torsdag 20 augusti 2020

เพลงประเทศกูมี : ผกก. เอ็มวี ชี้ ผลงานสะท้อนความจริง..

เช้าวันนี้ (20 ส.ค.) นายเดชาธร บำรุงเมือง หรือ "ฮอคกี้" หนึ่งในสมาชิกกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ถูกจับกุมจากการขึ้นแสดงในที่ชุมนุม "เยาวชนปลดแอก" เมื่อ 18 ก.ค.
.
แร็ปเปอร์กลุ่มนี้สร้างปรากฏการณ์นำศิลปะมาเคลื่อนไหวทางสังคมหลังจากเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง "ประเทศกูมี" ทางยูทูปเมื่อ 22 ต.ค. 2561 ล่าสุดมีการเข้าชมแล้ว 87 ล้านครั้ง
.
บีบีซีไทยนำเรื่องราวของมิวสิควิดีโอ "ประเทศกูมี" มานำเสนออีกครั้ง

Kommentarer
  • เตมูจิน จันทร์งาม ประยุทธ์พูดออกสื่อว่าไม่คุกคามจับกุมใคร แต่ทำไมลูกสมุนขยันจับจัง หรือว่ากลัวประยุทธ์จะหายนะช้า ดูสถานะการณ์แล้วยิ่งจับกุมคนยิ่งต่อต้าน ยิ่งออกมาชุมนุมเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ
  • Yukimura Noriya รัฐบาล ตำรวจจริงจังกับเรื่องพวกนี้ แต่ถ้าเรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับคนที่ใหญ่โตกว่า รวยกว่าเขาจะทำเหมือนคนไม่กำลังและหมดแรงจะยืน จะลุก จะเดินไป

ล่าสุดเมื่อเวลา 11.40 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีแกนนำและผู้ชุมนุมถูกจับกุมเพิ่มอีก 3 คน ขณะนี้อยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์
รวมผู้ที่ถูกจับกุมตั้งแต่ค่ำวานนี้ทั้งหมด 8 คน

ประเทศกูมี
คำบรรยายภาพ,

ฉากจากวิดีโอประกอบเพลง "ประเทศกูมี"

สำหรับหลาย ๆ สังคมทั่วโลก เพลงและการเมืองเป็นของคู่กัน บ่อยครั้งที่เพลง ๆ หนึ่งสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในประเทศหรือแม้กระทั่งในโลกได้

ลองนึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและต่อต้านสงครามเวียดนามของศิลปินหญิงอเมริกันอย่างโจน เบซ หรือเพลง "Imagine" ของจอห์น เลนนอน ที่วาดฝันโลกที่สันติสุข ก้าวกระโดดมาถึงยุคที่ศิลปินแร็พอย่างคานเย เวสต์ ออกมาสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ หรือล่าสุดที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ ทวีตสนับสนุนฝ่ายเดโมแครตในการเลือกตั้งสหรัฐกลางสมัย

เพลงที่มีเนื้อหาการเมืองอย่าง "ประเทศกูมี" ของศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ซึ่งถูกตำรวจขู่ว่าจะดำเนินคดีเพราะเข้าข่ายผิดคำสั่ง คสช. อาจทำให้นึกไปถึงงาน MTV Video Music Awards ที่มีการมอบรางวัลในประเภทที่ชื่อ "Video With a Message" หรือรางวัลวิดีโอประกอบเพลงที่มี "สารสำคัญ" สื่อไปยังผู้ชม

A still from the Childish Gambino video
คำบรรยายภาพ,

ฉากจากวิดีโอประกอบเพลง "This Is America"

เพลง "Born This Way" ของเลดี้ กาก้า ซึ่งชนะรางวัลนี้เมื่อปี 2011 ปลุกเร้าให้คนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือคนเชื้อชาติอะไร ในเมื่อ "ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้" มาจนถึงเพลง "This Is America" ของ Childish Gambino ในปีล่าสุด ที่กลายเป็นกระแสโด่งดังเนื่องจากสะท้อนภาพปัญหาในสังคมอเมริกันปัจจุบันได้อย่างเฉียบแหลมผ่านเนื้อเพลงและการออกแบบท่าเต้น

"ประเทศที่ตุลาการมีบ้านพักบนอุทยาน ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร" แร็พเปอร์สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ร้องขึ้นในเพลง "ประเทศกูมี" ซึ่งมียอดวิวขณะนี่้มากกว่า 63 ล้านวิวแล้ว แต่ผลของการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมกลับไม่มี "รางวัล" ให้อย่างในต่างประเทศ เว็บไซต์ข่าวมติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคลิปวิดีโอเพลง "ประเทศกูมี" ว่าได้ดูคลิปแล้วและคิดว่าสุ่มเสี่ยง 50 : 50 และขอให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Rap Against Dictatorship ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไทว่า การที่เพลงเป็นกระแสเปิดความคิดให้คนว่าพวกเขาสามารถพูดเรื่องนี้ได้

"คนที่ฟังเพลงประเทศกูมีแล้วคอมเมนต์หรือแชร์ เราก็คิดว่ามันคือการตื่นตัวแล้ว หรือถ้าเขาจะเบื่อ ไม่สนใจ อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาอาจจะประสบอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่อยากยุ่งแล้วก็ได้ แต่บางคนที่อยู่กับความกลัวหรือไม่กล้าแล้วออกมาด่าเราที่ทำเพลงนี้ออกมา เราก็ถือว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่ก็คือการเคลื่อนไหวทางความคิดแล้วในยุคนี้"

ประชาไทรายงานว่า ขณะนี้ ปอท. ได้ออกมาระบุแล้วว่าเพลงอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. คอมฯ นำเข้าข้อมูลเท็จ เตรียมแจ้งผู้เสียหายและเชิญศิลปินมาให้ข้อมูล

ด้านนายธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับวิดีโอประกอบเพลง "ประเทศกูมี"บอกกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางตำรวจแต่อย่างใด และก็ยังไม่เข้าใจด้วยว่าข้อหาที่จะมาแจ้งความคืออะไร

"เดิมทีผมไม่คิดว่าเขาจะสนใจ เป็นเสียงของพลเมืองกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง ที่คิดว่ามีความจริงที่จะพูด อย่างที่ผมทำในมิวสิค(จำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา) มันก็เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ ก็ไม่คิดว่าเขาจะซีเรียสอะไรขนาดนั้น คิดว่าเขามีอะไรที่ต้องทำเยอะ"

นายธีระวัตน์บอกว่า ที่เพลงเป็นกระแสอาจจะเพราะมีคนที่รู้สึกเหมือนกันเยอะ นี่ทำให้ทางการตกใจว่าทำไมคนแชร์และไลค์เยอะ "ก็ปราบตามวิธีอำนาจนิยม อาจจะขู่ให้กลัว"

"เราควรจะซื่อสัตย์ต่อความคิดตัวเอง ไม่ได้ชั่วร้าย ไปฆาตกรรม ประเทศเรามีอะไรไม่ดี เราก็พูดออกไป ...เรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริง จะอยู่กับความหลอกลวงหรือเรื่องจริง หลอกลวงอยู่ได้แค่ชั่ววูบ สุดท้ายต้องอยู่กับความจริง"

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม
คำบรรยายภาพ,

ธีระวัฒน์ รุจินธรรม

เพลงสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ในสังคม ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้ายฝ่ายใด ในไทยก็เช่นกันที่เพลงเพื่อชีวิตที่เคยมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ยุค 14 และ 6 ตุลา มาจนถึงยุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ภายใต้รัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ที่คาราบาวปล่อยเพลง "ประชาธิปไตย" ที่ร้องว่า "อย่างผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง ใครอยากเป็นบ้าง ยกมือขึ้น"

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงวิทยานิพนธ์เรื่อง "วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (2525-2550)" ของ ณัฏฐณิชา นันตา เราจะเห็นได้ว่าหลังยุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ในช่วงปี 2535-2540 เนื้อหาของเพลงยังคงสะท้อนปัญหาทางสังคมและการเมือง แต่ขยับขอบเขตไปทางด้านการด้อยโอกาส และการใช้ทรัพยากรในหลายภูมิภาค ก่อนที่ความลำบากทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี 2538 จะเริ่มทําให้ศิลปินเพื่อชีวิตปรับตัวเข้าสู่ตลาดธุรกิจเพลงมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด และตอบความต้องการทางการตลาดที่ต้องการเนื้อหาเกี่ยวกับ ปากท้อง และความรัก จนทำให้เกิดเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต

งานวิจัยดังกล่าวศึกษาเนื้อหาจากเพลงเพื่อชีวิตที่ได้รับความนิยมในกระแสหลัก 316 เพลง พบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักมากที่สุดที่ร้อยละ 52 ตามมาด้วย ด้านสังคม ร้อยละ 27 ด้านการเมือง ร้อยละ 13 และด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 8

ภาพถ่ายจากหนังสือ สานแสงทอง
คำบรรยายภาพ,

วงคาราบาว ถ่ายจากหนังสือ สานแสงทอง ปี 2526

เมื่อปีที่แล้ว เรื่องของการเมืองกับดนตรีถูกนำกลับมาอยู่ด้วยกันในสื่อกระแสหลักเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมิวสิควิดีโอของเพลง "เผด็จเกิร์ล" จากอัลบัมล่าสุดของวง แทททูคัลเลอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ชวนให้คิดถึงการเมืองและกิจกรรมของรัฐบาล ได้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในเพลงเป็นแค่เพียงการยกแนวคิดของความเป็นเผด็จการมาล้อกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักชาย-หญิง เท่านั้นอย่างที่ รัฐ พิฆาตไพรี มือกีต้าร์ของวงแทททูคัลเลอร์และผู้แต่งเพลงได้เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยไว้ว่า

"ตลกมากกว่าครับ มันก็สนุกดี มันสุ่มเสี่ยงต่ออะไรมั้ยหรือการเมืองไหม ผมไม่มองอย่างนั้น เป็นการล้อเล่นธรรมดา มี '44 Rules' พ้องกับ 'มาตรา 44' หรืออยากได้เรือดำน้ำ หยิบเรื่องของ คสช. มาล้อ ก็เป็นการหยิกแกมหยอกธรรมดา เราไม่ได้จะพูดถึงการเมืองโดยตรง ด้วยภาพที่มันเป็นเชิงแฟชั่น แล้วพอดูก็จะเห็นว่ามัน ไม่มีเจตนาจะเข้มข้มทางการเมืองอยู่แล้ว"

B-Floor
คำบรรยายภาพ,

อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ในการแสดงเดี่ยว "บางละเมิด"

แม้ว่านี่จะอาจจะเป็นครั้งแรกในยุค คสช. ที่ทางการออกมาตั้งคำถามต่อการแสดงออกทางเมืองผ่านเพลง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แขนงศิลปะอื่น ๆ โดนทางการเข้ามาแทรกแซงควบคุม ย้อนไปเมื่อปี 2015 การแสดงเดี่ยว "บางละเมิด" ของอรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นักแสดงหญิงสมาชิกกลุ่มละครบีฟลอร์ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ยืนยันขอเข้ามาชมและบันทึกการแสดง

ภาพยนตร์ "ดาวคะนอง" เมื่อปี 2016 ของผู้กำกับอโนชา สุวิชากรพงศ์ ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ครั้งที่ 26 และได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีออสการ์ แต่กลับถูก "ตำรวจ" สั่งห้ามฉายโดยให้เหตุผลว่า "สุ่มเสี่ยง"

เมื่อกลางปีที่แล้ว ตำรวจ ทหารบุกแกลเลอรี 2 แห่งย่านช่องนนทรี และสั่งปลดงานศิลปะทางการเมือง 7 ชิ้น โดยอ้างว่า ฝ่ายตรงข้ามจะมา "ทำลายผลงานศิลปะหรือแกลเลอรีของคุณ"

หมายเหตุ - บทความชิ้นนี้ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม ในส่วนยอดวิวล่าสุดของ มิวสิควิดีโอ ประเทศกูมี จากเดิม 2 ล้านวิว เป็น 63 ล้านวิว

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar