fredag 21 april 2017

รัฐบุรุษที่กษัตริย์ทรราชกลัวมากที่สุด

Dr. ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕


Dr. ปรีดี พนมยงค์  บิดาแห่งการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕
เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี  นายปรีดีพนมยงค์  สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายและเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา  ต่อมาได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมาย  ณ ประเทศฝรั่งเศส ระหว่าง ๒๔๖๓- ๒๔๗๐
นายปรีดี พนมยงค์  ถือกำเนิดและเติบโตมาในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง  ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๔๓ อันเป็นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕  ในครอบครัวชาวนาจังหวัดพระนครศรีอยุทธยา  ชีวิตในวัยเด็กทำให้นายปรีดีได้สัมผัสกับสภาพปัญหาของชาวนา  ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในยุคนั้น
“ ผมได้กล่าวแล้วถึงสภาพสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นแก่ตนเองว่าราษฎรได้มีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ  เพราะไม่มีสิทธิเสรีภาพกับความเสมอภาคในทางการเมือง  อีกทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของหลายประเทศทุนนิยม  ผมได้มีความคิดก่อนที่ได้มาศึกษาในฝรั่งเศสแล้วว่าจะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม ว่าวิธีใดที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น “
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  นายปรีดีเป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน  ผู้มีบทบาทมากที่สุดในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่  เนื่องจากเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จดุษฎีบัณฑิตกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส  นายปรีดีจึงให้ความสำคัญกับงานด้านนิติบัญญัติ  กับการปกครองเป็นพิเศษ  นอกจากจะเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรแล้ว  ท่านยังเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามประเทศ  ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย  และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.. ๒๔๗๖  ซึ่งมีเนื้อหาจัดรูปแบบการปกครองออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
นายปรีดีมิได้มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น  หากแสดงเจตนารมณ์และแสดงบทบาทอย่างแจ่มชัดที่จะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ  สังคมและการศึกษา  เหนือสิ่งอื่นใด  ท่านปรารถนาที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาประชาชาติเล็กๆอย่างสยาม  ให้ยืนหยัดอยู่อย่างมีเอกราชและศักดิ์ศรีในทุกด้าน  ท่ามกลางนานาอารยประเทศในประชาคมโลกยุคใหม่  เจตนารมณ์ประชาธิปไตยของท่านปรากฎอย่างชัดเจนในหลัก ๖ ประการของ  “ ประกาศคณะราษฎร “  ที่ท่านเป็นผู้ร่างขึ้นเพื่อใช้เป็นคำแถลงการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
หลัก ๖ ประการของ  “ ประกาศคณะธราษฎร “
        จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย  เช่นเอกราชในทางการเมือง  ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
        จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ  ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
        จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ  โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ  จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ  ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
        จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
        จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ  มีความเป็นอิสระ
        จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์  เป็นนักการเมืองคนแรกที่ริเริ่มแนวความคิดที่จะให้ราษฎรทุกคนได้รับการประกันสังคมจากรัฐบาล โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ ๓  แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ  แต่น่าเสียดายที่ร่างของแนวความคิดดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  กว่าประเทศไทยจะยอมรับให้มีนโยบายประกันสังคมให้แก่ประชาชนก็เป็นเวลา ๖๐ ปีหลังจากนั้น
นายปรีดีเป็นตัวตั้งตัวตีให้รัฐบาลยกฐานะกรมร่างกฎหมายเป็น  “ คณะกรมการกฤษฎีกา “  ทำหน้าที่ร่างกฎหมายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแผ่นดิน  ทั้งยังพยายามพลักดันให้  “ คณะกรรมการกฤษฎีกา “ ทำหน้าที่ “ ศาลปกครอง “ อีกด้วย  แนวความคิดในเรื่อง “ ศาลปกครอง “  ของท่านแสดงให้เห็นว่า  ท่านต้องการให้ราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายปกครองได้  และมีสิทธิในทางการเมืองเท่าเทียมกับข้าราชการอย่างแท้จริง  นายปรีดีสนับสนุนแนวคิดศาลปกครองมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.. ๒๔๗๕
“ ระหว่างที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชากฎหมายนั้น  ข้าพเจ้าเห็นว่า  มหาอำนาจต่างชาติถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม  ไม่ว่าจะเป็นทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติ  คนในสังคมมหาอำนาจเหล่านี้ไม่ต้องขึ้นศาลไทย  เพราะคดีที่มีคู่ความเป็นคนสังกัดต่างชาติเหล่านั้น จะต้องให้ศาลกงสุล  หรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน  ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาติมหาอำนาจกับประเทศสยาม  ในศาลคดีระหว่างประเทศ  คำวินิจฉัยของผูพิพากษาชาติยุโรปจะมีน้ำหนักมากกว่าคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม  ข้าพเจ้าไม่พอใจการใช้อำนาจอธิปไตยเช่นนี้เลย   ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของชาติอันสมบูรณ์  โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม “
เมื่อภารกิจด้านการปกครองกระทรวงมหาดไทยเข้ารูปเข้ารอยแล้ว  นายปรีดีเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  เพื่อเป็นผู้นำในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่รัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำไว้กับประเทศต่างๆ  ในนามของสนธิสัญญาทางไมตรี  พานิชย์ และการเดินเรือ  เป็นจำนวน ๑๒ ประเทศ  ซึ่งเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของคณะราษฎรในหลัก ๖ ประการที่จะต้อง  “ รักษาความเป็นเอกราชของประเทศไว้ให้มั่นคง “  หลักการใหญ่ๆ  ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์  สามารถแก้ไขในสนธิสัญญาไม่เสมอภาคได้สำเร็จ  คือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต   แต่เดิมคนในบังคับของต่างประเทศไม่ต้องขึ้นศาลสยาม  ทำให้สยามสูญเสียเอกราชในทางศาล  นอกจากนี้ต่างประเทศยังบังคับให้รัฐบาลสยามเรียกเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงไม่เกินร้อยละ ๓ เท่านั้น  ทำให้เก็บรายได้ไม่เต็มที่  นับเป็นการเสียเอกราชทางเศรษฐกิจที่จำต้องแก้ไข
นายปรีดีได้ใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศคู่สัญญา  และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ให้ประเทศเหล่านั้นพิจารณา  นายปรีดีได้ใช้ความอุตสาหะพยายามเจรจา  โดยอาศัยหลัก  “ ดุลยภาคแห่งอำนาจ “  จนประเทศนั้นๆ ยอมทำสนธิสัญญาใหม่ที่สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ทั้งในทางการเมือง  ในทางศาล  และในทางเศรษฐกิจ
เมื่อนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการครัง  (.. ๒๔๘๑- ๒๔๘๔  )  ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมคือ
       ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ  อันเป็นเงินส่วยที่ราษฎรไพร่ต้องเสียให้แก่เจ้าศักดินา
       ยกเลิกอากรค่านาซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินาสูงสุดที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรเป็นของประมุขของสังคม
       จัดระบบเก็บภาษีอากรที่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตยโดยสถาปนา  “ ประมวลรัชฎากร “  เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย  ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรง  ผูใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก  และถ้าผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพ  ก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ
       การร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ  เพื่อให้มีการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีอากรของราษฎรอย่างรัดกุม  และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ
ในช่วงเวลาที่นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  แม้จะเป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วก็ตาม  แต่เสถียรภาพทางการเงินและการคลังของสยามนับว่ามั่นคงที่สุดยุคหนึ่ง  ด้วยการเล็งการณ์ ไกลของท่าน  ได้ทำให้เสถียรภาพของเงินบาทมั่นคง  กล่าวคือเมื่อก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒  นาย ปรีดีคาดคะเนว่าเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองเงินตราอาจจะไม่มีเสถียรภาพจึง ได้นำเงินปอนด์จำนวนหนึ่งไปซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ ๑ ล้านออนซ์  ในราคาออนซ์ละ  ๓๕ เหรียญสหรัฐฯ  และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการครัง  ซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนปัจจุบัน
ทันที่ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย  เมื่อวันที่ ๘  ธันวาคม ๒๔๘๔  ผู้นำเผด็จการทหารของไทยเวลานั้นเข้าร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ  นายปรีดีได้อาศัยฐานะของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำการประสานความสามัคคีของคนไทยทุกฝ่ายทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ  นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงค์  ทหาร ตำรวจ  ข้าราชการพลเรือน  นิสิตนักศึกษา  ปัญญาชน กรรมกร ชาวไร่ชาวนา  ทำงานกู้ชาติบ้านเมืองในนามของขบวนการเสรีไทย  โดยมีท่านเป็นหัวหน้า  มีชื่อจัดตั้งว่า รูธ  ภารกิจของขบวนการเสรีไทยคือร่วมมือกับคนไทยและสัมพันธมิตรต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน  และปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อฝ่ายสัมพันธมิตร  เพื่อหวังผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าไทยเป็นรัฐเอกราชไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงคราม
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  นายปรีดีได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร  ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร  ทำให้ประเทศไทยเป็นเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้  และท่านมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ ๕๕ ของสหประชาชาติ  ซึ่งเป็นองค์การของผู้ชนะสงครามโลกในเวลานั้น  ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ ธันวา ๒๔๘๘ มีพระบรมราชองการ  ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์  ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส  และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษและนพรัตน์ราชวราภรณ์  อันเป็นชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับ
  มิถุนายน ๒๔๘๙  รัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคต  นายปรีดี พนมยงค์   นายกรัฐมนตรีได้ขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อันเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าภูมิพล อดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันติวงค์ต่อไป  และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์  เสร็จการประชุมรัฐสภา  นายปรีดีได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยเหตุผลว่า  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว
( นายสุภา  ศิริมานนท์  นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ได้กล่าวใน  สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์  ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖)
“ ผมเห็นว่าชีวิตของท่านมีสองอย่าง  คือถ้าไม่มีท่าน  ไทยจะไม่มีประชาธิปไตยและไม่มีเอกราช  เพราะท่านตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นมา  เพื่อไม่ให้ไทยชื่อว่าเป็นประเทศแพ้สงคราม  ส่วนกรณีสวรรคตนั้น  ยังเป็นเรื่องที่ต้องสะสางกันต่อไป  เป็นการใส่ร้ายป้ายสี  ใครที่บังอาจกล่าวเรื่องนี้ต้องแพ้คดีในศาลหมด “
        พฤศจิกายน ๒๔๙๐  พลโท ผิน ชุณหะวัณ  และทหารบางกลุ่มได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน  ซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี  และใช้กำลังทหารประกอบด้วยรถถังและอาวุธทันสมัยระดมยิงเข้าไปในทำเนียบท่าช้างเพื่อจับตัวนายปรีดีซึ่งเป็นเพียงรัฐบุรุษอาวุโส  เป็นผลให้นายปรีดีต้องหนีตายไปสิงคโปร์  และแม้ว่านายปรีดีได้รวบรวมกลุ่มผู้รักชาติในนามของขบวนการประชาธิปไตย  ๒๖  กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เข้าต่อสู้กับคณะรัฐประหาร แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้  ทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน  เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นการปิดฉากการปกครองระบอบประชาธิปไตย  และส่งผลให้อำนาจมืดครอบงำการเมืองไทยไปอีกยาวนาน.
( ที่มาจาก สารคดี ฉบับพิเศษ คือวิญญาณเสรี  ปรีดี พนมยงค์  พฤษภาคม ๒๕๔๓ )

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar