หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ผู้นำรัฐบาลประกาศจุดยืนใหม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเขาเคยเรียกขานว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" หลังผ่านประชามติเมื่อ 4 ปีก่อน ท่ามกลางแรงกดดันนอกสภาจากการชุมนุมเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาทั่วประเทศ หรือที่รู้จักในชื่อ "แฟลชม็อบ" ภาค 2
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องหลักของเครือข่ายนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ผลจากการชุมนุมใหญ่ภายใต้การนำของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" และ "สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ค. ทำให้เกิดการชุมนุมย่อย ๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาลอย่างน้อย 76 จุด ใน 47 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคอีสาน 15 จังหวัด, ภาคเหนือ 9 จังหวัด, ภาคกลาง 9 จังหวัด, ภาคใต้ 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคตะวันตก 2 จังหวัด
ในจำนวนนี้มีอยู่ 16 จังหวัดที่ประชาชนเคยโหวต "คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ" ในชั้นประชามติเมื่อ 7 ส.ค. 2559 รวมถึง จ.เชียงใหม่ ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าใจปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและรู้ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว ตามการประเมินของ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือเจมส์ สมาชิกกลุ่ม "สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย" ผู้จัดแฟลชม็อบใน จ.เชียงใหม่ 2 ครั้ง
- แฟลชม็อบ : การต่อสู้ระหว่างกลุ่ม "ฟันน้ำนม" กับ "ฟันปลอม"
- "แฟลชม็อบ" นักศึกษาชงรื้อรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย-เลิกนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร
- เยาวชนชายแดนใต้รวมกลุ่มไล่รัฐบาลประยุทธ์ ระบุ "ถ้ามีประชาธิปไตย ก็มีสันติภาพ"
- นศ. อาชีวะ 2 กลุ่มประกาศปกป้องสถาบัน กับ พิทักษ์ประชาชน
- วิ่งกันนะแฮมทาโร่: เมื่อการ์ตูน-เพลงกลายเป็นตัวเชื่อมโยงเยาวชนกับการเมือง
"ที่มาของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบธรรม คือต้นตอที่ทำให้เนื้อหามีปัญหา โดยออกแบบมาเพื่อสนองตอบความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง" ประสิทธิ์กล่าวกับบีบีซีไทยถึง "ความไม่เป็นประชาธิปไตย" ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ตามทัศนะของเขา
การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อปลาย ก.ค.
"รับไปก่อน จะได้เลือกตั้ง" ทำฝ่ายโหวตโนแพ้ประชามติ
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน ประสิทธิ์ นักศึกษาชั้นปี 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดหน้าทำกิจกรรมการเมืองเป็นครั้งแรกด้วยการออกรณรงค์ให้ประชาชนโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ประสบความสำเร็จในพื้นที่เมื่อชาวเชียงใหม่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียง 54.08% ต่อ 45.92% ทว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงบ้านเกิดของเขาใน จ.กำแพงเพชร เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับพวก เป็นผู้จัดทำ
"รธน.ฉบับประชาชน" VS "รธน.ฉบับเยาวชนไม่ได้เลือก"
รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านประชามติด้วยคะแนนเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง (คิดเป็น 61.35% ต่อ 38.65%) แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกขานว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" แต่บรรดาแกนนำเยาวชนที่ปรากฏตัวในแฟลชม็อบต่างระบุตรงกันว่ากติกาฉบับนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เลือก
"หากบอกว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ผมก็อยากย้อนกลับไปว่าก่อนลงประชามติ คุณได้ให้พื้นที่ฝ่ายเห็นต่างพูดแค่ไหน กระบวนการโปร่งใสแค่ไหน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ต้องใช้กับคนทุกคน แต่แค่สิทธิในการส่งเสียงว่าไม่เห็นด้วยตรงจุดนั้นจุดนี้ยังทำไม่ได้ ดังนั้นวาทกรรมที่นายกฯ พยายามอ้างเครดิตของประชามติ ผมว่าใช้ไม่ได้นะ" สหรัฐ จันทสุวรรณ์ หรือโอม นักศึกษาชั้นปี 3 คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สมาชิกกลุ่ม "ประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย" กล่าวกับบีบีซีไทย
เขาย้ำว่า ปรากฏการณ์ "คนเห็นด้วยพูดได้ แต่ปิดปากคนเห็นต่าง" คือเครื่องสะท้อนความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
นักศึกษา ม.ศิลปากร ไม่มีสิทธิโหวตรับ/ไม่รับร่างฯ ในชั้นประชามติ เนื่องจากขณะนั้นมีอายุเพียง 17 ปี ทว่าเขาเคยเห็นจุลสารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งไปยังบ้านพักใน จ.สงขลา ซึ่งสรุปข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้ แต่ไม่ปรากฏข้อวิจารณ์ใด ๆ
"ผมเคยอ่านสรุปร่างรัฐธรรมนูญ จำได้ว่ามาตรา 5 เขียนว่าถ้าเกิดวิกฤตการเมือง แล้วไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดทางออกไว้ ให้มีกรรมการมาจากศาลมาประชุมร่วมกันแล้วเสนอทางออก ตอนนั้นคิดว่าข้อนี้ดีจังเลย เชียร์พ่อ ให้รับรองไป แต่พอผ่านประชามติ มีการแก้ไขบางส่วนก่อนประกาศใช้ บางข้อก็ไม่ได้เป็นไปตามที่บอกไว้ตอนแรก เหมือนเป็นคนละเรื่องเลย และเมื่อนำมาใช้จัดการเลือกตั้งปี 2562 ก็ยิ่งเห็นปัญหาชัดเจนเลย ถึงขนาดมีนักการเมืองบางพรรคออกมาพูดว่า 'รัฐธรรมนญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา' สรุปแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้คนทุกกลุ่มในสังคม หรือคนบางกลุ่มเท่านั้น" นักศึกษาวัย 21 ปีตั้งคำถาม
คำขวัญ "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" และ "ประชาชนเป็นใหญ่" ยังจำขึ้นใจแกนนำนักศึกษารายนี้ ทว่าสิ่งที่เขาพบจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองหลังจากนั้น และไม่ปรากฏในเอกสารของทางการฉบับใดคือ "การสืบทอดอำนาจผ่าน ส.ว."
"ส.ว. ไม่มีอำนาจชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะไม่ได้มาจากประชาชน มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แต่กลับมีบทบาทกำหนดชะตาชีวิตประเทศได้ขนาดนี้ ตั้งแต่เลือกนายกฯ หรือจะแก้รัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้ถ้าไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. นี่เป็นจุดที่ทำให้เราเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ได้ยากมาก" เขาบอก
หวังได้ "รธน. ที่ดีกว่าปี 2540"
หากแฮชแท็ก "โหวตไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" เกิดจากการรณรงค์ไม่รับร่างฯ ของนักศึกษาเอ็นดีเอ็มในปี 2559 แฮชแท็ก "ให้มันจบที่รุ่นเรา" คือข้อความที่แกนนำแฟลชม็อบในหลายสถาบันการศึกษาหยิบมาสื่อสารต่อสังคมในปี 2563 และถือเป็นภาคต่อทางภารกิจของเครือข่ายนักศึกษา
สำหรับสหรัฐคาดหวังจะเห็น "รัฐธรรมนูญที่ดีกว่า" เกิดขึ้นในชั่วอายุของเขา เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง เข้าถึงสิทธิ ตระหนักถึงหน้าที่ มีเสรีภาพในการแสดงออก และได้รับสวัสดิการอย่างครอบคลุมทั่วถึง
"ผมอยากให้รัฐธรรมนูญแบบนี้เกิดขึ้นในรุ่นเรา ไม่ใช่บอกว่าต้องย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั่นเป็นอดีตไปแล้ว เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ที่เราต้องทำคือทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าปี 2540" แกนนำนักศึกษา ม.ศิลปากรระบุ
อย่างไรก็ตามทั้งแกนนำนักศึกษา มช. และ ม.ศิลปากร เห็นตรงกันว่า โอกาสเกิด "ขบวนการธงเขียว" อันหมายถึงการชุมนุมขนาดใหญ่ของประชาชนเพื่อกดดันให้สภาผู้แทนราษฎรจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบในคราวเกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการชุมนุมบนท้องถนนขนาดใหญ่ไม่ใช่ธรรมชาติของเครือข่ายนักศึกษาในปัจจุบัน
"การชุมนุมของนักศึกษาอาจไม่ได้เป็นภาพขนาดใหญ่ แต่พลังอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าดูแฟลชม็อบตามสถาบันต่าง ๆ จะเห็นว่าทุกคนเห็นพ้องในข้อเรียกร้อง 3 ข้อ.. หากภาคประชาชนผลักดันกันสุดฤทธิ์สุดเดช นักการเมืองในสภาก็คงนิ่งเฉยไม่ได้ ส.ส. ก็ต้องรับฟังความเห็นประชาชน" สหรัฐกล่าว
ขณะที่ประสิทธิ์เห็นว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบเลือก 3 อย่าง ทั้ง ส.ส. พรรค และนายกฯ ทำให้ผู้แทนราษฎรไม่ค่อยเกรงใจประชาชน
"เราจะใช้วิธีขู่ ส.ส. ว่าถ้าคุณไม่แก้รัฐธรรมนูญ สมัยหน้าเราไม่เลือกคุณ ก็ทำได้ไม่ง่าย เพราะระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดทางให้มี ส.ส. ประเภทเก็บคะแนนคนแพ้เข้าสภาได้ นี่ก็เป็นโจทย์ที่นักศึกษาและภาคประชาชนต้องไปขบคิดกันว่าทำอย่างไรเสียงของพวกเราถึงจะมีพลังกดดันคนในสภาได้" ประสิทธิ์บอก
พล.อ. ประยุทธ์พลิกเกม หนุนแก้ รธน.
ความเคลื่อนไหวนอกสภาของแฟลชม็อบ สร้างแรงกดดันต่อคนในสภาอย่างไม่อาจปฏิเสธ เป็นผลให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อ 31 ก.ค. ว่า กมธ. เห็นร่วมกันว่าต้องแก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำได้ง่ายขึ้น หากเป็นไปได้อาจเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ขณะที่ 6 พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยไม่รอผลการศึกษาของ กมธ. ชุดนายพีระพันธุ์ ประกาศยื่นญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบฉับพลันภายใน 15 ส.ค. โดยมีบางพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขอเป็นแนวร่วมต่างขั้วการเมือง
ร้อนถึง พล.อ. ประยุทธ์ ต้องชิงตัดบท-โชว์เอกภาพของ 20 พรรคร่วมรัฐบาล โดยกล่าวเมื่อ 4 ส.ค. ว่า "จุดยืนของผมคือให้การสนับสนุนอยู่แล้วในเรื่องการทำงาน" และพร้อมส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลประกบกับร่างฉบับฝ่ายค้าน โดยคาดว่าจะเริ่มพิจารณาได้ในสมัยประชุมหน้า
"ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม เป็นเรื่องการทำงาน ทุกคนต้องรู้ว่ากลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ยืนยันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ควรแก้ไข ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลมาหารือร่วมกันเพื่อเสนอร่างของรัฐบาลควบคู่ไป... รัฐบาลต้องทำตามขั้นตอนแสวงหาความร่วมมือ ไม่ใช่ต่างคนต่างยกเข้ามาชนกัน แล้วจะตั้ง กมธ. มาทำไม" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 จัดทำขึ้นในบรรยากาศหลังรัฐประหารปี 2557 โดยหัวหน้า คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง กรธ. 21 คนขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กรอบที่ คสช. กำหนด ก่อนนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 2559 ต่อมามีการแก้ไขเนื้อหารวม 4 ครั้ง ทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับ "คำถามพ่วง" ที่ผ่านประชามติเช่นกัน และให้สอดคล้องกับ "ระยะเปลี่ยนผ่าน" ของบ้านเมือง ก่อนประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย. 2560
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar