข้าบริหารราชการได้ เพราะ กกต.ยังไม่รับรองหรือแม้ว่ารับรองแล้ว แต่ ปปช.กำลังสอบสวนเรื่องที่ฝ่ายพ่ายแพ้ร้องเรียนอยู่ หรืออาจจะต้องใจหายใจค่ำไม่แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ เพราะมีนาย ก. นาย ข.ไปยื่นฟ้องคดีในข้อหาต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ศาลอยู่ และศาลกำลังจะพิจารณาตัดสิน หากตัดสินจำคุกก็จะต้องหลุดจากตำแหน่งทันที
ระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ถูกถอดกระดูก เขี้ยวเล็บ จนกลายเป็นมนุษย์พิการไปเสียแล้ว
4.11 จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า : ทหารไม่ต้องขึ้นต่อรัฐบาล
“จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของม้า ม้าเป็นของเจ้าของคอก ม้าไม่ต้องฟังจ๊อกกี้”
วลีทองข้างต้นนี้ เป็นความหมายแห่งคำกล่าวของประธานองคมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่กล่าวให้โอวาทแก่นักเรียนนายร้อย จปร. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 ที่มีผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกนำกำลังทหารออกมายึดอำนาจจากรัฐบาล
วลีทองนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ว่าทหารซึ่งเป็นเสมือนม้าไม่ต้องฟังรัฐบาลซึ่งเป็นเสมือนจ๊อกกี้ เพราะทหารเป็นของพระราชาซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของคอกม้าเท่านั้น แต่แท้จริงคือสรุปให้เห็นถึงระบบการเมืองที่เป็นจริงและเป็นความถูกต้อง แต่ไม่ใช่ความถูกต้องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบอังกฤษหรือแบบญี่ปุ่น แต่เป็นความถูกต้องแท้จริงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ ที่อำนาจทางการเมือง การทหาร ที่เป็นจริงนั้นมิได้ขึ้นต่ออำนาจการบริหารของรัฐบาล ตัวโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาชนนั้นเป็นเพียงรูปแบบของอำนาจการบริหารจัดการที่คล้ายกับอำนาจการบริหารของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยทั่วๆ ไป แต่เนื้อแท้อำนาจกลับรวมศูนย์อยู่ที่ตัวองค์พระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราจึงได้เห็นความขัดแย้งระหว่างข้าราชการประจำ กับรัฐบาลอยู่เสมอมา โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงและอธิบดี ซึ่งประชาชนจะเห็นการแสดงออกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมขึ้นต่อการบริหารของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอยู่เสมอซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยถ้อยคำว่า
“ผมเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ข้าราชการของนักการเมือง”
ล่าสุดนายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อไม่พอใจต่อคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งจากคำสั่งของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 ก็แสดงความไม่พอใจในคำสั่งนั้น ด้วยข้อความว่า
“เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราเป็นข้าราชการของประชาชน เป็นข้าราชการของบ้านเมือง เราไม่ใช่ข้าราชการของรัฐบาล รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของเรา”Ù
ด้วยเพราะระบอบการปกครองที่เป็นจริงของไทยนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงไม่อาจจะบังคับบัญชาข้าราชการได้ และจากรณีคำสั่งย้ายนายพงศ์โพยม ปลัดกระทรวง โดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนี้ก็ได้แสดงให้เห็นชัดถึงอิทธิพลทางความคิดของราชสำนักที่กลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารของรัฐบาล และไม่เพียงแต่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมความเชื่อ แต่เป็นเรื่องอำนาจการแทรกแซงจริงด้วย เพราะปรากฏเป็นข่าววงในว่าทันทีที่นายกฯ สมัคร มีคำสั่งย้ายปลัดอย่างเป็นทางการ ก็มีพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯ โทรมายับยั้งทันทีเหมือนกัน
4.12 ข้าราชการมุ่งสู่ราชสำนัก ปฏิเสธอำนาจประชาชน
จากสภาวะความเป็นจริงที่โครงสร้างอำนาจรัฐ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม รวมศูนย์อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งมีระเบียบราชการให้ข้าราชการชั้นสูงตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป รวมตลอดทั้งตำแหน่งผู้บริหาร และในสถาบันการศึกษาของรัฐ คณบดี อธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด จะต้องได้รับการโปรดเกล้าจากพระมหากษัตริย์ก่อนจึงจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ และวัฒนธรรมโปรดเกล้ามหากรุณาธิคุณนี้ได้ขยายครอบคลุมไปทุกกระบวนการของพิธีกรรมในระดับรากหญ้า เช่น การพระราชทานเพลิงศพได้ขยายลงไปถึงครอบครัวกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อ.บ.ต.แล้ว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ราชสำนักทั้งสิ้น ดังนั้นในระบบงานราชการปัจจุบันจึงเกิดกระบวนการวิ่งเต้นของข้าราชการทุกระดับชั้นที่ต่างก็ต้องการที่จะเข้าไปรับใช้ใกล้ชิดเจ้านายเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และหากใครได้รับการโปรดปราน โดยได้รับยศศักดิ์ เครื่องราชชั้นสูงเป็นกรณีพิเศษ หรือเป็นพระสหายโดยเฉพาะข้าราชการสตรี หากได้รับการโปรดเกล้าเป็นคุณหญิง ท่านผู้หญิงแล้วก็จะกลายเป็นคนมีปลอกคอที่รัฐมนตรีไม่มีใครกล้าแตะต้อง แม้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นจะไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ก็ไม่มีรัฐมนตรีคนใดอยากจะไปยุ่งเกี่ยวด้วย ดังนั้นการบริหารประเทศชาติตามแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่เสนอต่อประชาชนซึ่งจำเป็นจะต้องมาผลักดันผ่านโครงสร้างของระบบราชการ จึงเป็นเรื่องหลอกลวงประชาชนตั้งแต่วันแรกที่โฆษณาหาเสียงต่อประชาชน แต่หากผู้นำพรรคการเมืองใดต้องการจะสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชนตามนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็จะต้องมีความกล้าหาญและกล้าเสี่ยงต่อการฝ่าแนวกีดขวางของกลุ่มข้าราชการ “เส้นใหญ่” เหล่านี้ ซึ่งมีเครือข่ายเข้มแข็งคอยเพ็ททูลใส่ร้าย กันอย่างเป็นระบบจนเกิดความเข้าใจผิดต่อตัวนายกรัฐมนตรี และนำมาซึ่งการพังทลายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา และล่าสุดก็คือกรณีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีของไทยจึงน่าสงสารมากเพราะกว่าจะมาเป็นนายกฯ ได้ก็ยากแค้นแสนเข็ญ ต้องเอาใจประชาชนคนลงคะแนนทั้งบ้านทั้งเมือง แต่เมื่อมาเป็นนายกฯ แล้วก็ยังมีตำแหน่งเล็กกว่าข้าราชบริพารในราชสำนักเสียอีก โดยเฉพาะพวกราชเลขาและรองราชเลขาทั้งหลาย
โครงสร้างการบริหารรัฐของประเทศไทยที่ผ่านมาต้องตกอยู่ในฐานะเดียวกันที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนที่ได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนต้องคอยเอาอกเอาใจนางสนองพระโอฐทั้งหลายที่จะมีคำขอร้องเชิงบังคับมายังตัวรัฐมนตรีไม่ได้หยุดหย่อน และไม่สามารถที่จะสั่งการตามนโยบายต่อข้าราชการในสายงานของตนแต่เป็นผู้ใกล้ชิดราชสำนักได้ สภาพโครงสร้างอำนาจรัฐเช่นนี้จึงสร้างอำนาจที่ซ้อนอำนาจ และเกิดความซับซ้อนในการบริหารจัดการที่ผู้มีอำนาจรัฐตัวจริงคือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่ลงมือสั่งการบริหารจัดการโดยตรง ส่วนรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารรัฐโดยตรงแต่กลับไม่มีอำนาจจริงซึ่งเป็นไปตามข้อสรุปว่า
ผู้บริหารไม่มีอำนาจ แต่ผู้มีอำนาจไม่บริหาร
เมื่อรัฐไทยต้องตกอยู่ในสภาวะที่ซับซ้อนที่รัฐบาลในฐานะผู้บริหารตัวจริงแต่ไม่มีอำนาจ และความมั่นคงของรัฐบาลมิได้อยู่ที่ระบบรัฐสภา หากแต่อยู่ที่ความพึงพอใจของข้าราชบริพารผู้รับใช้ใกล้ชิดราชสำนัก แน่นอนที่สุดผลร้ายย่อมจะตกแก่ราษฎรอย่างแน่นอน
4.13 ราชเลขาคือหัวหน้าปลัดกระทรวง
ในโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้น ปลัดกระทรวงถือว่าเป็นมือไม้สำคัญในการนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติให้เกิดความสัมฤทธิ์ ดังนั้นในการปฏิบัติราชการ จึงมีการประชุมร่วมปลัดกระทรวงทุกกระทรวงประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง โดยแต่ละกระทรวงผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมและเลี้ยงอาหารหมุนเวียนกันไป ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้เกิดการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ในระบบประชาธิปไตยถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะปฏิบัติการเช่นนี้ แต่สำหรับประเทศไทยราชสำนักนั้น โดยหน้าที่ตามกฎหมายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ความเป็นจริงปรากฏว่าทุกครั้งในการประชุมปลัดกระทรวงจะมีท่านราชเลขาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ ท่านแก้วขวัญ วัชโรทัย มาร่วมประชุมด้วยเสมอ ซึ่งในฐานะทางสังคมก็เป็นที่เกรงใจอยู่มากแล้ว และปรากฏว่าอายุของท่านก็อาวุโสสูงสุดคือประมาณ 80 กว่าปี (เนื่องจากข้าราชการในราชสำนักไม่มีเกษียณอายุ) ในขณะที่ปลัดกระทรวงทุกคนมีอายุไม่เกิน 60 ปี ประกอบกับเป็น ผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ ใครๆ ก็ต้องเกรงใจไม่กล้าเสนอความเห็นโต้แย้ง ดังนั้นฐานะของท่านราชเลขาจึงอยู่ในฐานะเป็นซุปเปอร์ปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าปลัดกระทรวง ในที่ประชุมซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งร่วมประชุมอยู่ด้วยนั้น จึงเท่ากับถูกครอบงำโดยท่านราชเลขาธิการหรือหนึ่งในนั้นก็คือราชสำนักได้ลงมาครอบงำระบบบริหารราชการทั้งหมดนั่นเอง
ดังนั้นการขับเคลื่อนสังคมไทยที่แท้จริงจะดีหรือเลว จะไวหรือช้า ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแนวคิดของราชสำนักเป็นสำคัญ
วันนี้จึงถือได้ว่าประเทศไทยได้ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชใหม่ โดยสมบูรณ์แล้ว
Ù เครือข่ายกษัตริย์ (Network Monarchy) เป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ใช้และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Pacific Review.,Vol.18 No.ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2005 หน้า 499-519 บทความเรื่อง “วิกฤตเครือข่ายกษัตริย์และความชอบธรรมในไทย” เขียนโดย Duncan McCargo ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยลีดส์
Ù “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาใช้เป็นครั้งแรกในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูง โดยมุ่งหมายถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และหลังจากที่ใช้ถ้อยคำนี้ไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจจนไม่สามารถจะกลับประเทศไทยได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจที่แท้จริงของ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”
Ùวิจัย ใจภักดี ,2550 “เปิดหน้ากากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์)
Ù นิตยสาร เดอะ อิโคโนมิส (The Economist) ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2008
Ù Thaienews.bolgsport.com คัดจาก posted by editor 01
Ù วิจัย ใจภักดี พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 56 “เปิดหน้ากากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ความจริงวิกฤตการเมือง” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์
Ù คำสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 22 กันยายน 2551 หน้า 11
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar