torsdag 17 mars 2016

 
ก่อนหน้ารัชกาลที่ ๗ นั้น รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ทรงต่อต้านประชาธิปไตยมาก รัชกาลที่ ๕ หาว่าพวกที่สนับสนุนระบบรัฐสภานั้น “พูดไปโดยรู้ งูๆ ปลาๆ.......” (๑)  เพราะฝันเฟื่องไปว่า ตนเองซึ่งเป็นกษัตริย์ “.....จะทรงประพฤติการณ์อันใด ก็ต้องเป็นไปตามทางที่สมควรและยุติธรรม” (๒) และหลงว่าถึงจะมีสส. คนก็คงเชื่อกษัตริย์มากกว่าสส.(๓) ส่วนรัชกาลที่ ๖ ก็แสดงความเห็นไว้ในหนังสือเรื่อง “ฉวยอำนาจ” ว่าการปกครองแบบเก่าสมบูรณ์ที่สุด เพราะว่า “มีราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” และพยายามต่อต้านระบบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ประดุจผู้ที่ปิดหูปิดตาตนเอง โดยดึงเอาระบบประชาธิปไตยไปพัวพันกับความจลาจลวุ่นวาย ดังจะเห็นได้จากบทความเรื่อง “ความกระจัดกระจายแห่งเมืองจีน” และ “การจลาจลในรัสเซีย” ซึ่งพระองค์แปลมาจากภาษาอังกฤษ เพื่อปกป้องสถานภาพที่ได้เปรียบของตนไว้
ความคิดที่ล้าหลังของกษัตริย์ทั้งสอง ขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศชาติ จึงถูกผู้ที่รักชาติต่อต้านตลอดมาซึ่งจากบันทึกของรัชกาลที่ ๗ ได้ชี้ว่าตั้งแต่ปลายรัชกาลของรัชกาลที่ ๕ แล้ว ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ในแง่ลบมากขึ้น(๔) บันทึกนั้นมีสาระตรงกับความคิดของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถที่ว่า “นับแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้นมา ความเชื่อมั่นในพระบรมราโชบาย......ดูเบาบางลง เกิดมีความเห็นว่า ทำอย่างนั้นจะดีกว่า ทำอย่างนี้จะดีกว่า ทำอย่างนั้นเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎร....” (๕)
สำหรับรัชกาลที่ ๗ นั้น มีความทันสมัยกว่าพี่ชายและพ่อ คือเห็นว่า “.....ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระยะเวลาของระบบเอกาธิปไตยเหลือน้อยเต็มที....” (๖)
แต่ถึงพระองค์จะรู้เช่นนี้และมีโอกาสเป็นกษัตริย์อยู่หลายปี ก็มิได้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆให้เกิดขึ้นในเวลาอันสมควร จนทำให้สถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองเลวร้ายลงทุกที แม้หนังสือพิมพ์ เช่น นครสาร, บางกอกการเมือง, ปากกาไทย, สยามรีวิว, ศรีกรุง และไทยหนุ่ม จะเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ นสพ.ไทยหนุ่ม ฉบับเดือน ก.ค. ๒๔๗๐ ถึงกับเสียดสีพวกศักดินาว่า “....อย่าว่าแต่ราษฎรที่ไม่ได้รับการศึกษา จะเป็นพลเมืองที่ถ่วงความเจริญของประเทศเลย ถึงพระเจ้าแผ่นดินที่มีชีวิตไม่เต็มความ ก็เป็นภัยกับประเทศเหมือนกัน.....”
แต่พวกเจ้า ก็ยังแสดงทีท่าว่าเป็นพระอิฐพระปูน สิ่งนี้ทำให้เกิดกรณีการเปลี่ยนแปลงในปี ๒๔๗๕ อันเป็นฝันร้ายของพวกศักดินา พวกอนุรักษ์นิยมที่จะต้องจดจำไปตลอดชีวิต และก็เพราะเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้รัชกาลที่ ๗ ต้องสละราชสมบัติ
 

 หลักฐานอ้างอิง     

 ๑. พระจุลจอมเกล้า “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคี” หนังสืออ่านประกอบคำบรรยายวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย (เรื่องเดิม) หน้า ๒๔๐
๒. พระจุลจอมเกล้า “พระราชดำรัสลงในพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครอง” หนังสืออ่านประกอบคำบรรยายฯ ( เรื่องเดิม) หน้า ๒๓๕
๓. เรื่องเดิม หน้า ๒๓๕
๔. กจช. เอกสาร ร.๗ สบ.๒.๔๗/๓๒ เล่ม ๓ บันทึกเรื่องการปกครอง (๒๓ก.ค.-๑ส.ค.๒๔๖๙) พระราชหัตถเลขา ร.๗ ถึง ดร.ฟรานซิส บีแซร์
๕. กจช. เอกสารสมัย ร.๖ หมายเลข ก๑/๒ ลายพระหัตถเลขา เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทูล ร.๖ วันที่ ๒๔๕๔
๖. กจช. เอกสาร ร.๗ สบ.๒.๔๗/๓๒ เล่ม ๓ บันทึกเรื่องการปกครอง (๒๓ก.ค.-๑ส.ค.๒๔๖๙) จดหมาย ร.๗ ถึง ดร.ฟรานซิส บีแซร์
ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือเกี่ยวกับประวัติงาน ของเทียนวรรณ กx.ร.กุหลาบ เช่น ฟื้นอดีต ของ แถมสุข นุ่มนนท์

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar