นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชื่อเฟซบุ๊กไม่ฟ้องร้องรัฐบาลไทย กรณีบังคับให้ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาบนเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายไทย
"ผมเชื่อว่าการฟ้องร้องอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเวลา 10 กว่าวัน ทางเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ทวิตเตอร์ ให้ความร่วมมือลบเนื้อหาดังกล่าวทั้งหมด แม้กระทั่งติ๊กต็อก" รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ระบุว่ากลุ่มพูดคุยเกี่ยวกับกับสถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" เป็นหนึ่งในเนื้อหาบนระบบอินเทอร์เน็ตจำนวน 1,129 รายการ ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ส่งให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทิวบ์ เว็บไซต์ และติ๊กต็อก ลบหรือปิดกั้นการเข้าถึง ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยแนบคำสั่งศาลไปด้วย ได้รับความร่วมมือปิดหรือลบทั้งหมด
เขายืนยันว่านี่เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือการชุมนุมทางการเมืองในระยะนี้ แต่เป็นไปตามกรอบของกฎหมายและวัฒนธรรมของไทยเอง
การแถลงข่าวในวันนี้ (26 ส.ค.) เป็นครั้งแรกที่ รมว. กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าไปโพสต์เนื้อหาในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของศาล แต่ไม่มีการยืนยันตัวเลขว่ามีจำนวนกี่กรณี หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว "เราต้องปกป้องอธิปไตยของไทย แต่ว่าครั้งนี้เป็นอธิปไตยทางไซเบอร์ที่มันทำงานเป็นระบบ มาอย่างรวดเร็ว และไม่มีรั้วกั้น"
กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เข้าแจ้งความต่อกองบัญชาการปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (บก.อปท.) ให้เอาผิดกับ ดร. ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ ผู้เป็นแอดมินของกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส
"มีหลายคนถูกดำเนินคดีไปแล้ว ทั้งคนแชร์ คนโพสต์...ถ้าอยู่ในนั้นดูเฉย ๆ ไม่ได้โพสต์หรือส่งต่อก็ไม่ได้มีความผิด" นายพุทธิพงษ์กล่าว
ส่วนกรณีที่เกิดกลุ่มพูดคุยเรื่องสถาบันฯ ขึ้นมาใหม่ซึ่งมีสมาชิกเกิน 6 แสนคน นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า หากมีการนำเข้าข้อมูลที่ผิดกฎหมายตามองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ก็ต้องมีการดำเนินคดีเช่นเดียวกับกลุ่มก่อนหน้านี้
"ไม่ว่าจะเปิดใหม่กี่ที เราก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หากมีการกระทำความผิด"
เขากล่าวอีกว่าในวันนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมส่งคำสั่งศาลไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกจำนวน 1,024 รายการ เพื่อให้ปิดการเข้าถึง
วานนี้ (25 ส.ค.) เฟซบุ๊กเผยว่ากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งทางกฎหมาย ภายหลังรัฐบาลไทยมีคำขอให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาบนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเรื่องราชวงศ์และสถาบันกษัตริย์
ความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กที่มีต่อรัฐบาลไทย กลายเป็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และถูกนำเสนอในสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เช่น ซีเอ็นเอ็น บิสสิเนสอินไซเดอร์ บีบีซี รอยเตอร์ ภายหลังเฟซบุ๊ก ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาของกลุ่มที่วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในไทยบนแพลตฟอร์มตัวเอง
"ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก การดำเนินงานของเฟซบุ๊กมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้" ตัวแทนจากเฟซบุ๊ก ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่วานนี้(25 ส.ค.)
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่าที่ผ่านมา กระทรวงใช้วิธีขอความร่วมมือกับทางแพลตฟอร์ม แต่ยอมรับว่าไม่ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากทางผู้ให้บริการมีกระบวนการภายในซึ่งบางครั้งใช้เวลา 2-3 เดือน ครั้งนี้ที่ทางเฟซบุ๊กมีแถลงการณ์ออกมา เชื่อว่าเป็นเพราะกระทรวงได้มีการแจ้งว่า หากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ดำเนินการตามคำร้องขอให้ปิดหรือลบ จะมีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มโดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 27 ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
"เรายังไม่เคยดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม แต่ตาม พ.ร.บ.คอมฯ ทำได้ หากไม่ลบตามที่ขอไป 15 วัน ต้องส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินการต่อ" รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar