lördag 15 augusti 2020

มุมมองสื่อต่างชาติกับการประท้วงของเยาวชนไทย...

"แต่แทนที่เด็กรุ่นใหม่ของไทยจะเชื่อฟัง พวกเขากลับออกไปประท้วงบนท้องถนนเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย" ผู้เขียนนิวยอร์กไทมส์ระบุในบทความ

สื่อต่างชาติวิเคราะห์ เนื้อหาการประท้วงของเยาวชนในไทย "ได้ข้ามจุดที่หวนกลับไปไม่ได้แล้ว”

นายอานนท์ นำภา

สื่อต่างชาติมากอิทธิพลหลายแห่งเห็นพ้องว่าการประท้วงของเยาวชนไทยกำลังพยายามทลายข้อห้ามทางสังคมเดิม ที่ว่าด้วยการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

บลูมเบิร์ก สำนักข่าวของสหรัฐฯที่นักลงทุนทั่วโลกให้การยอมรับ รายงานเมื่อ 11 ส.ค. ว่า ผู้ประท้วงในไทยที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา กำลังเพิ่มความกดดันไปที่รัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ โดยการเรียกร้องให้ประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น และลดพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลง ซึ่งนับเป็นข้อเรียกร้องที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงในขณะที่ผู้นำประเทศ พยายามดิ้นรนในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญ

"รัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร" เควิน ฮิววิสัน ผู้เชื่ยวชาญการเมืองไทย จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนากล่าวกับ บลูมเบิร์ก และเสริมว่า "นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกที่เชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์เข้ากับระบอบปกครองในขณะนี้โดยตรง เป็นประวัติการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน"

ประท้วง

รอยเตอร์:เยาวชน"กำลังทดสอบข้อห้ามเรื่องราชวงศ์"

รอยเตอร์ พาดหัวบทวิเคราะห์ของวันที่ 10 ส.ค เรื่องการประท้วงในไทยไว้ว่า การประท้วงครั้งใหม่ของเยาวชนในไทย "กำลังทดสอบข้อห้ามเรื่องราชวงศ์" โดยเนื้อหาของรายงานชิ้นนี้อ้างถึงการหารือกันผ่านวิดีโอคอลของกลุ่มนักศึกษา 12 คน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครว่า พวกเขาควรฝ่าฝืนข้อห้ามทางสังคมโดยการตั้งคำถาม อย่างเปิดเผยถึงพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาถูกจำคุกได้

รอยเตอร์ระบุว่า หลายเดือนก่อนหน้านี้ ผู้ประท้วงทั้งบนท้องถนนและในโลกออนไลน์อ้างถึงพระมหากษัตริย์แบบอ้อม ๆ ระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่มีใครกล้าประกาศในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องการให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอย่างไร

ผู้ร่วมประชุม 2 คน เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า นักศึกษาได้หารือกันเกี่ยวกับการจัดประท้วงโดยนำแนวคิดจากนิยายแฮร์รี พอตเตอร์ มาใช้ และพิจารณาว่า จะไม่เผชิญหน้าอย่างเปิดเผย ด้วยการเอ่ยถึงเพียงแค่ว่า "เขา...คนที่คุณก็รู้ว่าใคร" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือของ เจ.เค.โรว์ลิง

ประท้วง

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า นักศึกษาได้หารือกันเกี่ยวกับการออกแถลงการณ์ที่มีถ้อยคำชัดเจนกว่าและเสี่ยงกว่า และได้เผยแพร่แถลงการณ์นั้นในการชุมนุมเมื่อ 3 ส.ค.

โดยในคืนวันนั้น นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน วัย 35 ปี ได้ขึ้นเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเรียกร้องให้จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่ค่อยเกิดขึ้น

รอยเตอร์ระบุว่า แม้ว่าไทยเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองมานานนับสิบปี แต่ผู้ประท้วงบนท้องถนนก็ไม่เคยเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงมาก่อน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ"

รอยเตอร์ระบุว่า ภายใต้รัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบรมราชชนกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเสด็จสวรรคตในปี 2559 หลังจากทรงครองราชย์มานาน 70 ปี แทบไม่มีการท้าทายทุกรูปแบบต่อสถาบันกษัตริย์

ตามรายงานของรอยเตอร์ ไม่มีผู้ประท้วงคนไหนรวมทั้งนายอานนท์ถูกตั้งข้อหาว่า ทำผิดกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ของไทย ซึ่งมีโทษจำคุกฐานวิจารณ์สถาบันกษัตริย์สูงสุด 15 ปี แต่นายอานนท์ ถูกตำรวจควบคุมตัวในวันที่ 7 ส.ค. และถูกตั้งข้อหาหลายข้อจากการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. รวมถึงการสร้าง "ความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน" ซึ่งมีโทษสูงสุด 7 ปี

การชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. ที่ธรรมศาสตร์

ผู้ประท้วงในไทยได้ก้าวข้าม "แม่น้ำรูบิคอน"

ในรายงานของ เดอะการ์เดียน ฉบับวันที่ 12 ส.ค. หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายของอังกฤษฉบับนี้ พาดหัวข่าวว่า ผู้ประท้วงในไทยได้ก้าวข้าม "แม่น้ำรูบิคอน" (ที่หมายถึงการก้าวไปในจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้แล้ว) โดยยอมเสี่ยงทุกอย่างเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยความไม่พอใจนี้สะสมมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดครองอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2557

เดอะการ์เดียนรายงานด้วยว่า ผู้ประท้วงในไทยได้ละเมิดข้อห้ามที่มีมายาวนาน เสี่ยงที่จะถูกจำคุกเป็นระยะเวลานานด้วยการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ หลังจากที่มีนักศึกษาออกมานำการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ทั่วประเทศ โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานักเรียนและนักศึกษาได้พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุบสภาและปฏิรูปประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ผู้ประท้วงบางส่วนได้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์

ประท้วง

เดอะการ์เดียนระบุว่า การประท้วงซึ่งจัดขึ้นโดยหลากหลายกลุ่มมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ยุบสภา ยุติการคุกคามประชาชนและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาในการชุมนุมที่มีผู้คนเข้าร่วมหลายพันคน ได้เรียกร้องไปมากกว่านั้น ได้แก่ข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ทั้งรอยเตอร์และเดอะการ์เดียนรายงานโดยอ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งไม่ให้ ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดำเนินคดีประชาชน

แมตทิว วีลเลอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสของกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วง "ได้ข้ามจุดที่หวนกลับไปไม่ได้แล้ว" และรัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะว่าหากมีการปราบปรามผู้ประท้วงก็อาจจะนำไปสู่ "ผลสะท้อนกลับทำให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์มากขึ้น และกัดเซาะความชอบธรรมของรัฐบาล"

เขาเสริมว่า นักเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจต้องเสี่ยงกับการถูกกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยใช้กำลังเข้าทำร้าย

ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ "เกินเลยไป"

เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ อัลจาซีรา ของกาตาร์ พาดหัวว่า นายกฯ ไทยบอกว่า ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มผู้ประท้วง "เกินเลยไป"

ตามรายงานข่าวของอัลจาซีรา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นักศึกษาประท้วงเกินขอบเขต หลังจากที่นักศึกษาบางส่วนได้มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถูกมองว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมอนุรักษนิยม

ประท้วง

อัลจาซีราได้รายงานข่าวการชุมนมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีการชูป้ายต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก และป้ายข้อความว่า "ถ้าเราไหม้ คุณก็มอดไหม้ไปกับเราด้วย" นอกจากนี้หลายคนยังชูภาพนายสยาม ธีรวุฒิ นักเคลื่อนไหวชาวไทยที่หายตัวไปในปี 2562 ด้วย

อัลจาซีรายังได้รายงานเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 10 ประการของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการประกาศในการชุมนุมในคืนวันจันทร์ที่ 10 ส.ค. ด้วย โดยระบุว่า พวกเขาเป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มที่ 3 ที่ละเมิดข้อห้ามในการตั้งคำถามต่ออำนาจและบทบาทของสถาบันกษัตริย์

ทั้งรอยเตอร์และอัลจาซีราต่างรายงานว่า สำนักพระราชวังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประท้วงของนักศึกษาและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

ผู้หญิงใส่แว่นยืนอยู่หน้าไมโครโฟน มีกระดาษปลิวว่อน

"ผู้เสพความตาย"

นิวยอร์กไทมส์ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ วันที่ 11 ส.ค. เรื่อง "นักศึกษาในไทยออกมาต่อกรกับทหาร (และ 'ผู้เสพความตาย')" ซึ่งกล่าวถึงการประท้วงของคนรุ่นใหม่หลายพันคน ที่นำนิยายเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ และวัฒนธรรมร่วมสมัยมาใช้ในการประท้วง โดยเรียกร้องให้กองทัพและพันธมิตรออกไปจากการเมืองไทย

ฮันนาห์ บีช ผู้เขียน เปรียบเทียบพันธมิตรของกองทัพเป็น "ผู้เสพความตาย" หรือ Death Eaters ในนิยายแฮรี พอตเตอร์ ที่หมายถึงเหล่าผู้วิเศษที่อยู่ฝ่ายลอร์ด โวลเดอร์มอร์ เจ้าแห่งศาสตร์มืด ที่มักสร้างความเดือดร้อนให้ผู้วิเศษทั่วไป และเมื่อก่อความวุ่นวายแล้ว จะแสดงตราสัญลักษณ์มารขึ้นบนท้องฟ้า

เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้ระบุว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เพิ่มความพยายามในการปลูกฟังความว่านอนสอนง่ายให้แก่คนรุ่นใหม่ ทุกเช้า นักเรียนจะต้องร้องเพลงที่มีเนื้อหาของค่านิยมไทย 12 ประการ ซึ่งรวมถึง ความมีระเบียบวินัยและความกตัญญูกตเวที ในวันเด็ก เด็ก ๆ จะถูกพาดูรถถังและเครื่องบินรบในค่ายทหาร

"แต่แทนที่เด็กรุ่นใหม่ของไทยจะเชื่อฟัง พวกเขากลับออกไปประท้วงบนท้องถนนเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย" ผู้เขียนระบุในบทความ

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar