fredag 28 april 2017

ว่าด้วยพระราชดำรัสในหลวงภูมิพลที่เหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำ (แถมการวิเคราะห์และอธิบายวิธี "อ่าน" สปีชในหลวงภูมิพลโดยทั่วไป)


 

พระราชดำรัสในหลวงภูมิพลเรื่องเรือดำน้ำ (แถมการวิเคราะห์และอธิบายวิธี "อ่าน" สปีชในหลวงภูมิพลโดยทั่วไป)
ว่าด้วยพระราชดำรัสในหลวงภูมิพลที่เหมือนจะไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำ
(แถมการวิเคราะห์และอธิบายวิธี "อ่าน" สปีชในหลวงภูมิพลโดยทั่วไป)
ความจริง ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลายปีก่อน เพราะเรื่องเรือดำน้ำนี่ มีเป็นข่าวขึ้นมาเสมอ (ดูกระทู้ที่แล้วประกอบ ตอนท้ายที่ผมยกคำของยิ่งลักษณ์ เกี่ยวกับว่ามีการเสนอมาหลายครั้งแล้วถูกตีกลับทุกครั้ง)
ตอนนี้ มีเรื่อง คสช.ซื้อเรือดำน้ำ ก็มีคนยกกันขึ้นมาอีก ว่าในพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2550 ในหลวงภูมิพลทรงแสดงความเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำ
ประเด็นที่ผมบอกแต่ไหนแต่ไรคือ สปีชในหลวงภูมิพลทุกครั้ง ไม่ใช่อะไรง่ายๆที่แค่ยกมาไม่กี่คำหรอกครับ รวมถึงเรื่องเรือดำน้ำด้วย
ก่อนอื่น (อันนี้ขอพูดในฐานะคนศึกษาสปีชในหลวงภูมิพลมานานมาก) เวลาในหลวงภูมิพลมีสปีชน่ะ จะมีลักษณะการพูดที่ สมมุติทรงสนับสนุนอะไรสักอย่าง (โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการเมืองหน่อย) จะทรงพูดในเชิงสนับสนุน แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีประโยคอื่นๆในลักษณะที่ออกโทนเหมือน "แย้ง" การสนับสนุนนั้นเองควบคู่ไปกันด้วย
นี่ไม่ใช่ปัญหา "เสนอสองด้าน" นะครับ แต่ในหลวงภูมิพล (ต่างกับลูกชายตอนนี้) เขาโตขึ้นมาในภาวะที่ต้องสู้กับคนที่มีอำนาจอยู่ก่อน กว่าจะค่อยๆสร้างอำนาจของตัวเองและสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา เขาจึงตระหนัก (conscious) มากๆ เวลาจะพูดอะไร หรือจะเสนออะไร จะระมัดระวังมาก ไม่ให้เป็นจุดอ่อนให้โจมตีได้ จึงมีลักษณะจงใจพูดให้ "คลุมๆเครือ" เข้าไว้ คือแม้มีบางตอนพูดไว้ชัด ก็ต้องมีอีกบางตอนในสปีชเดียวกันนี่แหละ ที่ทำให้ "คลุมเครือ" แทรกเข้ามาด้วย
หรือเทคนิคอีกอย่างที่ทรงใช้เสมอ คือ พูดเรื่องหนึ่งที่ต้องการเสนออยู่ แต่จะแทรกเรื่องโน้นเรื่องนี้ "ออกนอกเรื่อง" ไปเรื่องอื่นเยอะ ก่อนจะวกกลับมาเรื่องที่ต้องการเสนอจริงๆ (แล้วก็ "ออกนอกเรื่อง" ไปเรื่องอื่นอีก)
เทคนิคการพูดสปีชแบบนี้ ทรงทำจนกลายเป็นคาแร็กเตอร์ไปเลย คือไม่จำเป็นต้องเตรียมล่วงหน้า ทำจนชิน แน่นอน มีคำอธิบายในลักษณะที่แย่กว่านี้ เช่นบางคนเสนอว่า เพราะในหลวงภูมิพลเรียนภาษาไทยแบบซีเรียสเมื่ออายุเริ่มเป็นหนุ่มพอสมควรแล้ว - พระองค์โตมากับการใช้ฝรั่งเศสเป็นหลัก - ก็เลยใช้ภาษาไทยไม่ดี ที่ "คลุมเครือๆ" คือสะท้อนเรื่องความไม่คล่งเรื่องภาษานี้มากกว่า ซึ่งผมก็ว่ามีส่วนจริง แต่ไม่ทั้งหมด
หรือบางคนถ้ามองในแง่ไม่ดีมากไปอีก ก็บอกว่า เพราะความคิดของพระองค์มีลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า incoherence คือ ไม่ได้คงเส้นคงวา ...
แต่ทั้งหมดนี้ ผมข้ามไป เพราะผมเห็นว่า จริงๆ มีด้านที่ผมกล่าวข้างต้น คือการจงใจพูดแบบ "ซ่อนๆ" แบบให้มีความ "คลุมเครือ" ที่พัฒนามาจากการต่อสู้กับกลุ่มอื่นๆมานานเป็นหลักอยู่จริง
แล้วที่สำคัญมากอีกอย่างในการอ่านสปีชคือ จะต้องดู "ปริบท" หรือแบ๊คกราวน์ว่า เรื่องแต่ละเรื่องที่ทรงพูดถึง มีแบ๊คกราวน์อย่างไร เช่นตอนนั้น มีเหตุการณ์อะไร และที่ทรงพูดพาดพิงน่ะ มีนัยยะหรือผลต่อเหตุการณ์อย่างไร เช่นที่สำคัญกรณีหนึ่งคือ ปี 2548 ที่ดูเหมือนจะเสนอว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายหมิ่น "คิงแคนดูโนรอง" น่ะ แบ๊คกราวน์คือทักษิณกำลังใช้กฎหมายหมิ่นเล่นงาน สนธิ ลิ้มทองกุล หลังในหลวงพูด ทักษิณเลยไปถอนฟ้อง (น่าเสียดายว่า แม้แต่นักวิชาการฝรั่งบางท่าน ก็เอาไปพูดใหญ่โตว่า ที่ในหลวงพูด คือในหลวงกำลังวิจารณ์กฎหมายหมิ่น ใช้คำประมาณว่า The most significant critic of the law หรือ "คนที่วิจารณ์กฎหมายหมิ่นที่สำคัญที่สุดคือในหลวง" ซึ่งผิดเลย ไม่ได้วิจารณ์ตัวกฎหมายเลย แม้แต่การใช้ ก็ไม่ใช่วิจารณ์ในลักษณะทั่วไปเลยด้วยซ้ำ นัยยะของการวิจารณ์ครั้งนั้น แคบกว่าที่ว่ามาก)
...................
โอเค ทีนี้มาเรื่องสปีช 2550 และเรื่องเรือดำน้ำโดยตรง
ข้อความเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ที่มีการยกๆกันขึ้นมา มีดังนี้
"เราสร้างเรือ เราสร้างเรือให้พอเพียง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง นั่นน่ะมันไม่พอเพียง มันเล็กเกินไป ยังเล็กเกินไป ก็อาจจะ ควรจะใหญ่กว่าหน่อย แต่ถ้าใหญ่เกินไป ไม่พอเพียง ถ้าเล็กเกินไปก็ไม่พอเพียง เรือที่เขาจะทำ เรือดำน้ำ เรือดำน้ำดำลงไป ไปปักเลนเลย ไอ้นี่เขาโกรธ เดี๋ยวเขาโกรธเอา ว่าเรือแล่นๆ ไป ดำน้ำ ไม่พอ ใครมาเครื่องบิน เห็นแจ๋วเลย ต้องไปจมเลนถึงจะไม่เห็น แล่นๆ ไปปักเลน ถ้าอยากไปที่ๆ ลึก ก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ ไกลกัน ไอ้เรือดูแลใกล้ฝั่งนี่ดีกว่า แต่ลำที่เราทำ เราสร้างก็ใช้ได้ดีแล้ว แต่ที่ควรจะสร้างต่อไปให้ใหญ่กว่านี้ ใหญ่กว่านี้หน่อย"
จริงๆถ้าอ่านละเอียด จะเห็นว่า ตัวข้อความส่วนนี้เอง ก็เป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน งงๆ ก่งก๊งๆ ตามลักษณะสปีชทีกล่าวข้างต้น คือไม่แนใจว่า ทรงไม่เห็นด้วยกับอะไรแน่ ที่เหมือนกับจะไม่ทรงเห็นด้วยกับ "เรือดำน้ำ" น่ะ หมายถึงไม่เห็นด้วยเลยกับการมีเรือดำน้ำ หรือว่าแค่ไม่ทรงเห็นด้วยกับที่มีการเสนอกันมา ("เรือที่เขาจะทำ") ถ้าเสนอแบบอื่น โมเดลอื่นก็อาจจะเห็นด้วยไหม หรือที่ทรงว่า "เดี๋ยวเขาโกรธเอา ว่าเรือแล่นๆ ไป ดำน้ำ ไม่พอ ใครมาเครื่องบิน เห็นแจ๋วเลย ต้องไปจมเลนถึงจะไม่เห็น แล่นๆ ไปปักเลน ถ้าอยากไปที่ๆ ลึก ก็ไปอยู่นอกเส้น" นี่หมายถึงอะไรแน่ อ่านไม่รู้เรื่องว่า ทั้งประโยคที่ยกมา หมายถึงความเห็นของคนอื่น ("เขา") หรือของพระองค์ หรืออะไรแน่
แต่ประเด็นความคลุมเครือของข้อความเรือดำน้ำนี้ ยังไม่สำคัญเท่ากับประเด็นว่า
#ความจริงสปีชนั้นโดยรวม #ในหลวงภูมิพลกำลังเชียร์ให้ใช้เงินซื้ออาวุธครับ ทรงบอกว่าอย่ากลัวว่าจะต้องใช้เงินไปซื้ออาวุธ
นี่ครับ ท่อนสำคัญ ซึ่งมีความชัดเจนยิ่งกว่า ท่อนว่าด้วยเรือดำน้ำเยอะ (ดูโดยเฉพาะที่ผมทำตัวหนาไว้ และดูที่ผมจะอธิบายเรื่องแบ๊คกราวน์สปีชต่อท้าย)
"แต่ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ต้องซื้อ ต้องมี เพราะว่าเดี๋ยวนี้น้ำท่วมก็ใช้กองทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ไปช่วยชาวบ้าน ฟากพวกพลเรือนไม่มีอาวุธ ที่จะไปช่วยพวกที่เดือดร้อน พวกที่ต้องการใช้ เรียกว่าอาวุธสำหรับช่วยประชาชน ยังไงก็พลเรือนก็ต้องมีอาวุธเหมือนกัน แต่ก่อนนี้พูดถึงตำรวจ เป็นกองทัพ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เป็นแล้ว แต่ว่าต้องใช้อาวุธสำหรับช่วยชาวบ้าน คงต้องเลิกพูด เพราะว่าถ้าพูดมากเดี๋ยวท่านก็งงว่า จะมาใช้เงินเยอะแยะ #ไหนๆเรารวยแล้ว #เดี๋ยวนี้เรารวยเงิน #เงินบาทมีราคาสูง #สูงเกินไปก็ใช้ซิ เงิน เงินบาทสูงเกินไปก็ใช้ ใช้ในที่ที่ควร ไม่ทราบ เราเดี๋ยวนี้ไม่รู้เรื่อง อาจจะเป็นที่หมอเขาว่า ว่าสมองเราฝ่อ แต่เรารู้สึกสมองเราไม่ฝ่อ แต่เขาว่าว่าเราฝ่อ
ฟังว่ารัฐบาลหรือเมืองไทย ประชาชน มีเงินเยอะ #มีเงินเกิน #ก็ใช้สิ เขาหาว่าเราเศรษฐกิจพอเพียง คำว่า พอเพียง ถ้ามีเงินก็ต้องใช้ ไม่ใช่ขี้เหนียว ถ้ามีเงินไม่ต้องขี้เหนียว #ซื้อไปเถอะ #อะไรก็ตาม เครื่องบิน เรือ รถถัง ซื้อ ถ้ามีเงินเยอะ ก็ถือว่าสนับสนุนให้จ่าย เดี๋ยวนี้เขาบอกว่า ในหนังสือพิมพ์เห็นรึเปล่า ว่าเขาสนับสนุนให้จ่าย ถ้ามีก็จ่าย แต่ถ้าไม่มีก็ระงับหน่อย มันเป็นอย่างนี้คนเราก็พูดเกินไปเสมอ อย่าให้เขาตอนนี้"
............................
ทีนี้ แบ๊คกราวน์ของเรื่องนี้ทั้งหมดคืออะไร? คือตอนนั้น มีข่าวว่า รัฐบาลสุรยุทธ์มีความลังเลที่จะใช้จ่ายเงินซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น ตามที่ทางกองทัพขอมา แล้วก็มีการยกเหตุผลเรื่องในหลวงสอนให้ "เศรษฐกิจพอเพียง"
สปีชในหลวงครั้งนั้น คือพยายามจะมาอธิบายแก้ว่า ที่ทรงบอกว่าให้ "พอเพียง" น่ะ ไม่ได้หมายถึงไม่ให้ใช้จ่ายเงิน ในเมื่อตอนนั้น รัฐบาลมีเงินอยู่ ("รวย เงินบาทมีราคาสูง") ก็ใช้ไปสิ ซื้ออาวุธไปสิ ("ซื้อไปเถอะ อะไรก็ตาม เครื่องบิน เรือ รถถัง ซื้อ" - "เรือ" ที่บอก "ซื้อไปเถอะ" น่าจะต้องรวมเรือดำน้ำด้วยกระมัง ตอนนั้นที่กองทัพเรืออยากได้จริงๆก็เรื่องเรือดำน้ำนี่แหละ)
พูดอีกอย่างคือ มองโดยรวมแล้ว ในหลวงไม่ได้มีปัญหากับการซื้ออาวุธ ยุให้ซื้อด้วยซ้ำ ต่อให้ตีความแบบแคบๆ เฉพาะว่า ไม่เห็นด้วยกับเรือดำน้ำ ก็เป็นเฉพาะเรื่อง ในภาพรวมคือทรงกำลังยุให้ซื้ออาวุธเพิ่ม (คนที่ยกสปีชนี้มาโต้เรื่องเรือดำน้ำ เอาเข้าจริง ส่วนมากก็ไม่ได้มองเฉพาะเรือดำน้ำ แต่โต้เรือดำน้ำในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความไม่พอใจการใช้จ่ายซื้ออาวุธของ คสช ซึ่งถ้าเช่นนั้น สปีชนี้ ก็ไม่มีทางใช้ในเชิงสนับสนุนเรื่องนี้)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar