tisdag 8 mars 2016

บีบีซีไทย - BBC Thai

นายกฯใช้ม.44 แก้กม.สิ่งแวดล้อม ให้เดินหน้าโครงการพัฒนาได้ไม่ต้องรอผลอีไอเอ
นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานขอ ค.ร.ม.อนุมัติคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน แม้ยังไม่ทราบผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้เพิ่มเติมข้อความในวรรค 4 ...ของมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดให้หน่วยงานรัฐสามารถทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้คัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน แม้จะยังไม่ได้รับอนุมัติในเรื่องของรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้
ทั้งนี้ โครงการที่เข้าข่ายดังกล่าวคือโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม นักกฎหมายจากสำนักกฎหมายนิติธรรมสิ่งแวดล้อม บอกกับบีบีซีไทยว่า เขาเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีข้อน่ากังวล เนื่องจากมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมกำหนดว่าโครงการขนาดใหญ่ที่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมาแล้วเป็นอย่างดี จึงจะเริ่มโครงการ หรือจัดทำเอกสารเชิญชวนเอกชนเข้าประกวดราคาได้ แต่คำสั่งล่าสุดของนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานสามารถเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาได้โดยที่ยังไม่ทราบผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
“โครงการแบบนี้มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ทั้งสิ้น และเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งมีมูลค่าโครงการพันกว่าล้านบาทขึ้นไป เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการชลประทาน ระบบขนส่ง รถไฟรางเดี่ยว รางคู่ หรือเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งการคมนาคม อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เป็นต้น”
นายสุรชัย กล่าวว่าหากหน่วยงานของรัฐคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนโครงการ แล้วพบว่ารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านการพิจารณา ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดของเอกชน ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ารัฐอาจจะต้องเป็นผู้ชดใช้ให้เอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการ เพราะเป็นการกระทำทางปกครอง ที่ทำให้เอกชนเสียหาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดประเภทหนึ่ง
นายสุรชัย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการไม่รอรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น หมายความว่าถึงอย่างไรโครงการจะต้องผ่านการพิจารณาแน่นอนใช่หรือไม่ เขาเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการใช้อำนาจตาม ม.44 ในการออกคำสั่งดังกล่าว
บีบีซีไทยยังไม่สามารถติดต่อพูดคุยกับหน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐได้

คลิกดูเพิ่ม-Visa mer




Inga kommentarer:

Skicka en kommentar