tisdag 18 augusti 2020

ปฏิบัติการ “ทวงคืนประชาธิปไตยหน้าเสาธง” เมื่อนิยาม “ชาติ” เปลี่ยนไป ..

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชี้ปรากฏการณ์ร้องเพลงชาติแล้วชู 3 นิ้ว สะท้อนว่าความรักชาติของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่ “ราชาชาตินิยม” อีกต่อไป แต่เป็น “ชาตินิยมระดับประชาชน”

“ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ” : เมื่อนิยาม “ชาติ” ของเยาวชน กับ ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง ไม่ตรงกัน

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
นักเรียนหญิงชู 3 นิ้ว ระหว่างเข้าแถวเคารพธงชาติที่โรงเรียน
คำบรรยายภาพ,

นักเรียนหญิงชู 3 นิ้ว ระหว่างเข้าแถวเคารพธงชาติที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เช้าวันนี้ (18 ส.ค.)

ปรากฏการณ์ "ชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติ" และ "ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ" ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง ทำให้เยาวชนที่ร่วมแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ "นับร้อยคน" ถูกคุกคามโดยผู้มีอำนาจในสถานศึกษา ตามการเปิดเผยของเครือข่ายนักกิจกรรมรุ่นมัธยม

"เราโดนหักคะแนนความประพฤติแล้ว"

"เราถูกเรียกไปทำทัณฑ์บน"

"เพื่อนเราถูกครูเรียกไปข่มขู่"

"ช่วยตามเรื่องนี้หน่อยได้ไหม เพื่อนเราโดนอย่างนี้... จะทำอะไรได้บ้าง"

คือข้อความบางส่วนที่นักเรียนชั้นมัธยมส่งไปแจ้งข่าวและติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านเครือข่ายนักเรียนที่ใช้ชื่อว่า "ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย" หรือ ภนท. ซึ่งมีผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กราว 1.8 หมื่นคน และกลุ่ม "นักเรียนเลว" มีผู้ติดตามเพจกว่า 6.6 พันคน และติดตามทางทวิตเตอร์กว่า 4 หมื่นคน

แกนนำทั้ง 2 กลุ่มบอกกับบีบีซีไทยว่า ได้รับข้อความองค์กรละเกือบ 100 ข้อความในช่วง 2 วันนี้ และเตรียมประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ติดตามข้อเท็จจริงต่อไป

ปรากฏการณ์ "ชู 3 นิ้ว" เกิดขึ้นแล้วใน 14 จังหวัด

ตลอด 2 วันที่ผ่านมา นักเรียนมัธยมในอย่างน้อย 14 จังหวัด ประกอบด้วย กทม., สงขลา, ยะลา, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, มุกดาหาร, ราชบุรี, นครสวรรค์, ฉะเชิงเทรา, เพชรบุรี, นนทบุรี, เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกัน "ชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติ" เวลา 08.00 น. พร้อมให้ความหมายของนิ้วทั้ง 3 ไว้คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

ภาคีนักเรียนฯ รณรงค์ให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ชู 3 นิ้วด้วยมือข้างซ้ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ "ต่อต้านเผด็จการ" เพราะการชู 3 นิ้วด้วยมือข้างขวาเป็นการแสดงสัญลักษณ์เพื่อปฏิญาณตน เช่น ลูกเสือ

คำพูดนายกฯ เรื่องการเคลื่อนไหวของเยาวชน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นประเด็นอีกต่อไป เพราะเห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเด็ก

"ที่ผมรับฟังเด็ก ๆ มาอีกทีนะครับ บางทีในสถาบันการศึกษาของตัวเองไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม มีการบุลลี่กัน ถ้าใครไม่ร่วมก็จะถูกกีดกัน ถูกไม่ให้เข้าชมรม เข้ากลุ่มอะไรแบบนี้ นี่เป็นอันตราย ผมเองก็ยกตัวอย่างเฉย ๆ เท่าที่ฟังจากนักศึกษามา บางคนก็ไม่อยากมีส่วนร่วมเท่าไหร่ แต่ถูกบุลลี่ ถูกกีดกันต่าง ๆ หลาย ๆ อย่าง ก็ขอให้ทุกคนหารืออย่างเป็นเหตุเป็นผลแล้วกัน" นายกฯ กล่าว

สพฐ. ให้ รร. เปิดพื้นที่ให้ นร. แสดงออกการเมือง

ขณะที่กลุ่มนักเรียนเลวได้นัดหมายจัด 3 กิจกรรมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันที่ 19 ส.ค. ประกอบด้วย "ผูกโบว์ขาว-ชูสามนิ้วร้องเพลงชาติ-เป่านกหวีดขับไล่ รมว.ศธ." โดยนักเรียนชายที่ใช้ชื่อว่า "บอส" สมาชิกกลุ่มวัย 18 ปีให้เหตุผลว่าต้องการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิของเพื่อน ๆ ในสถานศึกษาต่าง ๆ และเห็นว่า ศธ. จำเป็นต้องอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

วานนี้ (17 ส.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ออกมาเตือนให้นักเรียนแสดงออกอย่างมีขอบเขต โดยกล่าวว่า "การยืนตรงเคารพธงชาติเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและเป็นสิ่งที่สวยงาม ก็อยากจะรักษามันไว้ ไม่อยากให้การแสดงออกบางอย่างทำให้เกิดความแตกแยก

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ขอให้ "เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและปลอดภัยของนักเรียนโดยไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม" โดยอ้างถึงมติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่ขอความอนุเคราะห์มาเรื่องการจัดการชุมนุมภายในสถานศึกษา

เด็กนักเรียนชูสามนิ้ว
คำบรรยายภาพ,

เหตุการณ์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.

สำหรับกลุ่มนักเรียนเลวเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่อต้านอำนาจนิยมในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นทรงผม เมื่อ "คนร่วมรุ่น" ในหลายโรงเรียนได้รับผลกระทบจากการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจนิยมในระดับชาติ นี่จึงเป็นอีกครั้งที่นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ต้อง "ตอบโต้"

"ในโรงเรียน เป็นการทำให้เราชินกับสภาพการณ์นี้ก่อนออกไปไปสู่สังคมใหญ่ การที่นักเรียนยอมในเรื่องต่าง ๆ ตามที่เขาสั่ง โดยไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย ทำ ๆ ไป นี่คือกระบวนการฝึกให้เด็กเคยชิน เมื่อโตขึ้นไปแล้วจะได้ปกครองง่าย ๆ" บอสกล่าว

"ความเก็บกด" ผลักเด็กมัธยมต้านเผด็จการหน้าเสาธง

แม้ "ข้อจำกัด" และ "ต้นทุน" ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนชั้นมัธยมนั้นสูงกว่านักศึกษา แต่บอสเห็นว่า "ความเก็บกด" คือแรงผลักให้นักเรียนมัธยม "ทะลุความกลัว" จนเกิดปรากฏการณ์ "ชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติ" รวมถึงการเข้าร่วม "แฟลชม็อบ" บนท้องถนน

"นักเรียนมัธยมที่เข้าร่วมการชุมนุมมากประมาณหนึ่งเลย เขาอาจเห็นว่ามีคนลุกขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะลุกขึ้นมาบ้าง" บอสระบุ

สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว และภาคีนักเรียนฯ ยืนยันตรงกันว่า พวกเขาไม่ใช่ต้นคิดรณรงค์ให้เด็กไทยลุกขึ้นมาท้าทายผู้มีอำนาจในระหว่างทำกิจกรรมหน้าเสาธง เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีแกนนำแน่ชัด มีการเชิญชวนกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วง 1-2 สัปดาห์ แต่ก็เป็นลักษณะบอกปากต่อปากมากกว่า

"มันมีการกระจายข่าวระหว่างนักเรียนต่อนักเรียนไปเรื่อย ๆ เราจึงเอาไปคุยในภาคีนักเรียนฯ โดยเห็นว่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เอาเผด็จการ และทำไปแล้วก็ไม่มีความผิดใด ๆ ก็เลยเชิญชวนให้เพื่อน ๆ ให้ทำที่โรงเรียนของตัวเอง" แกนนำภาคีนักเรียนฯ กล่าว

คุกคามประชาชน คือต้นเหตุ "ทวงคืนประชาธิปไตยหน้าเสาธง"

สองนักกิจกรรมการเมืองวัยขาสั้นยังไม่อาจหาคำตอบที่แน่ชัดว่าทำไมนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ถึงพร้อมใจกันปฏิบัติภารกิจ "ทวงคืนประชาธิปไตยหน้าเสาธง" ทว่าพวกเขาพยายามอธิบายตามความเข้าใจของตัวเอง

โบว์สีขาวและชู 3 นิ้ว
คำบรรยายภาพ,

โบว์สีขาวและชู 3 นิ้ว สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของนักเรียน

"ทุกวันนี้มีหลายคนพูดว่าชาติเราโดนทำร้ายมาแล้ว ประชาชนถูกลิดรอดสิทธิเสรีภาพมามากแล้ว ผมมองว่าการชู 3 นิ้วขณะร้องเพลงชาติ มันไม่ใช่การไม่เคารพชาตินะ แต่เหมือนเป็นการทวงคืนประชาธิปไตย เพราะชาติในความหมายของผมคือประชาชน คือความเป็นพี่น้องกัน ถ้าประชาชนไม่ออกมาแสดงความรักชาติ รักประชาชนด้วยกัน ก็จะไม่มีชาติ" สมาชิกภาคีนักเรียนฯ ระบุ

"ตอนเคารพธงชาติเป็นเวลาที่ทุกคนจะหยุดให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การแสดงออกในช่วงนั้นจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจับจ้องและมีเวลาที่แน่นอน.. ผมรู้สึกว่าวัยรุ่นอาจไม่ได้รู้เรื่องการเมืองมากขนาดนั้น แต่พอมีการคุกคามประชาชน พอแกนนำนักศึกษาออกมาแสดงความเห็นแล้วถูกคุกคาม ก็ทำให้เห็นชัดเจนเลยว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ" สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยืนตรงเคารพธงชาติถูกมองว่าเป็นประหนึ่ง "พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์" ในรั้วโรงเรียน แต่ในมุมมองของบอส วัย 18 ปี กลับไม่ได้ให้ความสำคัญขนาดนั้น

"เราศรัทธาในชาติน้อยลง ไม่ได้ยึดว่าประเทศไทยต้องเป็นไทยเท่านั้น การคลั่งชาติมากเกินไปก็ทำให้ยึดติดกับอะไรเดิม ๆ ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เรากับต่างประเทศเข้าถึงกันง่าย สำหรับเราชาติก็คือประเทศ ไม่ได้มีความหมายอื่น" สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวเผยแนวคิด

ชาญวิทย์ชี้ความรักชาติของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่แบบ "ราชาชาตินิยม" แล้ว

ด้าน ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยอมรับกับบีบีซีไทยว่า "อัศจรรย์ใจ" ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ และเชื่อว่าสังคมโลกทั้งในแถบตะวันตกและเอเชียก็คงประหลาดใจด้วย

ปรากฏการณ์ "ชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติ" สะท้อนว่านิยามความเป็น "ชาติไทย" ของเยาวชน กับ "ผู้ใหญ่-ผู้ปกครอง" นั้นแตกต่างกันมาก

"เขาร้องเพลงชาติแล้วชู 3 นิ้ว มันเป็นการแสดงออกว่าความรักชาติของเขาไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า 'Royal Nationalism' (ราชาชาตินิยม) แต่ปัจจุบันเป็น 'Popular Nationalism' คือชาตินิยมของระดับประชาชนทั่วไป มองเรื่องของชาติ ความรักชาติเป็นแนวระนาบ ไม่ใช่แนวดิ่ง ไม่ใช่จากบนลงล่าง ก็สะท้อนผ่าน 3 นิ้วที่เขาชูคือเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ศ.พิเศษ ชาญวิทย์กล่าว

ตำรวจมายืนสังเกตการณ์ที่โรงเรียน
คำบรรยายภาพ,

ตำรวจมายืนสังเกตการณ์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังเกิดกระแสการแสดงออกเพื่อการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในโรงเรียนหลายแห่ง

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์วัยเกษียณ ผู้มีผลงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" และ "ลัทธิชาตินิยม" ชี้ว่า จุดสูงสุดของกระแสราชาชาตินิยมเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถึงพฤษภา 2535 และดำเนินมาเรื่อยก่อนเกิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายรัชกาลที่แล้ว เมื่อความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงปรากฏชัดเจน และนำไปสู่การ "รัฐประหารแฝด 2 ครั้ง" เมื่อปี 2549 กับ 2557 เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งราชาชาตินิยม แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยได้ ตรงกันข้ามความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะใน กทม. แต่เคลื่อนออกสู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ศ.พิเศษ ชาญวิทย์เห็นว่า องค์ประกอบของชาตินิยมในทั้ง 2 แบบยังเหมือนกันคือมี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทว่านักศึกษาได้ขยายความจาก "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เป็น "ประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ซึ่งแปลว่าต้องมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

เตือนนักการเมือง-ชนชั้นนำอย่าทำมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง

นักวิชาการวัย 79 ปีมองว่า คนเจเนอเรชั่น ซี (Gen-Z อายุราว 20 ปีลงมา) กำลังสะท้อนว่า "ชาติก็เป็นของพวกเขา" และบอกว่าอนาคตของชาติมันมากกว่าการที่เราจะไปให้ความไว้วางใจหรือเชื่อถือคนเจเนอเรชั่น เบบี้บูเมอร์ (Baby Boomer - อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในปัจจุบัน มันปล่อยไว้ในมือคนเหล่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะอีกไม่กี่ปี พวกเขาก็อาจจากไปได้

สิ่งที่เขาชี้ชวนให้สังคมพิจารณาคือ เมื่อกระแสความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว พรรคการเมืองจะรับลูกอย่างไรกับการที่ "เยาวชนเตะลูกเข้าไปยังรัฐสภา" หรือชนชั้นนำระดับสูงจะยังทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำหลบ ๆ เลี่ยง ๆ เหมือนกับสำนวนที่ว่า "ช้างอยู่ในห้องเรา แต่เรามองไม่เห็น" อีกต่อไปก็คงไม่ได้แล้ว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
คำบรรยายภาพ,

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คาดหวังว่าการประนีประนอมจะเกิดขึ้นแบบ 50-50 แม้ไม่แน่ใจ แต่ก็ต้องมีความหวัง

เมื่อนิยาม "ชาติ" ของคน 2 รุ่นไม่ตรงกัน วาทกรรม "ชังชาติ-รักชาติ-คลั่งชาติ" จึงเกิดขึ้น น่าสนใจว่าทั้ง 2 รุ่นจะหาจุดร่วมกันได้อย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.พิเศษ ชาญวิทย์คาดหวังว่าฝ่ายที่มีอำนาจตลอดเวลาและชนะตลอดเวลาจะตระหนักว่าต้องประนีประนอม เพราะถ้ายังเดินเกมรุนแรง ใช้การปราบปราม ก็มีแต่พัง

"ถ้าเขาฉลาดพอ และตระหนักว่าเขามีสิทธิ์แพ้ มันไม่มีความจำเป็นต้องออกมาแบบ 6 ตุลา 2519 อาจออกมาแบบ 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภา 2535 คือฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยชนะก็ได้ และถ้าชนะแล้ว ก็คงไม่เหมือนแบบเดิมแล้ว" เขาบอก

ขณะที่สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวรู้สึกว่า ผู้ใหญ่กับเด็กอาจไม่มีทางเข้าใจกันได้ เพราะบ้านเราเคารพอาวุโส การที่เด็กจะพูดคุยกับผู้ใหญ่ได้ ด้วยศักดิ์ก็ต่างกันแล้ว ต่อให้เด็กพูดอย่างไร ก็จะถูกใช้ความเป็นผู้ใหญ่กดไว้เสมอ ก็คงต้องอยู่ฝั่งใครฝั่งมันไหม

"เรารู้สึกว่าเขาไม่ต้องเข้าใจเราก็ได้ แต่แค่เคารพความเห็นของเราก็พอ เขาไม่มีทางเข้าใจว่าทำไมเราถึงเชื่อแบบนั้น... แต่หวังว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเสียก่อน" นักเรียนชั้น ม. ปลายกล่าวทิ้งท้าย

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar