söndag 27 mars 2016

Chaturon Chaisang.......ประชามติที่ห้ามคนเห็นต่าง

Chaturon Chaisangs foto.
ประชามติที่ห้ามคนเห็นต่าง
จากกฎหมายประชามติและคำสัมภาษณ์ประธานกรธ.ถึงการควบคุมตัวผู้เห็นต่าง การลงประชามติยังจะมีประโยชน์อะไร
กกต.เสนอกฎหมายประชามติที่จะหาทางป้องกันการขัดขวางการลงประชามติด้วยการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง เรื่องนี้คงไม่ค่อยมีใครว่าอะไร ขอให้กกต.เอาจริงกับผู้ที่ขัดขวางการลงประชามติเถอะ อย่าทำเหมือนตอนที่มีคนขัดขวางการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่กกต.นอกจากจะหน่อมแน้มเป็นพิเศษ กกต.บางคนยังให้ท้ายการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างออกนอกหน้าด้วย
ปัญหาของกฎหมายประชามติมาอยู่ที่การจัดเอาผู้ที่เห็นต่างเข้าไปอยู่เป็นพวกเดียวกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้งด้วยการใช้คำว่า "บิดเบือน"ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าแค่ไหน อย่างไรจึงถือว่าบิดเบือน แม้แต่กกต.บางคนเองก็ยังยกตัวอย่างว่าคำว่า “สืบทอดอำนาจ” เขาเองไม่เห็นว่าเป็นการบิดเบือน แต่กกต.อีก 4 คนอาจเห็นว่าบิดเบือนก็ได้
หลายคนเป็นห่วงว่าคงเกิดการตีความจนวุ่นวายกันไปใหญ่ แต่ผมว่าถ้าเป็นแบบนี้คงไม่มีการตีความอะไรกันมาก เพราะเมื่อความไม่ชัดเจนที่ต้องตีความนี้ถูกโยงเข้ากับการลงโทษหนักถึง 10 ปีและอาจเพิ่มเติมด้วยความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีก 5 ปีด้วย เกิดการตีความไม่กี่ครั้ง คงไม่ค่อยมีใครอยากเสี่ยง
ทำไปทำมา การแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายร้ายแรงไปแล้ว
เมื่อวานนี้ท่านประธานกรธ.เพิ่งให้สัมภาษณ์โอ้อวดสรรพคุณของร่างรธน.ของท่าน ท่านว่าถ้าทุกคนปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้แล้วก็จะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร
พูดอีกก็ถูกอีก เพราะการรัฐประหารเองคือการการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หากปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมจะไม่ทำรัฐประหาร แต่เข้าใจว่าที่ท่านออกแบบรธน.ครั้งนี้ ท่านคงตั้งใจให้ผู้ที่มักจะทำรัฐประหารทั้งหลายสามารถมีอำนาจเหนือรัฐบาล จนไม่รู้ว่าจะทำรัฐประหารไปทำไมเสียมากกว่า
ท่านประธานยังบอกว่าหากประชาชนได้อ่านและเข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง ไม่ถูกใครบิดเบือน เชื่อว่าประชาชนจะชอบ รับได้ มีความสุข
ตรงกันข้ามกับความเชื่อของผู้ที่ศึกษาร่างของท่านจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าถ้าประชาชนได้รับรู้และเข้าใจร่างของท่านดีพอ ประชาชนจะไม่รับร่างแน่
แต่ประเด็นสำคัญท่ีท่านพูดมาอยู่ตรงคำว่า “บิดเบือน" ซึ่งไปสอดคล้องคำที่กกต.ใช้อยู่ในกฎหมายประชามติพอดิบพอดี
แสดงว่าท่านก็หวังจะให้ร่างของท่านผ่านด้วยการอาศัยกฏหมายประชามติที่ใช้คำว่า “บิดเบือน”และการลงโทษท่ีรุนแรงอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลมาปิดกั้นการแสดงออกของผู้ที่เห็นต่างนั่นเอง
บรรยากาศของการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการลงประชามติที่จะมีขึ้น ถูกกำหนดล่วงหน้าให้เราเห็นภาพกันได้ไม่ยากแล้ว จากกฎหมายประชามติและแนวคิดของประธานกกต.นี่เอง
สภาพที่น่าเป็นห่วงว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้าถูกทำให้ชัดขึ้นจากการควบคุมตัวผู้เห็นต่างไปไว้ในที่ๆไม่เปิดเผยด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปรับทัศนคติ ล่าสุดคือกรณีคุณวรชัย เหมะ ซึ่งมักแสดงความเห็นต่างทางการเมืองโดยเฉพาะในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอยู่เป็นประจำ ถ้าติดตามกันดีๆจะพบว่าความเห็นของคุณวรชัย ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อส่วนรวมแต่อย่างใดเลย โดยมากมักเป็นการพูดแบบตรงไปตรงมา บางครั้งอาจจะดุเด็ดเผ็ดมันสักหน่อย แต่ที่คุณวรชัยแสดงความวิตกความห่วงใยต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะที่ห่วงว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งและวิฤต เหมือนเป็นกับดักอยู่ข้างหน้านั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจน่าจะต้องรับฟังอย่างมากด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นการคุมตัวไปไว้ที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ด้วยเหตุผลว่าคุณวรชัยพูดในทางที่ไม่สร้างสรรค์และจะทำให้เกิดความขัดแย้ง
ลำพังคุณวรชัยนั้น ผมเชื่อว่าถึงจะมีใครพยายามจะไปปรับทัศนคติอย่างไร ก็คงไม่สามารถทำให้เปลี่ยนความคิดไปได้ ที่เป็นห่วงก็คือการควบคุมตัวในลักษณะข่มขู่และคุกคามที่กระทำต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้ผู้คนทั้งหลายรู้สึกได้ว่าการลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องไร้สาระไม่มีประโยชน์อะไรเอาเสียเลย
การลงประชามติที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ให้ฝ่ายสนับสนุนพูดได้ข้างเดียวเช่นนี้ ประชาชนจะไม่ได้ตัดสินอะไร เพราะผลที่จะออกมาได้ถูกกำหนดไว้เสียแล้ว
บางท่านอาจจะบอกว่าไม่เป็นไร เขาไม่ให้เราตัดสินในการลงประชามติ เราก็ไปตัดสินกันในตอนเลือกตั้ง
ต้องขอทำความเข้าใจอีกครั้งครับว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผ่านแล้ว ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ ประชาชนจะตัดสินอะไรไม่ได้เลยครับ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar