torsdag 3 mars 2016

ปกครองกันด้วยความกลัว


ปกครองกันด้วยความกลัว
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ทุกวันนี้ดูเหมือนผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่างก็เกิดความกลัวอยู่ 2-3 อย่าง อย่างที่หนึ่งความกลัวการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างที่สองกลัวการเลือกตั้ง และอย่างที่สามกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายและในที่สุดจะมีการเสียเลือดเนื้อ แล้วก็ต้องปฏิวัติรัฐประหารกันอีก
ดูเหมือนจะเป็นการบ้านที่ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนกฎเกณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดเวลาไว้อย่างไร จะใช้กฎหมายป้องกันการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างไร กฎหมายก็กำหนดโทษสำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้สูงกว่าโทษอาญาอื่นๆ ใช้ สูงสุดคือประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตอยู่แล้ว ถ้าจำเลยเป็นนักการเมืองหรือร่วมกระทำความผิดร่วมกับนักการเมือง ก็ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ซึ่งมีศาลเดียว ผิดหลักของกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาได้เลย แต่ถ้าผู้กระทำผิดไม่ใช่นักการเมืองหรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งการเมือง และไม่ได้กระทำความผิดร่วมกับนักการเมือง ก็ไปขึ้นศาลอาญา ซึ่งสามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ตามปกติ

การกระทำความผิดทางอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น หลายคนคิดว่าเป็นวัฒนธรรมของชาติหรือสังคมนั้นๆ เหมือนๆ กับความคิดเรื่องประชาธิปไตย ก็เป็นวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยการเขียนกฎหมายบังคับเอาคงจะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยอมรับการกระทำทุจริต คอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ควรจะกระทำการป้องกัน โดยปลูกฝังความคิดของผู้คนเสียตั้งแต่ยังเล็กว่า การกระทำทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นสิ่งไม่ดี ข้อสำคัญที่สุดคือผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ในคณะรัฐบาล ในวงการราชการ ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องเป็นเบื้องแรก ข้อแรกดูเหมือนว่าได้ประชาสัมพันธ์กันมามากแล้ว ส่วนข้อหลังไม่แน่ใจ

การมีระบบระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่รอบคอบรัดกุมแต่คล่องตัว ก็เป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการจัดการป้องกันเบื้องต้นที่เหมาะสม ส่วนการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นน่าจะเป็นเรื่องสุดท้าย ยกเว้นแต่ว่าเขียนเพื่อป้องกันคนที่มีประวัติและพฤติกรรมที่ผ่านมา เช่น เคยถูกลงโทษโดยคำพิพากษาศาลว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ แต่ถ้าไปมุ่งเขียนรายละเอียดจนเกินไปก็อาจจะไปทำให้ขัดกับหลักการอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรอง


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar