torsdag 5 januari 2017

ประชามติฆ่าประชาธิปไตย…

 
2560 ปชต.มืดมน ใบตองแห้ง ปี 2559 ประชามติฆ่าประชาธิปไตย…งแห้ง

ปี 2559 ประชามติฆ่าประชาธิปไตย ปี 2560 จะเหลืออะไร ก็เหลือแต่ความมืดมน
จากที่ประชาชนคาดหวังไว้ มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีเลือกตั้ง แค่ต้นปีก็มีคนออกมาพูดอีกอย่าง “เลือกตั้งปี 61” นั่นทั้งๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญทำให้การเลือกตั้งหมดความหมาย ประชาชนเลือกยังไงก็แพ้ ส.ว.ลากตั้ง วางสนุ้กไว้ทุกอย่างก็ยังไม่อยากไปสู่เลือกตั้ง เพียงเพราะรัฐบาลใหม่ไม่มี ม.44 จึงมีไอ้ห้อยไอ้โหนยุให้อยู่อย่างนี้ไปก่อน กระชับอำนาจให้มั่นคง ไม่มีเลือกตั้งก็ไม่เดือดร้อน ทั้งสื่อทั้งโพลล์ยกย่อง รัฐประหารดีกว่าเลือกตั้ง ฉะนั้น จะรีบเลือกทำไม
“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เฮ้ย ไม่ใช่ ลุงตู่เปลี่ยนเพลงใหม่นานแล้ว วันนี้เปลี่ยนจากเรือแป๊ะเป็นสะพาน จะรื้อสะพานได้ไง ตกน้ำตายหมด
ประชามติ 7 สิงหา (จับลิงจับเด็กจับกาแฟกาโน) ได้รับรอง “ความชอบธรรม” ของอำนาจ คสช. ม.44 เลือก “ลุงตู่” เป็นบุคคลแห่งปี โดยไม่มีใครโต้แย้ง ฉะนั้น จะรีบทิ้งลุงตู่ไปสู่เลือกตั้งได้ไง ปัดโธ่! ได้รับความนิยมเพียงนี้ ก็ต้องสร้างชาติบ้านเมืองให้สงบมั่นคงก่อนสิ ค่อยกลับสู่ภาวะปกติไม่มี ม.44
นี่ต่างกันสิ้นเชิงกับประชามติปี 50 ที่รัฐธรรมนูญผ่านปุ๊บเลือกตั้งปั๊บ ที่จริงต่างกันตั้งแต่เป้าหมายของการรัฐประหาร ครั้งนั้นคิดเพียงกำจัด “ระบอบทักษิณ” แต่ครั้งนี้สรุปบทเรียนว่า เพื่อความมั่นคง ต้องออกจากระบอบประชาธิปไตยแบบที่ใช้มาร่วม 40 ปี จัดระเบียบอำนาจ วางยุทธศาสตร์เป้าหมายใหม่ เป็นรัฐที่ชูความมั่นคงไว้สูงสุด ตามด้วยเศรษฐกิจ ปากท้อง คุณภาพชีวิต แล้วสิทธิเสรีภาพทางการเมืองจึงค่อยมาอันดับโหล่
อ้าว ไม่เห็นหรือครับ เราอยู่ในรัฐทหารยุคโลกสวย ช่วยชาวนา ปลอดสาร ปลูกป่า สร้างภูมิทัศน์ สร้างสะพานจักรยาน ห้ามโฆษณานมผง สนับสนุนนมแม่ ฯลฯ แต่อย่าโพสต์อะไรในโลกออนไลน์ที่ขัดต่อ “ศีลธรรมอันดี”
พูดอย่างนี้มีปัญหาใช่ไหม กับการเชิดชูความมั่นคง เปล่าเลยครับ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเชิดชู 3 สถาบันหลักอยู่แล้ว แต่ที่แตกต่างคือต้องถามว่า ความมั่นคงนั้นพ่วงเอาความมั่นคงของรัฐราชการ ทหาร ศาล องค์กรอำนาจต่างๆ ที่ควรอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของปวงชน เข้าไปด้วยหรือเปล่า
ดังนั้น ทิศทางที่ต้องจับตาในปี 2560 ไม่ว่ามีเลือกตั้ง หรือไม่มีเลือกตั้ง ก็คือการกระชับอำนาจ วางรากฐานความมั่นคง วางกฎเกณฑ์ต่างๆ ก่อนไปสู่เลือกตั้ง ดังที่ได้เห็นมาแล้วจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และที่จะตามมาคือ พ.ร.บ.สื่อ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ
ประชามติ 7 สิงหา ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในภาวะที่ประชาชนอับจน ไม่มีทางเลือก ถูกปิดกั้น หวังผลเฉพาะหน้า แต่ผลของมันก็คือการ “ฆ่าประชาธิปไตย” แม้คนส่วนใหญ่ไม่เจตนา เพียงคิดว่าเลือกความสงบไว้ก่อน ไม่อยากเห็นความวุ่นวาย หวัง “เว้นวรรคประชาธิปไตย” ให้ คสช.ซ่อมสร้างบ้านเมือง
แต่ผลที่ตามมา จะเกินกว่าที่คาดคิด เพราะเท่ากับสังคมไทยยอมละทิ้งหลักการ เหตุผล ด้วยทัศนะประโยชน์นิยม ยึดความพึงพอใจเฉพาะหน้า ซึ่งก็คือความนิยมในลุงตู่ และการบริหารประเทศด้วย ม.44 เชื่อการปกครองด้วยคนดี แต่สิ่งที่จะตามมาคือไม่สามารถสถาปนาการปกครองด้วยระบบกฎหมาย มีหลักยึด มีความเสมอภาค เท่าเทียม หรือกระทั่งความยุติธรรม นอกจากเฮโลสาระพากันตาม “ลูกขุนออนไลน์”
บทความแห่งปี 2559 สำหรับผม ที่แนะนำให้ทุกคนอ่านคือ “วัฒนธรรมอ่อนละมุน” ของ อ.วีรพงษ์ รามางกูร ที่เขียนก่อนประชามติไม่กี่วัน ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมยืดหยุ่น ไม่ยึดมั่นในหลักการ ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ตามกระแส บางทีก็ไม่ยึดมั่นในตรรกะและเหตุผล แต่เป็นไปตามอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อกระแสเช่นว่านั้นยุติลง ความคิดความอ่านก็สิ้นสุดลงด้วย เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมลู่ไปตามลม เป็นสังคมที่รักษาตัวรอดเป็นยอดดี อุดมการณ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยคือ อุดมการณ์แบบเสรีตัวใครตัวมันหรือ Laissez faire แม้ในภาพรวม สังคมไทยมีข้อดีที่ไม่ชอบความรุนแรง ไม่ฆ่าฟันทำลายล้างกัน
นั่นละครับ สิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยพ่ายแพ้ ซึ่งก็ต้องถามผู้ชนะว่าภาคภูมิใจหรือไม่ และอะไรจะเกิดกับประเทศนี้ เมื่อเรามาถึงจุดที่เอาความดีเป็นที่ตั้งแต่ทิ้งหลักตรรกะเหตุผลโดยสิ้นเชิง

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar