måndag 24 augusti 2020

ใบตองแห้ง: รธน.ห้ามแก้2หมวด?

 

2020-08-24 13:12

พรรคก้าวไกลถอนชื่อจากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเงื่อนไข “ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2”

นักให้ร้ายป้ายสีเอาไปโจมตีทันทีว่า พรรคก้าวไกลจะแก้ไขหมวด 2 นักร้องก็ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปยื่นยุบพรรค

ทั้งที่เป็นการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องกันโดยมิได้นัดหมาย (?) ว่าไม่ให้ ส.ส.ร.แก้ไขหมวด 1 หมวด 2

มีแต่พรรคก้าวไกลที่เห็นว่า ควรเปิดพื้นที่ให้ ส.ส.ร.หารือตัดสินใจกันเอง ทำไมต้องบล็อกไว้ ถึงอย่างไร ส.ส.ร.ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขในมาตรา 255 “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้”

รัฐธรรมนูญ 2560 ห้ามแก้ไข 2 หมวดนี้หรือไม่ ไม่ได้ห้ามเลย เพียงเขียนไว้ในมาตรา 255 ดังกล่าว คือจะแก้อย่างไรก็ต้องคงความเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่งตีความได้กว้างมาก รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา หมวด 1 หมวด 2 ก็เขียนต่างกัน ไม่ได้ก๊อบกันมาทุกตัวอักษร

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256(8) บัญญัติไว้ว่าถ้าจะแก้หมวด 1 หมวด 2 หมวด 15 คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ศาลองค์กรอิสระ ฯลฯ ต้องทำประชามติ

ซึ่งแปลว่าไม่ได้ห้ามแก้ แต่ถือเป็นสาระสำคัญ ถ้าจะแก้ต้องทำประชามติ (ครั้งนี้ก็ต้องทำประชามติอยู่ดี ทั้งตอนแก้ 256 และหลัง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาแล้ว)

พึงเข้าใจว่า ส.ส.ร.ไม่ได้ลอยมาอย่างบริสุทธิ์ อย่าคาดหวังว่าตั้งมา 100 คนจะเป็นผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจ๋า มันก็จะมาจากทุกภาคส่วนทุกความคิด ไม่ใช่ 100 คนเป็นของพรรคก้าวไกลเสีย 80 คน ตรงข้าม จะมีคนของพรรคร่วมรัฐบาล รัฐราชการ ศาล องค์กรอิสระ เข้ามาเกินครึ่งด้วยซ้ำ

ฉะนั้นในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถแก้หมวด 2 หรอก เพียงแต่ถ้าไม่บล็อกไว้ ก็จะมีคน “พูดได้” เมื่อกำหนดเงื่อนไขก็เท่ากับ “ปิดปาก”

มิหนำซ้ำยังโหมกระหน่ำกระแสร้ายแรงว่า ใครเสนอ “ความฝัน” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรูปแบบที่แตกต่าง เท่ากับจาบจ้วงล่วงละเมิด

ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยในอดีต ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตั้งแต่ปี 2475 ก็เขียนแตกต่างกัน เอาแค่ยุคใกล้ รัฐธรรมนูญหมวด 2 ก็มีการแก้ไขในปี 2517, 2534 และ 2560

หมวด 1 ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่เหมือนกันเลย แม้มาตรา 1 เหมือนกัน “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” บางฉบับก็เขียนว่า “เป็นประมุข” (2521) บางฉบับก็เขียนว่า “ทรงเป็นพระประมุข” (2534)

รัฐธรรมนูญ 2540 สสร.ถกเถียงกันหนัก จะใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” หรือ “มาจาก” รัฐธรรมนูญ 2517 ใช้คำว่า “เป็นของ” แต่รัฐธรรมนูญรัฐประหารหลังจากนั้นใช้คำว่า “มาจาก” ด้วยกระแสประชาธิปไตย สุดท้าย “เป็นของ” ชนะ

แต่ก็แค่นั้นแหละ รัฐประหาร 49, 57 รัฐธรรมนูญ 2550, 2560 ยังใช้คำว่า “เป็นของ” ทั้งที่ยึดไปหมดแล้ว

รัฐธรรมนูญ 2517 มีมาตรา 4 “การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” แต่หลังถูกฉีกในวันที่ 6 ตุลา 2519 ก็ไม่ปรากฏอีกเลย มีแต่นิรโทษกรรมรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 เพิ่มคำว่า “หลักนิติธรรม” ซึ่งทำให้คำคำนี้มีความหมายทางลบทันที จากการใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ เลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน (“หลักนิติธรรม” ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้สืบทอดอำนาจ ตั้ง 250 ส.ว.โหวตตัวเอง)

จะเห็นได้ว่า หมวด 1 ไม่ควรห้าม เพราะหลักสำคัญเรื่องราชอาณาจักร รัฐเดี่ยว ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไงก็ต้องยึดมั่น แต่ถ้อยคำเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม การกระจายอำนาจ สามารถเขียนให้ชัดเจนขึ้น ตามที่จะแก้ไขในหมวดที่เป็นรายละเอียด

ส่วนหมวด 2 ในทางปฏิบัติ ฟันธง แก้ไม่ได้ แต่ประเด็นที่ถกเถียงกัน คือจะห้ามพูด หรือจะยอมให้เสนอความเห็นต่าง “ความฝัน” ของเยาวชน (ที่ยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แล้วพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล

ย้ำอีกครั้งว่า ส.ส.ร.ไม่ใช่สวรรค์ของฝ่ายประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้ดีวิเศษเพราะ ส.ส.ร. แต่เพราะกระแสประชาธิปไตยในยุคนั้น

ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน การตั้ง ส.ส.ร.จึงหวังไม่ได้มาก แค่หวังว่ากระแสประชาชนจะกดดันให้แก้รัฐธรรมนูญดีขึ้นบางด้าน เช่นแก้ไขได้ง่ายขึ้น แก้ระบบเลือกตั้ง โละ 250 ส.ว.

แต่เรื่องที่เป็นหลักการประชาธิปไตยนั้นอย่าหวัง กระทั่งเรื่องลดอำนาจเปลี่ยนที่มาองค์กรอิสระ ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่ยอมอยู่ดี

การตั้ง ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ จึงสายไป ล้าหลังห่างไกลจากความเรียกร้องต้องการของม็อบประชาธิปไตย ถ้ายิ่งยื้อซื้อถ่วงเวลา ยิ่งไปกันใหญ่

เพราะม็อบจะมุ่งไล่ 250 ส.ว. ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับดีกว่า

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4759188

2020-08-24 13:04

ฝ่ายอนุรักษนิยมตื่นตระหนก ม็อบปลดแอกนัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรก เต็มถนนราชดำเนิน คนรุ่นใหม่ล้นหลาม มีทั้งนักร้องนางงาม ระหว่างที่ยังตีอกชกหัว นอนตาไม่หลับ ตื่นเช้ามาก็เจอเด็กมัธยมทั่วประเทศชูสามนิ้ว ผูกโบสีขาวไล่เผด็จการ ช็อกตาตั้งเลยทีนี้

สุวินัย ภรณวลัย ให้คำนิยาม “แผ่นดินไหวเชิงวัฒนธรรม” ชัดเจนเฉียบคม แต่กลับโทษว่า คนรุ่นใหม่วัยทำงาน นิสิตนักศึกษา นักเรียน ถูกล้างสมอง คล้ายปฏิวัติวัฒนธรรมจีนยุคเหมา

ปฏิวัติวัฒนธรรมยุคเหมา ใช้อำนาจรัฐปลุกความคิดสุดโต่ง เป็นอาวุธทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่นี่คือปฏิวัติวัฒนธรรมต้านอุดมการณ์ครอบงำของรัฐ ของฝ่ายอนุรักษ์ ซึ่งปลุกความคิดสุดโต่ง เป็นเครื่องมือรัฐประหารตุลาการภิวัตน์มา 15 ปี

วันนี้คือกระแสตีกลับ disruption ของวัฒนธรรมอำนาจอนุรักษนิยม ที่พังทลายทั้งในแง่อุดมการณ์ความคิด และในแง่ที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถดำรงตนอยู่ในศีลในธรรมตามปากสอน

ทำไมเด็กมัธยมออกมาจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง “ไล่เผด็จการ” เผด็จการไม่ได้หมายความแค่ตู่ แค่ทหาร แต่รวมระบบการศึกษา อำนาจนิยมในโรงเรียน ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผมไปจนบังคับให้เชื่อฟังโดยไม่มีเหตุผล (เด็กผู้หญิงน่าจะถูกกดทับมากกว่า)

คนรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เพราะโตในโลก disrupt อนาคตไม่มีหลักประกัน ต้องพร้อมปรับตัวกับความไม่แน่นอน คนรุ่นใหม่โตมากับโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งดอกไม้ “สวัสดีวันจันทร์” แต่ใช้ศึกษาหาความรู้ ความบันเทิง พร้อมกับใช้ถกเถียงกันทุกเรื่อง ตั้งแต่หนัง เพลง ดารา มาถึงการศึกษา การเมือง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ใช่หาความรู้จากนั่งฟัง แต่มาจากการถกเถียงแลกเปลี่ยน โดยเสมอภาคกัน เพราะในโลกออนไลน์ทุกคนเป็น “นิรนาม” เอาชนะกันด้วยเหตุผล ใครแสดงความเห็นไม่เข้าท่า ก็โดนทัวร์ลงไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม (กระทั่งหญิงหน่อย)

ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็โตมาอย่างรู้จักเคารพสิทธิกัน ทุกคนเสมอหน้า ห้ามแซงคิว (รัฐมนตรีศึกษาจึงต้องไปต่อแถว) เช่นพวกเขาโตมากับเพื่อนที่เป็น LGBT ซึ่งถ้าใคร Bully แม้แต่ครู ก็โดนแฉคลิปออนไลน์

มันจึงปะทะโดยตรงกับระบบการศึกษาไทย ซึ่งเดิมทีก็ล้าหลัง แต่ 5-6 ปีนี้ถอยหลัง ยัดเยียดอุดมการณ์แห่งรัฐ ค่านิยม 12 ประการ เพิ่มวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์สดุดีท่องจำ ภายใต้อำนาจครูบังคับ

ขณะเดียวกันก็มีปัญหาคุณภาพพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ เด็กอาจไม่ปฏิเสธการกราบไหว้ ถ้าครูเป็นที่เคารพรัก ถ้า ผอ.อยู่ครบ 4 ปีจะย้ายไป เด็กรักอาลัย แต่ไม่ใช่ ผอ.มาใหม่ ให้เข้าแถวต้อนรับกราบไหว้เจ้ายศเจ้าอย่าง

“ครูไหวใจร้าย” ไม่ใช่ชนะใจเด็กด้วยไม้เรียว แต่ด้วยความรักเอาใจใส่ ทำตัวเป็นแบบอย่าง “ครูเป็นสลิ่ม” ไม่ใช่แค่ความเห็นต่าง แต่บังคับให้เด็กเชื่อความคิดตกยุคล้าหลัง ด้วยอำนาจ ด้วยไม้เรียว ตัดคะแนน ด้วยโมหะโทสะ

แบบเดียวกับศาสนา ไม่ใช่แค่คำสอนห่างไกลสังคม แต่พระตัวเป็นๆ ก็ทำให้เสื่อมศรัทธา

สถาบันครอบครัว ก็อย่าโทษว่าเสื่อมเพราะเด็ก พ่อแบบไหนกัน ออกมาดูแคลนลูกตัวเองว่าถูกล้างสมอง เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของขั้วที่สังกัด

ฉันใดฉันนั้น รัฐประหารสืบทอดอำนาจ อ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้ “คนดีปกครองบ้านเมือง” แต่ตรงกันข้าม ศีลธรรมเสื่อม ยุติธรรมลำเอียง ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นแบบอย่างให้เด็กเชื่อถือ

เด็กจำนวนมากบอกว่าพ่อแม่เป็นสลิ่ม น่าจะใช่ คนชั้นกลางสอนให้ลูกนับถือคนดี เกลียดนักการเมือง “โตไปไม่โกง” แต่วันนี้ตอบลูกไม่ได้ คนดีอะไร กวาดต้อนนักการเมืองซากเดนมาค้ำ ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง พ่อค้าแป้งเป็นรัฐมนตรี

สอนเด็กพอเพียง แต่ไม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง ยืมนาฬิกาหรูมาใส่ “ยืมใช้คงรูป” คิดว่าเด็กไม่รู้หรือ ใครตั้ง ป.ป.ช.

โทษพรรคอนาคตใหม่? ธนาธร ปิยบุตร เสือกตั้งพรรคมาให้คนรุ่นใหม่นิยม หาเสียงสะอาด นักการเมืองคุณภาพ กลับโดนยุบพรรค แฟลชม็อบจึงลุกฮือ เพราะหมดเชื่อถือความยุติธรรม แต่นั่นตั้งแต่ต้นปี วันนี้ม็อบเยาวชนไปไกลแล้ว “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน” มีหลายประเด็นรวมกัน เช่น “อุ้มเขาทำไม” ภาพวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏทุกม็อบ

รัฐยังคิดว่าแผ่นดินไหวเชิงวัฒนธรรม เป็นแค่กระแสวูบวาบ เด็กเห่อตามเพื่อน ตามแฟชั่น หลอกตัวเองว่าชู 3 นิ้วคือลูกเสือ โทษคนอยู่เบื้องหลัง โหมความเกลียดชังก้าวหน้าก้าวไกล ไล่จับแกนนำม็อบ ขณะที่ยอมแก้รัฐธรรมนูญเป็นพิธี ลดกระแส ซื้อเวลา แล้วคิดว่าจะหยุดแผ่นดินไหวได้

ใช้อำนาจตำรวจ อ้างกฎหมายกวาดจับ ใครยังเชื่อถือความยุติธรรม? ใช้อำนาจอย่างไรก็ไม่สามารถสกัดขวาง “แผ่นดินไหว” ฟอกล้างความคิด ทลายการครอบงำทางวัฒนธรรม

ต่อให้รัฐประหาร ปิดสื่อปิดโลกออนไลน์ปิดประเทศเป็นเกาหลีเหนือ จับคนเป็นพันๆ ก็ไม่สามารถเอาชนะความคิดคนรุ่นใหม่ เพียงแค่ทำให้กลัวพูดไม่ได้แสดงออกไม่ได้ แล้วก็พังพินาศกันไปทั้งประเทศ

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_4750466

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar