tisdag 17 juni 2014

สัมภาษณ์ : จักรภพ-ปรวยฯ-โจ กอร์ดอน ...


ข่าว  ThaiE - News

เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๕๗ ได้มีการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษเรื่อง Meeting Resistance: The Hard Road of Opposition in Exile ในคอลัมน์ Spectrum ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อันเป็นรายงานการสัมภาษณ์บุคคลเด่นๆ ที่แสดงบทบาทแจ่มแจ้งในการรณรงค์ต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม และการยึดติดอยู่ในอำนาจปกครอง พร้อมทั้งการบริหารกิจการสาธารณะในประเทศไทยต่อไปอีกไม่น้อยกว่า ๑๕ เดือนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า

การสัมภาษณ์มีขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ โดย Nanchanok Wongsamuth เป็นผู้เขียนรายงานการซักถามความเห็นบุคคลต่างๆ อาทิ จักรภพ เพ็ญแข ปรวย Salty Head  โจ กอร์ดอน (วิชัยคำมาตย์) และ Andrew MacGregor Marshall ซึ่งไทยอีนิวส์ถอดความออกมาเพียงสังเขป เท่าที่จะสามารถถ่ายทอดความคิด ความเห็น และความรู้สึกของผู้ถูกสัมภาษณ์บางท่านในภาษาไทยได้ ดังต่อไปนี้
........
ระยะหลังๆ มานี่ คุณจักรภพเล่นเกมการเมืองขว้างหินฆ่าเวลา เขาแข็งขันกับการให้สัมภาษณ์สื่อนานาชาติถึงการจัดตั้งขบวนการต่อต้านขึ้นในต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็บอกด้วยว่าไม่มีการรวมตัวของคนเสื้อแดงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นกัมพูชา เขายังย้ำอีกว่าขบวนการต่อต้านนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งกลไกทางการเมืองและการเงินของเขาถูกทำลายไปโดยคณะทหารผู้ปกครอง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เขาได้กลับสู่อำนาจ

เขา (จักรภพ) เอ่ยถึงมวลชนเสื้อแดงในตอนหนึ่งว่า “เราขอร้องคนของเราไม่ให้เข้ามาในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเดือดร้อนหรือสิ้นหวังอย่างไร” และ “ประเทศเพื่อนบ้านมีความโอบอ้อมมาตลอด เราไม่อาจทำให้ต้องเสี่ยงกับการก้าวร้าวของคณะทหารในประเทศไทยที่โหดเหี้ยมชุดนี้ได้”
......
ฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชามีความสัมพันธ์แน่นเหนียวอยู่ทักษิณ หากแต่กระทรวงต่างประเทศกัมพูชาเพิ่งจะปฏิเสธทันควันไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าคุณจักรภพไม่ได้อยู่ในกัมพูชาขณะนั้น จักรภพเองก็พูดว่าไม่มีการรวมตัวกันใหม่ของคนเสื้อแดงในกัมพูชา

เขายอมรับว่าขบวนการต่อต้านในขณะนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนน้อย อันรวมถึงรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่นเดียวกันกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จารุพงษ์ เรืองสุวรรณ

เขายังปฏิเสธเรื่องข่าวลือที่ว่าเขาได้แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีเขมรคนหนึ่ง ซึ่งทำให้อธิบายได้ว่าทำไมเขาจึงสามารถอยู่อาศัยในประเทศนั้นได้เป็นเวลานาน

“ผมไม่ใช่ประเภทที่จะแต่งงานได้ง่ายๆ” เขาบอกกับสเป็คตรัม

ระหว่างการให้สัมภาษณ์จักรภพมีท่าทีนุ่มนวล สุภาพ และเป็นกันเอง เขาถูกหัวหน้าคณะรัฐประหารเรียกไปรายงานตัวพร้อมกับแกนนำเสื้อแดงอื่น แต่นั่นอีกนานก็ไม่มีทางเป็นไปได้แน่

“เสียใจที่ผมลงไปส่งคุณด้วยตัวเองไม่ได้ เกรงว่าประเดี๋ยวจะมีคนเห็นผมเข้า” เขาบอกโดยไม่ได้ลงจากรถ (โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์) หลังจากที่เสร็จสิ้นการสัมภาษณ์แล้ว

การต่อต้านจากโพ้นทะเล
.......
มีคนถูกเรียกไปรายงานตัวมากกว่า ๕๐๐ ในจำนวนนั้น ๒๑๔ คนถูกควบคุมตัวไว้ และ ๒๕ คนถูกดำเนินคดีต่อไป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ให้รายละเอียดแยกแยะว่ามีฝักฝ่ายการเมืองใดบ้าง สเป็คตรัมสอบถาม คสช. ว่ามีใครบ้างที่ไม่ได้ไปรายงานตัว คณะผู้ปกครองไม่ยอมตอบ

คุณจักรภพบอกว่าการรัฐประหารครั้งนี้เหิมเกริมและหักหาญ จุดมุ่งหมายของกลุ่มเขาเพื่อก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยที่ซึ่ง “ทุกภาคส่วนของสังคมมีความเท่าเทียมกันหมด”

“การเลือกตั้งเป็นหนทางดีที่สุดในการทำให้พลังของประชาชนมีความเท่าเทียมกับพวกชนชั้นนำ” เขาว่าพวกอำมาตย์ชราเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤตครั้งนี้ คนพวกนี้ใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องปกปิดความผิดของตน

จักรภพให้รายละเอียดสามขั้นตอนที่ขบวนการต้านรัฐประหารจะดำเนินการ โดยจัดตั้งเครือข่ายขึ้นทั้งในและนอกประเทศ เปลี่ยนแรงกดดันทางการเมืองไปเป็นการบีบรัดทางเศรษฐกิจ แล้วใช้ทั้งสองแขนงร่วมกัน และประสานงานกับกลุ่มต่อต้านภายในประเทศ

สถานที่ตั้งของขบวนการนั้นจำกัดจำนวนลงมาเหลืออยู่ในสี่ประเทศ และเป็นไปได้มากที่จะอยู่ในยุโรป แต่เขาไม่ยอมบอกว่าเป็นประเทศใดแน่

สหรัฐ ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรปอีกหลายแห่งประณามรัฐประหารครั้งนี้ จักรภพบอกว่าคนไทยจำนวนมากก็ต่อต้าน แต่ก็ยังต้องการแรงหนุนทางจิตใจและสำนึก

“ประชาชนไทยรอให้เรา (จัดตั้งขบวนการต่อต้าน) ขึ้น ผมเอาชีวิตเป็นเดิมพันได้ในเรื่องนี้ เขาว่า “อาจจะมีคนที่ไม่ได้รักพรรคเพื่อไทยหรือทักษิณอยู่ แต่ก็มีคนจำนวนมากมายที่รักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย”

เขาไม่ได้เผยกำหนดเวลาในการดำเนินงานว่าเป็นอย่างไร คุณจักรภพบอกว่าจะมีการประกาศโครงงานอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ เขาไม่เจาะจงในเรื่องหลักๆ ของกระบวนการ แต่ส่วนหนึ่งจะเป็นการร่วมมือแบบ “ตัวต่อตัว” มากเสียกว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นทางสื่อโซเชียล
......
คณะทหารผู้ปกครองจัดการเรียกตัวผู้ที่วิพากษ์รัฐประหารไปสอบปากคำหรือควบคุมตัวอย่างรวดเร็ว จักรภพเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งของแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเป็นคนที่สองในรายชื่อผู้ต้องสงสัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในรายชื่อ ๑๘ คนที่ประกาศเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ให้ไปรายงานตัวภายในวันจันทร์ที่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ผู้ต้องหาคนอื่นในรายชื่อนั้นที่อาศัยลี้ภัยในต่างประเทศรวมถึงโจ วิชัยคำมาตย์ กอร์ดอน และนักกิจกรรมออนไลน์ที่รู้จักกันในนามแฝงว่า ปรวย Salty Head ผู้ที่สเป็คตรัมสัมภาษณ์สำหรับบทความนี้

ในภารกิจเดียวกัน

บนชั้นดาดฟ้าของร้านอาหารริมแม่น้ำโขง ชายวัย ๔๘ ปี สวมแว่น ผมยาวประไหล่ มองลงไปดูความจอแจบนลำน้ำเบื้องล่าง มันเป็นเวลาเกือบสี่ทุ่มแล้ว แต่ยังมีเรือหลายลำขวักไขว่ภายใต้แสงจันทร์

“ผมซึ้งใจที่ได้เห็นพื้นที่สาธารณะแห่งนี้เป็นของปวงประชาทุกชนชั้น ในเมืองไทยนั้นริมน้ำสงวนไว้สำหรับพวกคนรวยเท่านั้น” เป็นคำรำพึงของปรวย ผู้ซึ่งออกจากประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๔

ปรวยเป็นที่รู้จักกว้างขวางในปี ๒๕๕๓ เมื่อเขาเริ่มโพสต์ข้อความวิจารณ์การเมืองภายใต้นามแฝง ปรวย Salty Head’ (โดยใช้คำไทยผสมอังกฤษอันเป็นที่เข้าใจความหมายกันดี-ไทยอีนิวส์) บนเว็บบอร์ดประชาไทและฟ้าเดียวกัน (Same Sky) ตอนที่เขาถูกกำลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจำนวน ๒๐ คนบุกเข้าไปทำการจับกุมเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีแฟ้มเอกสารเตรียมคดีสำหรับเขาหนาถึง ๗.๕ เซ็นติเมตร บรรจุข้อความที่เขานำลงบนเว็บส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์

ปรวยรับว่าเป็นผู้เขียนข้อความเหล่านั้นเอง เขาจึงถูกข้อหาบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่ยึดเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คกับฮ้าร์ดดิสต์ไดร๊ฟ์ของเขาไป แล้วทำการสอบสวนเป็นเวลา ๕ ชั่วโมงก่อนจะปล่อยตัวกลับบ้าน

“เขาถามว่าผมรู้จักใครบ้าง ไปร่วมประท้วงกับใคร และติดต่ออยู่กับใคร แต่ผมไม่รู้จักใครสักคน” ปรวยเล่า “พวกเขาคิดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังทั้งหมดนี้ แต่เมื่อเขาเห็นหนังสือที่ผมอ่าน เขาจึงเชื่อว่าผมไม่ได้อยู่ในเครือข่ายอะไรเลย”
......
ถึงแม้ปรวยไม่ได้ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ หลังจากที่สอบสวนเขาแล้วเจ้าหน้าที่มีแผนที่จะทำการสืบสวนเขาต่อไปในขอบข่ายความผิด เขาจึงตัดสินใจออกนอกประเทศ เขารู้ว่าเขาจะไม่สามารถแสดงความเห็นของเขาได้อย่างเสรีถ้าเขายังอยู่ในประเทศ เขาอยู่ในรายชื่อเดียวกับที่จักภพถูกเรียกให้ไปรายงานตัว

“ผมถามตัวเองว่าจะสามารถยุติ (การโพสต์ข้อความวิพากษ์หนักหน่วง) ได้ไหม ผมทำไม่ได้” เขาว่า “ถ้าผมออกไปผมอาจไม่มีสิ่งของมีค่าติดตัว ผมก็ยังมีเสรีภาพเหลืออยู่”

ขณะนี้ปรวยทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไม่มีสังกัด บนหน้าเฟชบุ๊คของเขามีรูปโปรไฟล์เพียงรูปเดียว ใส่แว่นดำ มีเทปปิดปาก ทับด้วยเครื่องหมายคำถาม เขาต่อต้านการรัฐประหารอย่างเปิดเผย โดยบอกว่ามันเป็นเรื่องไม่แฟร์และริดรอนสิทธิตามหลักการประชาธิปไตยของพลเมือง

“มีคนถามว่าเราจะต่อสู้อย่างไร ผมไม่ใช่แกนนำของเครือข่าย ผมไม่อยากเป็นด้วยซ้ำไป ผมเป็นเพียงคนธรรมดาเท่านั้นที่มีสิทธิในเสรีภาพและการแสดงออก ผมอยากใช้ชิวิตอย่างปกติธรรมดา” เขาเผย “แต่ผมก็คิดถึงประเทศไทย เดือนละครั้งหรือสองครั้งผมจะฝันว่าได้ไปทำการถ่ายทำหนัง แล้วก็ถูกจับ”

ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหารอีกคนหนึ่งซึ่งแข็งขันกับกิจกรรมออนไลน์ คุณกอร์ดอนได้คุยกับสเป็คตรัมจากสถานที่ไม่เปิดเผยแห่งหนึ่ง

เขาเป็นพลเมืองสหรัฐที่เกิดในประเทศไทย ถูกคุมขังเมื่อปี ๒๕๕๓ ในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เขาเป็นคนรองสุดท้ายในรายชื่อเดียวกับจักรภพและปรวย

คุณกอร์ดอนต้องข้อหาเป็นผู้จัดทำเว็บไซ้ท์ที่ลงลิ้งค์สำหรับดาวน์โหลดหนังสือของพอล แฮนลี่ย์เรื่อง พระราชาไม่ทรงยิ้มซึ่งถูกห้ามนำเข้าประเทศไทยแต่ก็สามารถหาอ่านได้ทางอินเตอร์เน็ตทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ ก่อนเกิดเหตุครั้งนี้ กอร์ดอนอาศัยอยู่ในสหรัฐมา ๓๐ กว่าปี และได้สถานะเป็นพลเมือง เขาถูกหาว่าเป็นผู้แปลบางตอนจากหนังสือของแฮนลี่ย์แล้วนำลงบนอินเตอร์เน็ต แต่คุณกอร์ดอนอ้างว่าดีเอสไอปลุกปั่นหลักฐานขึ้นมาปักปำเขา รวมทั้งเรื่องเว็บบล็อกด้วย

“ผมไม่ได้เป็นคนทำ และพวกเขา (ดีเอสไอ) ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ดังข้อกล่าวหา” เขากล่าว “มันทำให้ชิวิตผมแหลกราญไปเลย”

เขาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา ๕ ปี แต่ผู้พิพากษาลดโทษให้ครึ่งหนึ่งเพราะเขายอมรับสารภาพ เมื่อเขาได้รับอภัยโทษหลังจากถูกจองจำในคุกมาเป็นเวลา ๑๔ เดือน คุณกอร์ดอนเดินทางบ่อยๆ ระหว่างสหรัฐกับบางประเทศในกลุ่มอาเซียน

เขาเห็นด้วยกับจักรภพในแผนการจัดตั้งขบวนการต่อต้านรัฐประหารและพร้อมที่จะให้การสนับสนุน แต่ก็ยอมรับว่าการต่อสู้นี้จะยากอยู่สักหน่อย จากการที่เสื้อแดงต้องพ่ายแพ้มาแล้วหลายครั้ง บนเฟชบุ๊คของเขายึดมั่นหลักการเสรีภาพในการแสดงออก และลงข้อความต้านรัฐประหารทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ

“ผมไม่เข้าใจนะว่าทำไมคนคิดกันว่าการรัฐประหารจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้”

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar