tisdag 25 augusti 2020

เยาวชนปลดแอก: นักวิชาการแนะเปิดใจฟังเยาวชน หวั่นเวทีรับฟังของรัฐบาลเป็นเพียง “พิธีกรรม”

"เมื่อคนรุ่นใหม่เปิดห้องเรียนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ ผู้ใหญ่ควรร่วมกันเรียนรู้ไปกับเด็ก"

เด็กผูกโบว์สีขาว
คำบรรยายภาพ,

หนึ่งในนักเรียนที่ชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการวันที่19 ส.ค.

นักวิชาการหวั่นเวทีรับฟังความคิดเห็นเยาวชนของภาครัฐจะเป็นเพียงพิธีกรรม แนะเปิดพื้นที่สนทนาที่เยาวชนสามารถเข้าร่วมหาหรืออย่างจริงใจ ผู้ใหญ่ควรเปิดใจกว้างรับฟังข้อเรียกร้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงซ้ำรอยความรุนแรงในอดีต

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยเกี่ยวกับการเตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งจัดเวทีนำร่องที่ จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. ก่อนที่จะมาจัดที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 2-3 ก.ย. นี้ว่า บรรยากาศที่เป็นทางการอาจจะไม่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง

เขาอธิบายว่า พื้นที่การเจรจาไม่จำเป็นจะต้องเป็นเวทีที่ "เป็นทางการสูง" แต่รัฐต้องทำหน้าที่ส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนสร้างช่องทางในการสนทนานี้ขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมารัฐเองก็มีเครือข่ายที่ทำงานกับเยาวชนอยู่ไม่น้อยอย่าง กองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น

"ถ้าเขาเพียงจัดให้เกิดขึ้น ไม่ได้จัดเพื่อให้เกิดการรับฟังจริงจัง เด็กก็จะรับรู้ถึงความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจ ซึ่งจะไม่ทำให้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเวที"

นักวิชาการรายนี้บอกว่า รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าที่ผ่านมาได้ทำการในลักษณะนี้ตลอดมา ซึ่งไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ทำให้บรรดาเยาวชนต้องใช้เวทีอื่น ๆ เช่น สื่อออนไลน์ในการเสนอความคิดเห็นแทน

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาเรื่อง “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” วันนี้ (25 ส.ค.)
คำบรรยายภาพ,

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาเรื่อง “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” วันนี้ (25 ส.ค.)

ผศ.อรรถพลให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ภายหลังการเสวนาเรื่อง "เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง" จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (25 ส.ค.) ซึ่งมีการเปิดโอกาสให้เยาวชนในหลายพื้นที่มาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การแฟลชม็อบที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีนักวิชาการร่วมเสวนาด้วย

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เสวนา อธิบายด้วยการยกผลงานวิจัยที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจและสัมภาษณ์นักเรียนนักศึกษาในต่างจังหวัดราว 60-70 คน ได้สรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง 3 ประการที่เป็นผลผลิตที่คนรุ่นก่อนต่อคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย

1. การกล่อมเกลาที่เปลี่ยนมาเป็นแบบเสรีนิยมผ่านครอบครัวเสรีนิยมสมัยใหม่ ในขณะที่การศึกษาและค่านิยมของสังคมที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้เด็กคิดนอกกรอบ

2.โลกที่ผันแปรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว อันเป็นผลเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โรคระบาด ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย รวมทั้งปัญหาต่าง ๆ

3. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ในการเรียกร้องสิทธิ ระดมความคิดระหว่างเพื่อน ๆ ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างกลุ่มเพื่อน และแสดงความคิดเห็นโดยเสรีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ และความคิดวิเคราะห์เชิงโครงสร้างในสังคม

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ขวา)
คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ขวา)

เพราะ 6 ปีหลังรัฐประหารไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวว่า การปะทะกันระหว่างครูที่มีแนวความคิดแบบอนุรักษนิยมและครูรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ทำให้คนรุ่นใหม่เติบโตและได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์รุ่นใหม่

"เพดานของเขาไปได้ไกลกว่าและมีเสรีภาพกว่า โลกอนุรักษนิยมอย่างที่เกิดขึ้นในโรงเรียน" เธออธิบาย

นอกจากนี้เธอยังพบอีกว่า เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมองว่า 6 ปีหลังรัฐประหาร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ตามที่รัฐบาลเคยให้สัญญาเอาไว้

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (ซ้าย) จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ.
คำบรรยายภาพ,

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (ซ้าย) จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ.

"เขาเชื่อว่า พวกเขาคือตัวแทนแห่งความเปลี่ยนแปลง และเขาไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ ครูบาอาจารย์อย่างที่เคยเป็นมา" ผศ.ดร.กนกรัตน์อธิบายและแนะนำว่า ผู้ปกครองควรออกมาสนับสนุนในการสร้างอนาคตของเขา และเปิดพื้นที่ให้พวกเขาแสดงออกได้อย่างปลอดภัย

การเคลื่อนไหวของเยาวชนยุคนี้ไปไกลกว่าช่วง 14 ตุลาฯ

ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการเคลื่อนไหวของเยาวชนว่า "การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นการปลุกมโนธรรมสำนึกให้สังคม เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า 6 ปีผ่านไป (หลังการรัฐประหาร) ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงเป็นแรงผลักดันให้สังคมเกิดความตื่นตัว ในขณะที่เยาวชนมองว่าผู้ใหญ่มองไม่เห็นพลังของตัวเองและไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

"นี่ถือเป็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ชัดเจนที่สุด ทั้งในเชิงความหลากหลายและอุดมการณ์ และไปไกลกว่า ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 โดยมีความหลากหลาย ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด รวมทั้งระดับมัธยม" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าว

ตำรวจมายืนสังเกตการณ์ที่โรงเรียน
คำบรรยายภาพ,

ตำรวจมายืนสังเกตการณ์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังเกิดกระแสการแสดงออกเพื่อการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่ง

อยากเห็นกลุ่มอนุรักษนิยมออกมาร่วมเคลื่อนไหว

ผศ.ดร.ประจักษ์มองว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนในเรื่อง "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (constitutional monarchy) เป็นเรื่องที่ผูกโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างไรก็ตามเขามองว่ากลุ่มผู้ที่จงรักภักดีและอยากเห็นสถาบันกษัตริย์อยู่อย่างไรในสังคมควรออกมาร่วมผลักดันในประเด็นนี้ รวมทั้งประเด็นการปฏิรูปกองทัพ และศาล ซึ่งที่ผ่านมาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการสนทนา หรือการใช้กำลังล้อมปราบ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว

นักเรียนชูสามนิ้วให้ตำรวจ

"ฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีวุฒิทางปัญญาและมีวิสัยทัศน์ไกล (enlightened royalist) ควรออกมาร่วมกันปฏิรูปสถาบันฯ"

หากพิจารณาข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อของกลุ่มนักศึกษาในการปฏิรูปสถาบันนั้น ก็ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผศ.ดร. ประจักษ์ทิ้งท้ายว่า "เมื่อคนรุ่นใหม่เปิดห้องเรียนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ ผู้ใหญ่ควรร่วมกันเรียนรู้ไปกับเด็ก"

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar