lördag 12 november 2016

Somsak Jeamteerasakul......คลินตันได้ป๊อปปูล่าโหวตมากกว่าทรัมพ์ถึง 2.2 ล้าน??.

   
Somsak Jeamteerasakul's photo.
Somsak Jeamteerasakul คลิกดูเพิ่ม 7 new photos
คลินตันได้ป๊อปปูล่าโหวตมากกว่าทรัมพ์ถึง 2.2 ล้าน?? - ดูรายละเอียดที่นี่
คลินตันได้ป๊อปปูล่าโหวตมากกว่าทรัมพ์ถึง 2.2 ล้าน??
ใครอ่านเฟซบุ๊คผม คงเห็นกันว่า ผมไม่ได้พูดถึงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเลย ไม่ใช่เพราะผมไม่สนใจหรือไม่ได้ติดตาม (ความจริงผมสนใจและติดตามใกล้ชิดมากๆตลอดปีที่ผ่านมา)
เหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้เขียน เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่อะไรนัก เพราะเท่าที่ผมดูๆ ใครต่อใครที่เขียนหรือพูดกัน รวมถึงพวกที่ออกทีวีด้วย ผมไม่คิดว่า ผมรู้น้อยกว่าคนเหล่านั้น อันที่จริง หลายกรณี ผมคิดว่าผมรู้มากกว่าด้วยซ้ำ
แต่เหตุผลใหญ่จริงๆ มาจากว่า ในความเห็นของผม เรื่องนี้ มันมีความซับซ้อนยุ่งเหยิงไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกับกรณีไทย หรือจะพูดโดยโยงกับการเมืองไทย (ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ผมเห็นทางเฟซบุ๊คมักจะโยง) เป็นปัญหาที่ยิ่งซับซ้อนยุ่งยาก
และผมไม่แน่ใจว่า ต้องการเสียเวลาและพลังงานกับเรื่องนี้ไหม
แต่ประเด็นที่จะเขียนนี้ (ซึ่งเท่าที่ดูๆจากฝีด น่าจะยังมีคนรู้กันน้อย) เป็นประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจมาก แน่นอน เช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือเกี่ยวกับ "ประชาธิปไตยอเมริกัน" หรือที่โยงกับการเมืองไทย เป็นอะไรที่ถ้าพูดกันจริงๆ จะต้องใช้เวลาอีกเยอะ กระทู้นี้ ผมมีเป้าหมายเพียงบอกให้คนที่ไม่รู้ ได้รู้ และเผื่อจะนำไปศึกษา คิด หรืออภิปรายต่อกันเองเท่านั้น
ถึงวันนี้ คิดว่าทุกคนคงรู้แล้วว่า คลินตันได้คะแนนป๊อปปูล่าโหวตมากกว่าทรัมพ์ แต่ยังแพ้ เพราะทรัมพ์ได้ "คณะเลือกตั้ง" (Electoral College) มากกว่า
หลายคนคงเห็นตัวเลขตั้งแต่วันแรกว่า คลินตันได้คะแนนมากกว่าทรัมพ์ 2 แสน ใครที่อัพเดตหน่อย อาจจะเห็นตัวเลขที่ใหม่กว่านั้นว่า คลินตันได้มากกว่าทรัมพ์ประมาณ 4 แสน
และหลายคนก็อาจจะเห็นที่มีการทำเป็นกราฟว่า คะแนนที่คลินตันได้นั้น ลดลงจากคะแนนที่โอบาม่าเคยได้เมื่อ 4 ปีก่อน ถึง 5-6 ล้านเสียง แล้วก็มีการพูดกันว่า ที่คลินตันแพ้ เพราะคนที่เคยสนับสนุนโอบาม่า-เดโมแครต ไม่ยอมออกมาลงคะแนนเอง เพราะไม่ชอบคลินตัน บางคนก็บอกว่า เพราะแซนเดอร์ส ไม่ได้เป็นตัวแทน ไม่เช่นนั้น คงสามารถดึงคนที่เคยลงให้โอบาม่า-เดโมแครต 5-6 ล้านนั้น ออกมาลง และอาจจะชนะทรัมพ์ไปแล้ว (ดูภาพประกอบที่ 1)
แต่เมื่อวานนี้ เว็บไซต์ Slate ได้รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก แนต โคห์น (Nate Cohn) นักหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ อ้างว่า ถ้าคะแนนป๊อปปูล่าโหวตได้รับการนับหมดเมื่อไร ตัวเลขที่คลินตันชนะทรัมพ์ จะไม่ใช่ 4 แสน แต่จะเป็นถึง 2.2 ล้าน และคะแนนรวมทั้งหมดที่คลินตันได้ จะเป็นการได้มากที่สุดเป็นที่สองในประวัติศาสตร์ รองจากที่โอบาม่าเคยได้เท่านั้น คือประมาณ 63 ล้านเศษ ไม่ใช่ 60 ล้านที่มีรายงานกันไป (ดูภาพประกอบที่ 2 และ 3)
(ดูบทความ Slate ที่นี่ goo.gl/HFO1R1 ดูทวิตเตอร์ของโคห์นที่พูดเรื่องนี้ ที่นี่ goo.gl/foc1KU ผมตระหนักดีว่า ทั้ง Slate และนิวยอร์คไทมส์เชียร์คลินตัน แต่กรณีนี้ เป็นเรื่องตัวเลข ที่ผมว่าแยกจากประเด็นนั้นได้)
หลายคนที่ได้อ่านบทความ Slate และดูทวิตเตอร์ของโคห์น ก็งงกันมากว่า แล้วที่รายงานๆกันว่า คลินตันชนะ 4 แสนนี่ มาได้ยังไง โคห์นอธิบายว่า ความจริง คะแนนป๊อปปูล่าโหวตยังนับไม่หมด คงอีกเป็นสัปดาห์ๆกว่าจะนับหมด โดยระบบแบบนี้ ถ้ามีการนับไปถึงจุดหนึ่ง แล้วคะแนนทิ้งห่างกันมาก พวกสื่อเขาก็ "ฟันธง" ได้แล้วว่า ใครได้ Electoral College ของรัฐนั้นไป เช่น คลินตันนำทรัมพ์ในแคลิฟอร์เนียหลายล้าน ไม่มีทางที่ทรัมพ์จะพลิกกลับมาชนะแน่ๆแล้ว เขาก็ "ฟันธง" กันไปได้เลยว่า คลินตันชนะในรัฐนั้น ปัญหาคือ ในรัฐที่ใหญ่ (เช่นแคลิฟอร์เนียนี่แหละ) ถึงเวลาถ้านับไปจนหมด ตัวเลขการชนะ ก็จะห่างขึ้นไปอีก
โคห์นได้ให้ลิงค์แผนที่คะแนนป๊อปปูล่าโหวตที่ยังนับไม่เสร็จมา ลองไปดูกันได้ (ภาพประกอบที่ 4) ที่นี่ goo.gl/FJYYkp
จะเห็นวา ส่วนที่ยังนับกันไม่หมด โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนีย (หรือที่อื่นๆก็ใช่) ล้วนเป็นเขตของคลินตัน-เดโมแครตทั้งนั้น ซึ่งตามที่โคห์นประมาณการณ์ เมื่อนับหมด คลินตันจะชนะอยู่ที่ราว 2.2 ล้าน นี่เป็น projection คือ เป็นการคาดเอาจากเทรนด์และตัวเลขที่มีอยู่ ดังนั้น ถึงเวลานับหมดจริงๆ อาจจะไม่ใช่ 2.2 ล้านก็ได้ อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่ว่า ระดับที่คลินตันชนะทรัมพ์ก็ไม่น่าจะห่างจากนี้นัก คือจะเป็นระดับใกล้ๆ 2 ล้านเสียง
โดยตัวเลขที่มีรายงานกันขณะนี้ รวมทั้งของนิวยอร์คไทมส์เอง ยังอยู่ที่ห่างกันประมาณ 4 แสน (ดูภาพประกอบที่ 5 แผนที่เป็นสีแดงๆน้ำเงินๆ หรือดูเว็บไซต์ที่นี่ goo.gl/Mxv1Ac สำหรับใครที่สนใจตัวเลขแตกย่อยเป็นรัฐๆทุกรัฐ โดยแยกประเภทเป็นรัฐที่เรียกว่า "สวิงสเตต" หรือรัฐที่ต้องแย่งกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากในการเลือกตั้งในช่วง 3 ทศวรรษที่่ผ่านมา ดูที่เว็บนี้ goo.gl/4zlFLe (ภาพประกอบที่ 6)
เป็นความจริงที่ว่า ต่อให้ผลสุดท้าย คลินตันชนะป๊อปปูล่าโหวตต่อทรัมพ์ถึง 2 ล้านตามการคาดการณ์ของโคห์น ตัวเลขนี้ก็นับเป็นเปอร์เซนต์ที่น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนคนลงคะแนนทั้งหมด (ราว 130 ล้าน) และเป็นความจริงที่ว่า ถ้าเทียบระยะห่างการชนะป๊อปปูล่าโหวตของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา ก็น้อยกว่าหลายครั้ง เช่น โอบาม่า ชนะคู่แข่ง 9.5 และ 4.9 ล้าน หรือบิล คลินตัน ชนะคู่แข่ง 5.8 และ 8.2 ล้าน บุชซีเนียร์ ชนะคู่แข่ง 7 ล้าน เป็นต้น
แต่ถ้าเทียบกับอีกบางกรณี เช่น กอร์เองชนะบุชจูเนียร์ (แต่แพ้เรื่อง Electoral College) 5 แสน หรือที่สำคัญ บุชจูเนียร์ ชนะคู่แข่ง(เลือกหนสองของเขา)เพียง 3 ล้าน ก็ห่างกันไม่มาก หรือกรณีอย่าง จอห์น เอฟ เคเนดี้ ชนะคู่แข่ง เพียง 1 แสนเศษ, นิกสัน(ครั้งแรก) ชนะคู่แข่งเพียง 5 แสนเศษ, และคาร์เตอร์ ชนะคู่แข่งเพียง 1.6 ล้าน ตัวเลขที่ว่าคลินตันชนะทรัมพ์ 2 ล้าน ก็สำคัญไม่น้อยเลย (ดูตัวเลขการชนะป๊อปปูล่าโหวตของการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา ได้ที่นี่ goo.gl/fcDVMD)
..........
ต้องย้ำว่า ผมรู้เรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมา หลักเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังไอเดียเรื่อง Electoral College ดี เรื่องจุดแข็งหรือ "ข้อดี" ที่มีการพูดๆกัน (อันที่จริง เท่าที่ผมดูคนที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาอธิบาย บอกตรงๆว่า ผมคิดว่าผมรู้มากกว่านั้น คือมันมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนกว่าที่มีการพูดๆกัน ซึ่งโยงไปถึงปัญหาเรื่องไอเดียหรือหลักปรัชญา หรือความเข้าใจเกี่ยวกับ "ประชาธิปไตย" หรือระบอบปกครองสหพันธรัฐ ที่ Founding Fathers หรือกลุ่มบิดาผู้สถาปนาสาธารณรัฐ วางไว้) แต่เรื่องนี้ ถ้าจะพูดแล้วจะยืดยาวมากๆ ไม่สามารถพูดในที่นี้ได้ (โดยส่วนตัว ผมมีความเห็นมานานตั้งแต่ศึกษาระบบการเมืองอเมริกันว่า ระบบ Electoral College เป็นระบบที่ควรยกเลิก และใช้การตัดสินด้วยป๊อปปูล่าโหวตแทน แต่เรื่องนี้ ถ้าจะอภิปรายก็ยาวเช่นกัน)
รวมถึงประเด็นว่า ยิ่งถ้าจะโยงเข้ากับระบบการเมืองไทย เรื่องนี้ก็เป็นอะไรที่มีความซับซ้อนอยู่ ไม่สามารถอภิปรายสั้นๆในที่นี้
และที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้ต้องการเสนออย่างซีเรียสว่า ถ้าเช่นนั้น คนที่เชียร์คลินตัน หรือแอนตี้ทรัมพ์ ควรจะปฏิเสธผลการเลือกตั้ง รวมไปถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายวันนี้ เรื่องการประท้วงในบางเมือง - แต่เรื่องนี้ พูดไปก็ยาวอีก (ผมไม่คิดว่า เป็นอะไรที่จะฟันธง เชียร์ หรือ ค้าน ได้อย่างง่ายๆ แบบที่ผมเห็นส่วนใหญ่ทำกัน)
กระทู้นี้ อย่างที่พูดไปแต่ต้น มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่เล่าให้ฟัง ถึงด้านที่น่าสนใจมากๆ ของการเลือกตั้งครั้่งนี้ เผื่อใครสนใจจะไปศึกษาต่ออย่างลึกมากขึ้น
อ้อ ในกรณีที่ถ้าใครยังไม่เคยเห็น ทวิตเตอร์ของทรัมพ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่วิพากษ์ว่า ระบบ Electoral College เป็นระบบที่ "หายนะต่อระบบประชาธิปไตย" ผมได้เอาภาพมาให้ดูด้วย (ภาพประกอบสุดท้าย)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar