ใครนะ เขียนสปีชให้ประยุทธ์ ยังกับไปซื้อตัวมือร่างสปีชโอบามา มาเขียนสุนทรพจน์ให้หัวหน้ารัฐประหารสืบทอดอำนาจ
ที่ออกจากปากแต่ละคำ งดงามยิ่งกว่างาช้าง เรียกร้องให้เลิกแบ่งฝักฝ่าย แบ่งเขาแบ่งเรา ปฏิเสธการเมืองแบบเก่า รับฟังความเห็นต่าง ไม่สร้างความเกลียดชัง ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็น อนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ความยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียม เข้าถึงโอกาส โดยไม่เกี่ยวกับนามสกุล (อยู่อะไร)
บลาๆๆ จาตุรนต์ ฉายแสง ทักว่าสิ่งที่พูดต่างกับสิ่งที่ทำราวฟ้ากับเหว ที่ไปคุกคามเยาวชน แกนนำม็อบ ทั้งจะบุกจับยามวิกาล ทั้งอุ้มไปปรับทัศนคติ และตั้งข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ
พูดไปพูดมา คือท่านผู้นำอยู่เหนือการเมือง เหนือความขัดแย้ง ดังนั้นถ้าใครยังเห็นต่าง ใครยังปลุกเกลียดชังรัฐประหารสืบทอดอำนาจ โกงกติกา อยุติธรรม ฯลฯ คือไอ้พวกไม่ยอม “รวมไทยสร้างชาติ”
คนเขียนสปีชนี้เป็นตัวอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเข้าใจลึกซึ้งถึงคุณค่าประชาธิปไตย ความต้องการของคนรุ่นใหม่ จนสามารถใช้บิดเบือน
อย่างไรก็ตาม สปีชที่เกิดขึ้นหลัง 10 สิงหา #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมโกรธแค้นปลุกความเกลียดชัง กระทั่งหลายคนกลัวจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เก้าอี้ฟาด
ก็มีข้อน่าสังเกตว่า รัฐบาลกำลังจะเล่นหมากถอยตัวมาเป็นคนกลาง ทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือสถานการณ์ dilemma แม้รู้กันว่า เดี๋ยวคงอ้างกฎหมาย อ้างคนไปแจ้งความ ต้องดำเนินคดี รวมทั้งหันไปใช้วิธีอื่นๆ สกัดขัดขวาง เช่นหลายมหาวิทยาลัยสั่งห้ามนิสิตนักศึกษาชุมนุม
ทั้งที่ถ้าเป็นเมื่อก่อน ประยุทธ์คงเกรี้ยวกราด โผงผาง ปลุกความเกลียดชังเสียเอง ผบ.ทบ.ก็คงออกมาน้ำตาคลอ โทษทฤษฎีสมคบคิด
แต่ครั้งนี้พากันระมัดระวังท่าที เพราะรู้ว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน แม้โทษว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง มีท่อน้ำเลี้ยง ไม่แยแสนักวิชาการ ฯลฯ แต่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงน่าจะรู้ดีว่า กระแสคนรุ่นใหม่ไหลบ่า น้ำเชี่ยวขวางตรงๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวิบัติเศรษฐกิจ วิกฤตศรัทธา จึงต้องหาทางลดกระแส พร้อมกับอาศัยปฏิกิริยามวลชนอีกฝั่งตอบโต้ หรืออาศัยภาคธุรกิจปราม ว่าม็อบไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ (พอกระแสซาลง ค่อยวกกลับมาจัดหนักก็ยังได้)
กระนั้น การที่รัฐบาลต้องยอมเปิดให้กระแสสังคมโต้แย้งกัน ต่อการจัดการกับม็อบ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ก็ทำให้เกิดภาวะ New Normal ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น นั่นคือ สังคมไทยกำลังถกเถียงกันว่า เราจะยอมให้การเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่
หมายความว่า คุณจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ตาม จะด่าประณามอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าคุณยอมรับว่าเป็นสิทธิที่จะพูด จะเสนอ เป็นสิ่งที่ควรทำได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาสังคมไม่คุ้นเคย จนมองเป็นเรื่องไม่ปกติ ถ้ายอมรับได้อย่างนี้ สังคมไทยก็เข้าสู่ภาวะ “ปกติใหม่”
พึงเข้าใจว่า ณ วันนี้ สังคมไม่ได้ถกเถียงกันในสาระ 10 ข้อ ซึ่งคนจำนวนมากอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่เรากำลังถกเถียงกันว่า เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายรัฐเองก็ยังไม่ได้ตั้งข้อหา ไม่ได้ระบุว่าผิดกฎหมาย แต่กลับไปตั้งข้อหาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. โดยใช้ข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุ เกิดการคุกคามแกนนำ จะใช้กำลังบุกจับ หรือไปคุกคามถึงบ้าน เด็กที่ขึ้นเวทีปราศรัยเรื่องการศึกษา
จึงเกิดกระแสปกป้องเสรีภาพ หยุดการคุกคาม เรียกร้องให้ยอมรับความเห็นต่าง ยืนยันว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อไม่ผิดกฎหมาย อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับตั้งแต่แถลงการณ์ 105 อาจารย์ 353 นักวิชาการเครือข่ายสิทธิพลเมือง 336 เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย 546 ภาคประชาสังคม และ 23 คณาจารย์ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
พร้อมกันนั้นยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่ยอมให้จัดชุมนุม ผลักนิสิตนักศึกษาออกไปเสี่ยงข้างนอก ทั้งจากคณาจารย์นิติ จุฬาฯ และกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น ของ ส.ส.รัฐบาลเอง
ลามไปกระทั่งดารานักร้อง #วันนี้ดาราcalloutหรือยัง ขณะที่การชุมนุมก็ไม่หยุด นักเรียนเตรียมอุดม นักเรียนหลายจังหวัด ชูกระดาษเปล่า แม้ที่ขอนแก่นโดนไล่กลับบ้านอ้างว่าฉีดยุง
กระทั่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งทีแรกตกใจ ตำหนินักศึกษา ก็ยังต้องหวนมายืนยันว่าปกป้องเสรีภาพ
รัฐบาลและฝ่ายอำนาจทั้งหลายพึงตระหนัก ในสปีชที่ประยุทธ์พูดเองว่า ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ต้องให้เสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ยุติธรรม อย่าตระหนกตกใจเกินเหตุจนกระทั่งไปปิดกั้น คุกคาม ใช้อำนาจรัฐ อ้างกฎหมาย ทั้งที่สังคมกำลังข้องใจกระบวนการยุติธรรม
คนรุ่นใหม่ต้องการเสรีภาพที่จะพูดจะคิดจะเสนอ โดยไม่มีอะไรปิดกั้น รัฐและสังคมควรรับฟัง ควรทำใจให้เป็นปกติ ยอมให้เป็น New Normal แล้วจะไม่เห็นด้วยก็ได้
แต่อย่าใช้อำนาจปิดกั้นคุกคาม เรื่องมันจะลุกลามใหญ่โต จนเอาไม่อยู่
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4707625
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar