måndag 17 april 2017

กรณี "หมุดหน้าใส" ยิ่งนานยิ่งส่งกลิ่นตุๆ และส่อไปที่ทฤษฎี "เสี่ยสั่งทำ"

Somsak Jeamteerasakul
กรณี "หมุดหน้าใส" ยิ่งนานยิ่งส่งกลิ่นตุๆ และส่อไปที่ทฤษฎี "เสี่ยสั่งทำ"
กรณี "หมุดหน้าใส" ยิ่งนานยิ่ง "ฟิชชี่ๆ" (ส่งกลิ่นตุๆ) และยิ่งส่อไปที่ทฤษฎี "เสี่ยสั่งทำ" - ประชาชนแจ้งความได้แน่นอนครับ และตำรวจต้องรับเรื่อง บันทึก และสอบสวนด้วย ที่ทำท่าจะไม่ยอมรับ มัน "ส่งกลิ่น"
ล่าสุด คุณศรีวราห์ ผช.ผบ.ตร. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ประชาชนที่ไปแจ้งความเรื่องหมุด ไม่มีสิทธิ์แจ้ง เพราะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหมุด คือไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
นี่เป็นการพูดโดยผิดข้อกฎหมายชัดเจน (เป็นตำรวจใหญ่ได้ไงฟะ?)
ขอบคุณ คุณทนาย อานนท์ นำภา ที่ช่วยชี้ช่องว่า ตามข้อกฎหมายทำได้ ผมได้ไปค้นคว้าเพิ่มเติมและรวบรวมมาให้ดู
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2(8) นิยามคำที่ใช้ใน วิอาญา
"คำกล่าวโทษ" หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดีได้กระทำความผิด อย่างหนึ่งขึ้น
นี่แสดงว่าประชาชนที่ "ไม่ใช่ผู้เสียหาย" คือไม่ใช่เจ้าของหมุดโดยตรง สามารถเข้าแจ้งความ หรือแจ้ง "คำกล่าวโทษ" ได้แน่นอน
มาตรา 2(20) นิยามคำว่า "บันทึก" "รวมทั้ง....คำกล่าวโทษ" ด้วย
มาตรา 12 กล่าวถึงเอกสารที่ศาลหรือเจ้าพนักงานทำขึ้น ซึ่งรวมถึง "คำกล่าวโทษ" (ของผู้ไม่ใช่ผู้เสียหาย) ว่าต้องเขียนด้วยหมึกหรือพิมพ์ดีด และห้ามลบ ให้ขีดฆ่า ฯลฯ โดยสรุปคือ ถือว่า "คำกล่าวโทษ" ดังกล่าวมีความสำคัญในลักษณะเดียวกับเอกสารอื่นๆ
มาตรา 122 กล่าวถึงการที่พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณีใดได้บ้าง
ขอให้ดูที่ผมขีดเส้นใต้แดงไว้ ที่ว่า พนักงานสอบสวนจะไม่สอบสวนก็ได้ ถ้า " มีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ"
ซึ่งไม่เข้าข่ายกรณีนี้เลย ทุกคนที่ไปแจ้งความคือทำ "คำกล่าวโทษ" เรื่องหมุด ล้วนทำโดยเปิดเผย ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ พร้อมจะให้ปากคำว่าคือใครที่ไปแจ้งความ และพร้อมลงลายมือชื่อ
มาตรา 127 เช่นเดียวกัน กล่าวถึงข้อยกเว้นว่า พนักงานสอบสวนจะไม่รับเรื่อง ไม่ทำบันทึก "คำกล่าวโทษ" เลยก็ได้ (ที่ว่าใช้มาตรา 123-126 โดยอนุโลม มาตรา 123-126 กล่าวถึงคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายทั่วไป นั่นคือ ในที่นี้ ให้ปฏิบัติต่อ "คำกล่าวโทษ" ของผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เหมือนกัน)
ซึ่งในข้อยกเว้นว่าเจ้าพนักงานไม่ต้องรับเรื่องก็ได้ ไม่สามารถใช้กับกรณีหมุดนี้เช่นกัน
"(1) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร
(2) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
คำกล่าวโทษซึ่งบันทึกแล้ว แต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานผู้รับคำกล่าวโทษจะไม่จัดการแก่คำกล่าวโทษนั้นก็ได้"
ซึ่งไม่ใช่ทั้งนั้นในกรณีหมุดนี้ ทุกคนที่ไปแจ้งความ ทำ "คำกล่าวโทษ" บอกชัดว่าเป็นใครและยินดีลงลายมือชื่อทั้งนั้น
ทั้งมาตรา 122 และ 127 แปลว่าพนักงานสอบสวนต้องรับเรื่อง ทำ "คำกล่าวโทษ" เรื่องหมุดและต้องสอบสวนต่อ ไม่ทำไม่ได้
..................
สรุปแล้ว ถ้าขนาดตำรวจระดับศรีวราห์มีท่าทีแบบนี้ มัน "ส่งกลิ่น" มากๆ ว่างานนี้ ตำรวจไม่กล้าแม้แต่จะรับเรื่อง เพราะเป็นกรณีที่ "เสี่ยสั่งทำ"

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar