torsdag 20 april 2017

ใบตองแห้ง...หลักหมุดมีสี :


หลักหมุดมีสี
ใบตองแห้ง
ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ยังไงประเทศไทยก็เป็นประชาธิปไตยมา 80 ปี แหม ชื่นชมคำตอบของลุงตู่กันหน่อยสิ แม้ จาตุรนต์ ฉายแสง จะแย้งว่าท่านผู้นำไม่ยักพูดถ้อยคำอมตะ “ยึดกฎหมาย” แทนที่จะดำเนินคดีหมุดคณะราษฎรหาย กลับคุมตัวผู้ร้องเรียนทวงถาม
คุมตัวศรีสุวรรณ จรรยา มิหนำซ้ำ ยังจะดำเนินคดีวัฒนา เมืองสุข ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฐานชี้ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ ขัดคำวินิจฉัยของกรมศิลปากร ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร
เรื่องน่าประหลาดใจในกรณีนี้คือ แทนที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐจะรีบทำให้เรื่องยุติโดยดี กลับพูดให้บานปลาย เช่น รอง ผบ.ตร.ออกมาตีความว่า หลักหมุดไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่โบราณวัตถุ ไม่ใช่ของแผ่นดิน ว่าตามกบิลเมืองไม่สามารถดำเนินคดีได้ ใครไม่ใช่เจ้าของจะโดนข้อหาแจ้งความเท็จ ในขณะที่รองนายกฯ บอกว่าหลักหมุดไม่เกี่ยวกับปากท้อง ผู้ว่าฯ กทม.ก็ตอบให้หัวร่องอหายว่า เกิดไม่ทัน 2475 ถ้าเกิดทันจะตอบได้
เออ ถ้าพูดอย่างนายกฯ ว่าสั่งให้ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจสืบสวนสอบสวนแล้ว หรืออย่างวิษณุ เครืองาม ว่าประชาชนสามารถแจ้งความได้ในฐานะพลเมืองดี ก็ยังพอฟัง เพราะสิ่งที่คนอยากให้รัฐบาลแสดงออก ก็แค่รับผิดชอบสืบหาของหาย หาได้หาไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำไมต้องปัดป้องให้วุ่นวาย
ก็ตามดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะยุติเรื่องนี้ได้อย่างไร ยุติอย่างเป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย หรือยุติอย่างคาใจ ซึ่งไม่เป็นผลดี เพราะคนแสดงความเห็นเรื่องนี้มีกว้างขวาง ตั้งแต่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย นักวิชาการ นักการเมือง ไปจนคนรุ่นลายครามอย่างปู่พิชัย รัตตกุล ในขณะที่คนมีความเห็นอย่างเงียบๆ ยิ่งกว้างกว่า
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในโลกออนไลน์มีคนกลุ่มหนึ่งปลุกความเกลียดชังคณะราษฎร เป็นกบฏ “ล้มเจ้า” ขุดเรื่องราวด้านลบต่างๆ จริงบ้าง เท็จซะเยอะ มาประณามคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์ 2475 แบบพูดข้างเดียว ไม่พูดถึงสาเหตุและปัญหาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและประวัติศาสตร์ในช่วงต่อมา
คำถามขำๆ คือเกิดทัน 2475 หรือ ความเคียดแค้นเกลียดชังนี่ถ่ายทอดกันมาตลอด 85 ปีหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหลายคนบรรพบุรุษเพิ่งอพยพมาอยู่เมืองไทยหลังยุคคณะราษฎรด้วยซ้ำ
ว่าตามความเป็นจริง กระแสเกลียดชังคณะราษฎรเพิ่มขึ้นสูงหลังรัฐประหาร 2549 หลังเหตุการณ์ปี 2553 ท่ามกลางวิกฤตแตกแยกทางการเมืองนี่เอง
พูดง่ายๆ คือพวกเสื้อแดง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย กลับไปรื้อฟื้นเชิดชูหลักประชาธิปไตย เสมอภาค เสรีภาพ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ของคณะราษฎร ทำให้ขั้วตรงข้ามก็ตามไปเกลียดชัง รื้อฟื้นเรื่องต่างๆ มาให้ร้ายคณะราษฎร
ทั้งที่หลายสิบปีก่อนหน้านั้นไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงเลยนะครับ หลังปรีดีถูกยึดอำนาจโดยรัฐประหาร 2490 ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคคณะราษฎร หลังจอมพล ป.ถูกสฤษดิ์ทำรัฐประหาร 2500 แม้มีการรื้อสัญลักษณ์ เกลื่อนกลบลบผลงานคณะราษฎรในหลายด้าน แต่หลัง 14 ตุลา 2516 หลัง 6 ตุลา 2519 เมื่อกลับมาเป็นประชาธิปไตย (ครึ่งใบ) ในทศวรรษ 2520 ก็มีการล้างมลทินพร้อมกับรื้อฟื้นคุณูปการ อ.ปรีดีให้กลับมาเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิชาการ ภาคประชาสังคม โดยขณะเดียวกันก็ศึกษาผลงานรวมทั้งจุดอ่อนข้อบกพร่องของคณะราษฎรตามความเป็นจริง
โดยที่ไม่กระทบอะไรเลยต่อความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางวิชาการหลายคนยังยกย่องคณะราษฎรด้วยซ้ำว่าได้ริเริ่มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เทิดทูนพระมหากษัตริย์พ้นไปจากการใช้อำนาจอันอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์
รัฐบาลไทยเสนอพระนามสมเด็จย่า ให้ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในวันพระราชสมภพ 100 พรรษา ปี 2543 แล้วเสนอชื่อปรีดีฉลอง 100 ปีชาตกาลอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่เห็นมีใครต่อต้าน มีการตั้งชื่อถนน สร้างอนุสรณ์สถาน สมเถา สุจริตกุล ยังแต่งเพลงซิมโฟนี ปรีดีคีตานุสรณ์ สุรพล นิติไกรพจน์ ก็เป็นคนจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์
นั่นละครับ ไม่เชื่อกลับไปถามนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้เขียนหนังสือปฏิวัติสยาม 2475 ว่าเรื่องยุ่งๆ นี้กลับมาได้อย่างไร ทั้งที่นครินทร์เคยบอกว่า “ประวัติศาสตร์จบไปแล้ว” (นครินทร์เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว)
ตลกร้ายคือ พวกที่ยกย่องปรีดี ยกย่องคณะราษฎร เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีแค่พวกเสื้อแดง หรือนักวิชาการแดง แต่พวกเสื้อเหลืองนกหวีด ที่ไปจากภาคประชาสังคม จากคนรุ่นตุลา ก็ยกย่องปรีดีเยอะไป เพียงแต่วันนี้ถ้าเอาไมค์จ่อปาก ก็กระอักกระอ่วน ไม่รู้จะแสดงท่าทีอย่างไร รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหลาย
เห็นใจพวกนี้เถอะนะครับ อย่าให้ต้องย้อนแย้งมากกว่านี้เลย
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar