söndag 23 augusti 2020

ใบตองแห้ง: นับถอยหลังสู่วิบัติ ..

 

2020-08-21 18:08

ม็อบเยาวชนปลดแอก แค่โหมโรงก็เต็มถนนราชดำเนิน ผู้มีอำนาจยังไม่ทันหายตกใจ เช้าวันใหม่ เด็กนักเรียนทั่วประเทศก็ผูกโบว์สีขาว ชู 3 นิ้วไล่เผด็จการ

“แผ่นดินไหวเชิงวัฒนธรรม” อดีตอาจารย์นักเชียร์รัฐประหาร ให้นิยามได้เฉียบคม แต่กลับกล่าวหาว่าคนรุ่นใหม่วัยทำงาน นิสิตนักศึกษา นักเรียนมัธยม โดนปลูกฝังความคิดใส่สมอง

เช่นเดียวกับ ส.ส.รัฐบาล ไม่เชื่อว่าลูกสาวตัวเองอยู่ ม.3 จะมีความคิดเป็นของตัวเองได้ เพราะตัว ส.ส.สมัยอยู่ ม.3 ยังไถนาอยู่เลย

มักง่ายดีเหลือเกินกับการโทษว่าธนาธร ปิยบุตร ยุยงปลุกปั่น จนกระทั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าพวกตัวนั่นแหละจุดชนวน หรือไม่ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ กลบเกลื่อน “ชู 3 นิ้วคือลูกเสือ” ให้คนหัวเราะกันทั้งเมือง

คนรุ่นใหม่ล้นหลาม นักร้อง นางงาม นิสิตนักศึกษา นักเรียน ตั้งแต่โรงเรียนดังไปจนต่างอำเภอ ออกมาชู 3 นิ้ว “กระดาษเปล่า” ฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่รู้ตัวอีกหรือ ว่านี่คือ Disruption อำนาจที่เคยครอบงำทางความคิด วัฒนธรรม พังทลายลงในช่วงเวลาไม่กี่ปี

เพราะความเสื่อมทางศีลธรรม อ้างว่าเพื่อให้ “คนดีปกครองบ้านเมือง” เขียนกติโกง ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง กวาดต้อนนักการเมืองไม่เลือกหน้า รุกป่า ค้าแป้ง มารับใช้ กระทั่งพ่อแม่คนชั้นกลางเคยเป่านกหวีด ก็ไม่รู้จะอธิบายให้ลูกฟังอย่างไร ความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมก็ล่มสลาย ตั้งแต่ยุบพรรค มาจนคดีบอสชนตำรวจตาย

เพราะโลกยุคใหม่เปลี่ยนเร็ว คนรุ่นใหม่รู้กว้าง รู้จักถกเถียงในโลกออนไลน์ตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ไม่ใช่คนรุ่นเก่าที่แค่ส่งไลน์ สวัสดีวันจันทร์ บางครั้งก็เชื่อตามกันโดยไม่ถกเถียง ส.ส.ที่อุตส่าห์ซื้อไอโฟนไอแพดให้ลูกใช้ จะหวังให้ลูกมีสมองเท่าตัวเองได้อย่างไร

พอเห็น “แผ่นดินไหว” แทนที่จะตระหนัก สำรวจตัวเอง ว่าทำไมครอบงำเด็กไม่ได้ ทั้งที่ให้ท่องค่านิยม 12 ประการ ทั้งที่เพิ่มหลักสูตร วิชาประวัติศาสตร์ไทย หน้าที่พลเมือง เพิ่มการปลูกฝังอัตลักษณ์ไทย ฯลฯ บางแห่งก็ให้ทหารไปอบรมนักเรียน

กลับกราดเกรี้ยว ไม่ยอมรับความจริง แบบเดียวกับครูที่ตบโทรศัพท์เด็ก คุณไม่เข้าใจว่าไม่สามารถบังคับคนด้วยอำนาจ ด้วยการลงโทษ หรือตัดคะแนน แต่ถ้าเป็นครูที่รักเอาใจใส่ เตือนอะไรเด็กก็ฟัง

นั่นคือภาพสะท้อน 6 ปีรัฐประหาร 14 ปีทำลายล้างประชาธิปไตย ระบอบข่มขืนใจใช้อำนาจบังคับคนรุ่นเก่าได้ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ทน ทั้ง Gen Z และ Gen Y ที่เป็นตัวของตัวเอง

แล้วรัฐบาลทำอย่างไร ทุกคนรู้ว่า รัฐทำตามข้อเรียกร้องคนรุ่นใหม่ทั้งหมดไม่ได้ แต่อย่างน้อย ถ้ารีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ฝ่ายค้านรัฐบาล 250 ส.ว. ยกมือพรึบ ให้ตั้ง ส.ส.ร.มาร่างใหม่ทั้งฉบับ แล้วเปิดกว้างเป็นเวทีความคิด คุณก็จะบรรเทากระแสคนรุ่นใหม่ได้

แต่นอกจากให้ร้าย กล่าวหาพรรคการเมือง โทษคนนั้นคนนี้ ตำรวจยังไปออกหมายจับเพิ่ม ตั้งข้อหาร้ายแรง “กบฏ” จากการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน หรือกลัวว่าที่ตั้งข้อหา 31 คน #เยาวชนปลดแอก ยังยั่วยุไม่พอ

อ่านเกมรัฐ เดี๋ยวก็คงพ่นลมปากแก้รัฐธรรมนูญลดกระแส แต่พยายามยื้อ “ขอเวลาอีกไม่นาน” แล้วก็จะหวนมาเล่นงานแกนนำ ใช้อำนาจไล่จี้กำราบเด็ก หลอกตัวเองว่า กระแสคนรุ่นใหม่มาแค่ชั่ววูบ เป็นแฟชั่น เห่อตามกันเดี๋ยวก็หาย ไม่เหมือนอุดมการณ์อนุรักษนิยมที่ซาบซึ้งจนวันตาย

หลอกตัวเองแต่จะพากันวิบัติไปทั้งหมด คิดอย่างนี้ประเทศไม่มีวันสงบ มีแต่จะเรียกให้คนต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/383737 

2020-08-21 17:55

ประยุทธ์ปฏิเสธไม่ได้สั่งตำรวจจับแกนนำนักศึกษา อ้างว่าไม่มีอำนาจแทรกแซง ฟังแล้วหัวร่อตาย ใครก็รู้ว่าตำรวจอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล ถ้าไม่มีใบสั่ง จะตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุได้อย่างไร

ม็อบเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ชู 3 ประเด็น แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ แม้มีคนไปมากกว่าที่คาด จนลงไปเต็มถนน มีการผลักดันกับตำรวจ มีการปราศรัยโจมตีดุเดือด

แต่ก็ไม่ใช่เหตุที่จะตั้งข้อหา “กบฏ” ก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น (จากการที่ประชาชนผลักดันกับตำรวจ) และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่

ถ้าตั้งข้อหาอย่างนี้ ใครก่อม็อบไล่รัฐบาลก็เป็นกบฏ ผิดมาตรา 116 กันหมด เว้นแต่ม็อบมีเส้น นี่เป็นการใช้เล่ห์กลแบบตำรวจ เดินรอบรถจักรยานยนต์ ยังไงก็เขียนใบสั่งจนได้

แม้อัยการอาจสั่งไม่ฟ้อง ศาลอาจตัดสินไม่ผิด แต่การยัดข้อหาเยอะ ๆ ก็เป็นข้ออ้างให้ขอหมายจับ โดยไม่ออกหมายเรียก แล้วใช้กำลังจู่โจมจับไม่ให้รู้ตัว เช่นจับทนายอานนท์-ไมค์ ภาณุพงศ์ ยั่วยุมวลชนโกรธแค้น รวมตัวกดดันที่ สน. ตามไปศาลอาญา ซึ่งก็ทำให้ศาลตั้งข้อหาเพนกวิน “ละเมิดอำนาจศาล”

ตำรวจขอศาลให้ประกันโดยตั้งเงื่อนไข ห้ามชุมนุมอีก ทั้งที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิด ถามว่าถ้าเพนกวินไปร่วมชุมนุมอีก ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จะผิดได้อย่างไร แต่ก็จะใช้ข้ออ้าง “ขัดคำสั่งศาล” มาตำหนิทางสังคมว่าดื้อรั้นทำไม

ตำรวจปล่อยข่าวว่ามีหมายจับ 15 คน จับแล้ว 3 คน กำลังขอหมายจับอีก 16 คน ระบุชื่อชัดเจน แต่ไม่ยักประกาศให้ผู้มีรายชื่อมารับทราบข้อกล่าวหา จะได้เตรียมทนายความ เตรียมบุคคลมาประกันตัว ตำรวจใช้วิธีเลือกจังหวะจู่โจมใช้กำลังอุ้มตัว ทั้งที่เขาไม่ใช่อาชญากร เป็นนักศึกษา เป็นผู้มีสัมมาอาชีพ มีที่เรียนที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง

ทั้งหมดนี้คือการใช้เล่ห์กลอย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” ด้วยฝีมือตำรวจ ซึ่งมีอำนาจจะทำคดีผ่อนหนักเป็นเบาก็ได้ เบาให้เป็นหนักก็ได้ (ถ้าไม่ใช่บอส อยู่วิทยา)

รัฐไม่ได้ใช้แค่การตั้งข้อหาอย่างเดียว ในต่างจังหวัด ก็มีการส่งตำรวจไปคุกคามผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ปราศรัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน โดยใช้วิธีไปเยี่ยมถึงบ้าน ถึงโรงเรียน ทำให้พ่อแม่ตกใจกลัว ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนกดดันเด็ก บางแห่งก็สะกดรอยตาม บางแห่งให้เซ็น MOU จะไม่ไปร่วมชุมนุมอีก

นี่เป็นการใช้อำนาจเถื่อน แล้วอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายอยู่ที่ตำรวจเลือกใช้

ส่วนในมหาวิทยาลัย ก็ใช้ข้ออ้าง “จาบจ้วง” สกัดกั้น ไม่อนุญาตนิสิตนักศึกษา ขู่ตัดแต้ม ห้ามคนนอกร่วม ผลักให้เด็กออกมาเสี่ยงข้างนอก เผื่อคนจะลดลง

วิธีการเหล่านี้ได้ผลไหม รัฐทหารเคยสกัดได้ในยุค “ประชาธิปไตยใหม่” แต่ไม่ใช่ในยุคปัจจุบัน แม้อาจได้ผลบ้างในบางจังหวัด ที่ยังมีคนรวมตัวน้อย

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่ได้อยู่ในยุคม็อบนักศึกษาอย่างเดียว เรากำลังเข้าสู่วิบัติเศรษฐกิจ ขณะที่ความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อรัฐ เสื่อมลงทุกด้าน ทั้งรัฐราชการนักการเมือง กระบวนการยุติธรรม

อย่าลืมว่าจุดเริ่มต้นของม็อบ คือความไม่พอใจต่อระบอบ ที่เปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ เลือกอย่างไรก็ได้ประยุทธ์ ที่ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง ซ้ำยังมีองค์กรอิสระยุบพรรคฝ่ายค้าน

ฉะนั้นถ้ารัฐบาลยังบริหารล้มเหลว แม้พยายามปรับ ครม. ความไม่พอใจก็ยิ่งกระพือ แล้วถ้าสภาเสนอแก้รัฐธรรมนูญถูก 250 ส.ว.ขัดขวาง หวงอำนาจ หวงเก้าอี้ม็อบที่จะลุกฮือก็ยิ่งเยอะ ยิ่งโกรธแค้น

เตรียมใจไว้เถอะ ประเทศนี้จะอยู่กับม็อบไปอีกนานจนกว่าจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/383049 


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar