อย่าหาว่าจับแพะชนแกะ แต่เป็น 2 ประเด็นร้อนที่เกิดจากปัญหาบริหารจัดการของรัฐบาล ทั้งงบซื้อเรือดำน้ำ และการสั่งเฟสบุ๊คบล็อกกลุ่ม Royalist Marketplace ซึ่งรัฐมนตรีดิจิทัลถึงขั้นขู่ดำเนินคดีเฟสบุ๊คประเทศไทย มิไยที่เฟสบุ๊คบอกว่า สำนักงานในประเทศดูแลเรื่องโฆษณาการตลาดเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องด้านเนื้อหา
ท้ายที่สุด เฟสบุ๊คยอมบล็อก เพราะรัฐไทยใช้คำสั่งศาล แต่ก็ออกคำแถลงว่า “ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างรุนแรง” เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ใช้ จึงเตรียมดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคัดค้าน
โดยสำนักงานประเทศไทย แม้แถลงว่ายอมทำตามแล้ว ก็ยังติงว่าการแทรกแซงที่เกินขอบเขตถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของเฟสบุ๊ค ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
เฟสบุ๊คจะฟ้องจริงหรือไม่ จะใช้ช่องทางกฎหมายอย่างไร เป็นอีกเรื่อง แต่เป็นข่าวไปทั่วโลกแล้ว ส่งผลสะเทือนทั้งทางภาพลักษณ์และการลงทุน
เข้าใจตรงกันนะ เฟสบุ๊คมีผู้ใช้ทั่วโลกหลายพันล้าน จึงต้องยึดถือเรื่องปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นกติกาสากล แม้ต้องการหาตลาดในไทย ไม่ได้อยากรบรารัฐบาล หรือคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ Royalist Marketplace แต่ถ้าเฟสบุ๊คไม่แสดงปฏิกิริยา ก็จะโดนผู้ใช้ทั่วโลกตำหนิและหวาดระแวงว่าสักวันตัวเองจะโดนบล็อกบ้าง
รัฐบาลไทยก็ไม่แคร์ ประยุทธ์ตำหนิ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ทำให้ชาวโลกออนไลน์หัวร่อกลิ้ง 2 คนนี้ไม่ถูกกัน Royalist Marketplace ปวินตั้งคนเดียวเท่านั้น) พุฒิพงษ์บอกว่าต้องปกป้องอธิปไตย เชือดไก่ให้ลิงดู
ลิงที่ไหนไม่รู้เหมือนกัน แต่ Royalist Marketplace ไม่ยักกระเทือน ย้าย URL ใหม่ ไม่กี่ชั่วโมงคนอพยพตามไปร่วมครึ่งล้าน แถมได้รัฐบาล สื่อหลัก ออกข่าวครึกโครมให้คนรู้จัก ปวินคึกคักให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถี่ยิบ Al Jazeera, BBC, NHK, Reuters, Channel News Asia
เดี๋ยวพุฒิพงษ์ก็ตามไปขอคำสั่งศาลบล็อกอีก เขาก็ย้ายอีก ทำได้ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องลงทุนสักบาท แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ไม่รู้เหมือนกัน มันเหมือนชกลม หรือรบกับเงา
หันมาดูเรือดำน้ำ 22,500 ล้าน กองทัพเรือพลาดมหันต์ แถลงข่าวมุ่งโต้พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าใช้จีทูจีจริง ไม่เก๊เหมือนจำนำข้าว ถ้าทำจีทูจีไม่เป็นให้มาศึกษาจากเรา แล้วก็ไปอ้างโพลสำนักข่าว ที่ม็อบเยาวชนบอยคอตสปอนเซอร์ จนแห่ถอนตัวระนาว
ตายสิครับ ตายกับตาย กองทัพเรือไม่เข้าใจเลยว่าทั้งสังคมไทยนี่แหละ ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทย ใครจะจีทูจีแบบไหน มันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่คนเกือบทั้งประเทศไม่เห็นด้วยตั้งแต่ซื้อลำแรก แต่ก็ลากถูจนได้ในยุคเผด็จการ
เกือบทั้งประเทศ เห็นแต่หมอวรงค์กับอดีตรองอธิการบดีออกมาเชียร์ ยิ่งลุ้นยิ่งเพลีย จนพรรคประชาธิปัตย์ได้โอกาส ขอมติพรรคไม่โหวตให้เรือดำน้ำ ให้กองทัพเรือทบทวน ไม่งั้น 7 กรรมาธิการไม่โหวตให้ ฮั่นแน่ พระเอกจัง ทั้งที่ ส.ส.ตัวเองเพิ่งโหวตผ่านในอนุกรรมาธิการ
ดูชะตากรรม เรือดำน้ำคงไม่ผ่าน เพราะเดี๋ยวพรรคร่วมรัฐบาลจะแย่งซีนเป็นพระเอกบ้าง แต่น่าสงสัย ทำไมเครื่องบินหรูกองทัพบก 1,348 ล้านไม่ยักคัดค้าน
ถ้ารัฐบาลตัดสินใจเป็น ก็ควรระงับซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธ เสียตั้งแต่แรก เพราะรู้แก่ใจว่าประเทศอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจหนักที่สุดยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง ทัศนะทหารอาจเห็นว่าจำเป็น แต่ไม่สอดคล้องความต้องการประชาชน ยิ่งอ้างยิ่งทำให้คนโกรธ ยังไม่รู้ตัว
ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องบริหารความรู้สึกคน วิธีจัดการกับเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่โต
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/385162
สถานการณ์ “ม็อบปลดแอก” ชูสามนิ้ว ที่ลามไปยังนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ จะจบตรงไหน จบเมื่อไหร่ จบอย่างไร เป็นสิ่งที่วิเคราะห์ได้ยากที่สุด
เพราะเราอยู่ใต้อำนาจที่คาดเดาไม่ได้ แต่ใหญ่โตมโหฬาร คุมโครงสร้างระดับบนไว้หมด ขณะที่พลังคนรุ่นใหม่ ก็อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ทั้งความตื่นตัวแบบ “แผ่นดินไหว” และรูปแบบการเคลื่อนไหว ที่มีอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ข้อเรียกร้องของม็อบชิดเพดานไปแล้ว “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน” พรรคร่วมรัฐบาลเพิ่งอ่อนท่าทีจะยอมตามพรรคร่วมฝ่ายค้าน แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ (ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2) ซึ่งยังไม่รู้ 250 ส.ว.จะยอมรับหรือไม่ เพราะต้องใช้ ส.ว. 1 ใน 3
ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาร่วมสองปี ระหว่างนี้ ประยุทธ์ก็ซื้อเรือดำน้ำไปก่อน ซื้อเครื่องบิน รถถัง และยังจะสะดุดขาตัวเองได้อีกมากมาย
ถ้าเราดูไทม์ไลน์ คือ 15 กันยายน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเข้าสภา พรรคร่วมรัฐบาลจะว่าอย่างไร วุฒิสภาจะยอมหรือไม่ 16-18 กันยา ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระ 3 เรือดำน้ำจะแล่นฉลุยหรือไม่
19 กันยา 14 ปีรัฐประหาร 2549 ม็อบใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
แต่นั่นจะเป็นจุดแตกหักหรือไม่ ก็ไม่น่าจะใช่อีก การวิเคราะห์การเมืองไทยในโลกยุค disrupt ไม่สามารถยึดติดจุดจบเพียงสองด้านคือ หนึ่ง 14 ตุลา สอง (6 ตุลา) รัฐประหาร
ระบอบอำนาจในปัจจุบัน ยึดครองโครงสร้างด้านบนเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียว รัฐบาล ทหาร ตำรวจ รัฐราชการ รัฐสภา ตุลาการ องค์กรอิสระ ไม่มีแตกแถว โผแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ พลิกอย่างไรทหารก็มิกล้าไม่พอใจ ไม่ใช่ยุค 14 ตุลาที่แย่งอำนาจกัน
ขณะเดียวกันก็ไม่รู้จะทำรัฐประหารเพื่อ? ยกเว้นสนองอารมณ์ เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “แผ่นดินไหว” ในด้านความคิดความเชื่อถือศรัทธา รื้อถอนโครงสร้างอำนาจทางวัฒนธรรมจากเบื้องล่าง ลามไปทุกมหาวิทยาลัย โรงเรียน ดึงผู้สนับสนุนทั้งเครือข่ายแรงงาน ภาคประชาสังคม NGO ซึ่งเคยเป็นเสื้อเหลือง ขณะที่เสื้อแดงก็ปกป้องอย่างแน่นเหนียว
ถ้ารัฐประหารจะปราบแผ่นดินไหวอย่างไร จับธนาธร อนาคตใหม่ ก้าวหน้า ก้าวไกล แกนนำนักเรียนนักศึกษา สัก 2-3 พัน? ปิดการสื่อสารออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ตัดอินเทอร์เน็ต เปลี่ยนประเทศเป็นเกาหลีเหนือ? แล้วเศรษฐกิจจะฉิบหายแค่ไหน
มีอำนาจล้นอยู่แล้ว ในระบอบประชาธิปไตยปลอม แต่กลับย้อนไปใช้เผด็จการสุดขั้ว ประเทศจะพังพินาศเพียงไร
หันมามองฝ่ายม็อบ หลายคนคิดว่าน่าจะถึงจุดพีกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหา 16 สิงหา ถ้าเป็นการเคลื่อนไหวยุคเก่า คือยื่นข้อเรียกร้องแล้วรอเวลา ให้อำนาจรัฐตัดสินใจ จะแก้รัฐธรรมนูญไหม จะยุบสภาไหม จะหยุดคุกคามไหม (ไม่หยุด ไล่จับแกนนำยัดข้อหาหนัก)
แต่ตลอดทั้งสัปดาห์ กลายเป็นเซอร์ไพรส์ เด็กนักเรียนชู 3 นิ้ว ผูกโบขาว “ไล่เผด็จการ” (แต่ครูมองเห็นว่าเด็กไปไกลกว่านั้น) กระทั่ง #เลิกเรียนไปกระทรวง เป่านกหวีดใส่รัฐมนตรี “ไปต่อแถว ๆ”
“ม็อบเด็ก” ที่สลิ่มฟันปลอมหาว่าโดนล้างสมอง กลับรู้จักพลิกแพลงแสดงออกได้ไม่หยุดยั้ง สร้างจุดพีกใหม่ ๆ โดยไม่ต้องตั้งม็อบใหญ่ เช่นแค่จะไปชู 3 นิ้วที่สถานีรถไฟฟ้า สถานีก็ไม่กล้าเปิดเพลงชาติ หรือแค่ประกาศไม่อุดหนุนสปอนเซอร์ สื่อที่โจมตีม็อบก็ดิ้นพล่าน
ที่รัฐบาลคิดว่าเดี๋ยวม็อบจะล้าไปเอง ปล่อยให้ไปสุด ๆ แล้วเหนื่อยเอง จึงใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่
ภายใต้สถานการณ์นี้ ชี้ชัดได้เลยว่าแม้รัฐสภาจะยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ร. ม็อบปลดแอกก็ไม่เพียงพอ เพราะมีข้อเรียกร้องรูปธรรมแล้วว่าต้องไล่ 250 ส.ว.ออกไปก่อน
หลัง 19 ก.ย.จะเป็นอย่างไร ก็บอกตั้งแต่ต้นว่าคาดเดาไม่ได้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะบานปลายไปเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถหาจุดจบ
แล้วระหว่างนั้น ก็จะมีมรสุมลูกใหม่ ๆ ที่เกิดจากความไม่โปร่งใสไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล โผล่มาเรื่อย ๆ
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/384562
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar